ศรีสะเกษ - กมธ.กิจการชายแดนไทยสภาผู้แทนฯ ลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ติดตามรับฟังปัญหาข้อมูล กรณีข้อพิพาทกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ผู้ว่าฯศรีสะเกษ ยันพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นของไทยชัดเจน “อลงกรณ์” ชี้ “ฮุนเซน” ลากการเมืองภายในประเทศ มาเชื่อมโยงกับการเมืองระหว่างประเทศมากเกินไป คาดหลังเลือกตั้งการเจรจาระหว่าง 2 ประเทศ ได้ผลสถานการณ์ดีขึ้นแน่ เหตุฝ่ายกัมพูชาไม่ต้องไปหาเสียงกับ ปชช.สร้างกระแสนิยมในประเทศ
วันนี้ (24 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ คณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมด้วย นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ, พล.ท.มะ โพธิ์งาม รองประธานคณะกรรมาธิการ, นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ และคณะเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่ง ได้เดินทางมาติดตามรับฟังปัญหา พร้อมซักถามข้อมูลเกี่ยวกับกรณีข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร โดยมี นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ พร้อมให้ข้อมูลตอบข้อซักถามต่างๆ
นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้บรรยายสรุปสถานการณ์ และท่าทีของจังหวัดศรีสะกษ เกี่ยวกับข้อพิพาทกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ว่า จากปัญหาความไม่ชัดเจนของเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ทำให้พื้นที่กลายเป็นกรณีพิพาท จนกระทั่ง ปี 2502 เจ้านโรดม สีหนุ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลก และศาลโลกตัดสิน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ชี้ขาดให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา
ดังนั้น เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 มติคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดเขตปราสาทพระวิหาร ที่ต้องคืนให้แก่กัมพูชา คือ แนวเขตแดนตรงบันไดนาค ห่างออกมาทางทิศเหนือ 20 เมตร ลากเส้นตั้งฉากกับแนวกึ่งกลางของบันไดนาคไป ทางทิศตะวันตกไปทางใต้จนถึงขอบหน้าผา ใกล้กับเป้ยตาดี ส่วนทางด้านทิศเหนือห่างจากบันไดนาค 20 เมตร ให้ลากเส้นโค้งไปจรดกับหน้าผาตรงช่องบันไดหัก แต่ทางฝ่ายกัมพูชาไม่ยอมรับ เนื่องจากฝ่ายกัมพูชาได้ยึดถือแผนที่ที่ใช้แนบท้ายฟ้องต่อศาลโลก แต่ฝ่ายไทยยึดถือตามมติคณะรัฐมนตรี
นายเสนีย์ กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาของพื้นที่เขาพระวิหาร ปัจจุบันมี 2 ประการ คือ ปัญหาเส้นเขตแดน และปัญหาสภาพแวดล้อม สืบเนื่องจากถือแผนที่คนละฉบับ โดยฝ่ายไทยใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 50,000 ตารางกิโลเมตร ของกรมแผนที่ทหาร และแก้ไขตามมติคณะรัฐมนตรี หลังจากที่ศาลโลกตัดสิน ให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา และมาตราส่วนดังกล่าว ถือเป็นไปตามหลักสากลทั่วโลกยอมรับ
แต่ทางด้านฝ่ายกัมพูชา ใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ตารางกิโลเมตร จึงทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนขึ้น จำนวน 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจากปัญหาเรื่องแผนที่เส้นเขตแดนดังกล่าว ทำให้ชาวกัมพูชาได้รุกล้ำเข้ามาสร้างชุมชนและร้านค้า ขึ้นประมาณ 130 ร้าน ที่บริเวณทางขึ้นปราสาทพระวิหาร พร้อมทั้งมีการสร้างวัดบริ เวณทางตะวันตก ของโคปุระชั้นที่ 1 ทางขึ้นปราสาทพระวิหาร รวมทั้งสร้างเส้นทางจากบ้านโกมุย ขึ้นมาถึงปราสาทพระวิหาร ซึ่งที่ผ่านมา ฝ่ายไทยได้มีการประท้วงและแจ้งให้ทางกัมพูชา ทราบถึงปัญหามาอย่างต่อเนื่อง แต่ทางฝ่ายกัมพูชาไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น และได้มีการประท้วงจากฝ่ายไทย โดยการปิดประตูทางขึ้นเขาพระวิหารมาแล้วหลายครั้ง
สำหรับปัญหาเขตแดน คงเป็นปัญหาอีกต่อไป จนกว่าจะมีการดำเนินการปักปันเขตแดน อย่างเป็นทางการของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ในปัจจุบัน ฝ่ายไทย เรายังคงยึดถือ MOU หรือ บันทึกความเข้าในระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ข้อ 5 กำหนดไว้ว่า ทั้งสองฝ่ายจะงดเว้นการดำเนินการใดๆ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลง สภาพสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน
“ดังนั้น ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 พื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนแต่พื้นที่ดังกล่าวเป็นของประเทศไทยอย่างแน่นอน” นายเสนีย์ กล่าว
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนคิดว่า ท่าทีของรัฐบาลกัมพูชานั้น จะเล่นการเมืองในประเทศ มาโยงกับการเมืองระหว่างประเทศมากเกินไป ความจริงกัมพูชาโดยเฉพาะรัฐบาลของ สมเด็จฯ ฮุนเซน ควรจะรู้ดีว่าแนวทางปฏิบัติเวลาที่เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศที่มีพรมแดนติดกัน ควรทำอย่างไร
กฎสหประชาชาตินั้น กำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าให้ดำเนินการในระดับทวิภาคี ก่อนหากว่ารัฐบาลของ 2 ประเทศไม่ยุติ ต้องการหาคนมาช่วยคุยกัน ก็ต้องใช้องค์กรในภูมิภาคนั้น ก็คือ อาเซียน ส่วนเรื่องของสหประชาชาตินั้นเป็นปลายทาง ตนคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กัมพูชาต้องหันหน้าเข้ามาคุยกัน ซึ่งถ้าหลังจากกัมพูชาเลือกตั้งแล้วเสร็จ น่าจะมาคุยกันจะได้ผลดีกว่าเพราะนายก ฮุนเซน จะได้ไม่ต้องไปหาเสียงกับประชาชนเพื่อสร้างกระแสนิยมในประเทศ
นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในนามของคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร ที่เดินทางมาจังหวัดศรีสะเกษในครั้งนี้ เป็นกิจการในเรื่องของเขตแดนของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีพื้นที่ติดกับประสาทพระวิหาร ซึ่งเมื่อรับฟังบรรยายสรุปจากผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษแล้ว ก็ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมค่อนข้างน่าพอใจ ซึ่งส่วนใหญ่ข้อมูลได้บอกว่า ไทยจะต้องแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศ และเสียงของชาวศรีสะเกษส่วนใหญ่ ยังหวงแหนในเรื่องของปราสาทพระวิหาร ถึงแม้ว่าศาลระหว่างประเทศจะตัดสินไปแล้ว
“ทางคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนไทย สภาผู้แทนราษฎร ก็ยังสงวนสิทธิ์ที่จะเรียกร้องคืนภายหลังซึ่งเป็นมติ ครม.เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ส่วนการคลี่คลายสถานการณ์ ที่ดีที่สุดคือ รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศควรจะหันหน้าคุยกัน ซึ่งคาดว่า หลังเลือกตั้งของกัมพูชาแล้วเสร็จสถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้นแน่นอน” นายสัมพันธ์ กล่าว