xs
xsm
sm
md
lg

"อาเซียน" คว้าน้ำเหลว UN ถกไทย-เขมร 28 ก.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนคว้าน้ำเหลวถกปัญหาข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ขณะที่รัฐบาลเขมรนำปัญหาข้อพิพาทพรมแดนกับไทยเข้า"ยูเอ็น" โดยอ้างว่าจะเปิดประชุมฉุกเฉิน 28 ก.ค.นี้ "ผบ.สส."ยันผลการเจรจา GBC ไม่ได้ล้มเหลว ขณะเดียวกันยอมรับว่าเขมรดื้อ ไม่รับข้อเสนอไทยเหตุมั่นใจถือไพ่เหนือกว่า ด้านนักวิชาการแนะรัฐบาลตั้ง คกก. เจรจาปัญหา"เขาพระวิหาร"ในเวทีโลกเสนอชื่อ "สมปอง-อานันท์-วีระชัย" ให้ข้อมูลนานาชาติ พร้อมตั้ง คกก.ฝ่ายวิชาการเป็นทีมสนับข้อมูล ส่วน"ฮุนเซน"ฟ้องอาเซียนให้มองเป็น"โอกาส" ไทยได้บอกข้อมูลชาวโลก "9 ส.ว." กมธ.ต่างประเทศลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

รัฐบาลกัมพูชาได้นำปัญหาพิพาทพรมแดนกับไทยเข้าสู่การพิจารณาขององค์กรการเมืองการทหารของสหประชาชาติ โดยขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) เปิดประชุมพิจารณาเรื่องนี้เป็นการฉุกเฉิน กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาออกคำแถลงเรื่องนี้ในวันอังคาร

"เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันด้วยอาวุธ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาได้ตัดสินใจร้องขอให้มีการประชุมฉุกเฉินคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อหาวิธีการการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ" คำแถลงของกัมพูชาระบุในตอนหนึ่ง

นายเขียว กัญฤทธิ์ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกัมพูชาแถลงข่าวกล่าวในวันเดียวกันว่า UNSC อาจจะเปิดประชุมพิจารณาคำร้องขอกัมพูชาในวันจันทน์หน้า (28 ก.ค.)

เมื่อวันจันทร์นายฮอร์นัมฮอง (Hor Nam Hong) ได้ส่งสาสน์ถึงนายจอร์จ เยียว (George Yeo) รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์เรียกร้องให้อาเซียนพิจารณาสถานการร์ตึงเครียดทางททหารระหว่างกัมพูชากับไทย อีกวงหนึ่งด้วย

ถกไทย-เขมรในอาเซียนล้มเหลว

รัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ได้ประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างอาหารมื้อเที่ยงวันอังคาร ตามการร้องขอของรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทพรมแดนกับไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากที่สุดมในการประชุมอาเซียนในสิงคโปร์ครั้งนี้

แต่การหารือไม่สามารถหาข้อสรุปใดๆ ได้ ขณะที่ทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นจะใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา และจะเปิดประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปขึ้นในอนาคตอันใกล้ นายจอร์จ เยียว รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นประธานการประชุมหารือกล่าว

นายเยีวกล่าวด้วยว่าประเทศไทยต้องการพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ในระดับทวิภาคีกับกัมพูชามากกว่า ก่อนที่จะร้องขอให้อาเซียนแสดงบทบาทใดๆ

เขมรเริ่มปลุกระดมประชาชน

รัฐบาลกัมพูชาเริ่มปลุกเร้าความรักชาติในหมู่ประชาชน โดยได้ออกคำชี้แจงต่อสาธารณชนเกี่ยวกับความขัดแย้งกับประเทศไทย เมื่อวันอังคารนี้ บอกเล่าเกี่ยวกับ "การรุกราน" และ "การครอบครอบดินแดนกัมพูชา" ของทหารไทย กับการข่มขู่ทางทหารจากประเทศไทย

"ในวันที่ 15 ก.ค.51 กองทัพไทยได้รุกล้ำดินแดนกัมพูชาในเขตปราสาทพระวิหาร" กระท่รวงการต่างประเทศกัมพูชาระบุในคำแถลงที่จัดทำเมื่อวันจันทร์ แต่แจกจ่ายในเช้าวันอังคาร

คำแถลงกล่าวหาว่าไทยได้ละเมิดพรมแดนของสองประเทศที่มีการแบ่งตั้งแต่ปี 2451 โดยคณะกรรมการผสมที่ประกอบด้วยตัวแทนประเทศสยามกับอำนาจปกครอง (ฝรั่งเศส) ที่เป็นตัวแทนของกัมพูชาในสมัยนั้น

"การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจาก ไทยได้ยืทนยันใช้แฟนที่ที่จัดทำขึ้นเองฝ่ายเดียว อันเป็นการละพเมิดเขตแดนกัมพูชา" คำแถลงกล่าว

นายฮอร์นัมฮอง รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศจะพบหารือกับเอกอัครราชทูตของ 5 ประเทศสมารชิกถาวร UNSC ในเที่ยงวันอังคาร เพื่อบรรยายสรุปจุดยืนของกัมพูชาอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อวันจันทร์นายฮอร์นัมฮอง ได้ส่งสาสน์ฉบับหนึ่งถึงประธานที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในสิงคโปร์ ระบุว่าทหารไทยพร้อมด้วยอาวุธหนักและรถถังที่เสริมเข้าไปในพรมแดน ทำให้เกิดการข่มขู่คุกคามไม่เพียงต่อกัมพูชาเท่านั้น หากยังคุกคามต่อภูมิภาคอีกด้วย

"เลขาฯ ยูเอ็น" เรียกร้องให้อดกลั้น

ตอนค่ำวันจันทร์นายบันคีมูน เลาธิการสหประชาชาติได้แสดงความห่วงในต่อสถานการณ์ความตึงเครียดที่ระหว่งกัมพูชากับไทย และเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองแสดงความอดทนและอดกลั้น

สหประชาชาติได้ออกสาสน์ฉบับหนึ่งระบุว่า เลขาธิการสหประชาชาติเป็นห่วงสถานการณ์ที่กำลังลุกลามระหว่างสองประเทศในขณะนี้ รวมทั้งการเสริมกำลังทหาร

นายบันได้เรียกร้อง "ให้สองฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้นและหวังว่าปัญหานี้จะแก้ได้อย่างสันติและโดยวิธีทางการทูต" คำแถลงระบุ

เวียดนามเรียกร้องให้ใช้สันติวิธี

เวียดนามได้เรียกร้องให้ไทยกับกัมพูชาใช้ความอดทนและอดกลั้น หาทางแก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติวิธีกรณีดินแดนและปราสาทพระวิหาร นับเป็นการให้ความเห็นต่อกรณีขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาครั้งแรกของเวียดนามซึ่งในเดือน ก.ค.นี้ ได้ขึ้นเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council)

"เวียดนามต้องการเห็นทั้งสองฝ่ายใช้ความอดกลั้น เพื่อหลีกเลี่ยงทำให้สถานการณ์มีความยุ่งยากซับซ้อน เพื่อพยายามหาทางแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างอยู่โดยสันติวิธี ภายใต้จิตใจแห่งมิตรภาพและสมานฉันท์ของกลุ่มอาเซียน เพื่อประโยชน์สุขของสองประเทศ และเพื่อเสถียรภาพและการพัฒนาในกลุ่มอาเซียน" หนังสือพิมพ์เวียดนามมนิวส์อ้างคำกล่าวของนายเลซวุง (Le Dung) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศในฉบับวันอังคาร

เขมรบริจาคส่งช่วยแนวหน้า

กษัตริย์นโรดมสีหมุนี อดีตกษัตริย์นโรดมสีหนุ อดีตพระราชินีโมนิคมุนีนาถ ทรงบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ รวมทั้งอาหารไปช่วยทหารกัมพูชาที่กำลังเผชิญหน้ากับทหารไทยในเขตเขาพระวิหาร ขณะที่หน่วยงานเอกชนเริ่มรณรงค์บริจาคส่งไปช่วยแนวหน้าที่กำลังขาดแคลนได้เงินกว่า 500,000 ดอลลาร์

พระราชวังหลวงกรุงพนมเปญ ได้ส่งมุ้งกันยุง เต็นท์พลาสติก ผ้ายาง รวมทั้งอาหารไปทางรถยนต์ ขบวนออกเดินทางจากรุงพนมเปญ เมื่อวันจันทร์ (21 ก.ค.) ทั้งหมดเป็นสิ่งพระราชทาน ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์แม่โขงไทมส์

ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนี้จะส่งให้แก่ทั้งทหารและราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการเผชิญหน้าทางทหารที่นั่น รวมทั้งพระในวัดแก้วศิขาคีรีสาวรักษ์ สิ่งของที่ส่งไปช่วยเหลือรวมทั้งข้าวสาร ปลาแห้งและปลากระป๋อง ผงชูรส ซอสถั่วเหลือง รวมทั้งเต็นท์พลาสติกที่จำเป็นในหน้าฝน

หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กล่าวว่า แม้จะชำนาญพื้นที่กว่า แต่ทหารกัมพูชาที่นั่นก็อยู่อย่างลำบาก ส่วนใหญ่สวมเครื่องแบบง่ายๆ ใส่รองเท้าแตะ ไม่มีอะไรกันฝน ขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม

กต.ยันแจ้งจุดยืนอาเซียน-UN แล้ว

นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีมีรายงานข่าวว่าสหประชาชาติเตรียมจัดประชุมฉุกเฉินแก้ข้อพิพาทกรณีเขาพระวิหารในวันที่ 28 ก.ค.นี้ ตามคำร้องขอของกัมพูชาว่า กระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้รับรายงานจากนายดอน ปรมัติวินัย เอกอัครราชทูตถาวรประจำสหประชาชาติ ณ กรุงนิวนอร์ก สหรัฐอเมริกา แต่ก็ไม่แปลกใจที่กัมพูชาจะหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นทุกเวที

"ไทยและกัมพูชาควรเจรจาหาข้อยุติระหว่างกันก่อน แต่ถ้าทำไม่สำเร็จก็สามารถใช้การประชุมอาเซียน โดยที่ไทยและกัมพูชาเองต่างก็เป็นสมาชิกอาเซียนก็ควรใช้เวทีภูมิภาคช่วยไกล่เกลี่ย ไม่ควรใช้เวทีพหุภาคี แต่หากจะเชิญไทยไปชี้แจงในเวทีใด ก็พร้อมจะชี้แจงเพื่อรักษาสิทธิและประโยชน์ของประเทศไว้"

นายธฤต กล่าวถึงกรณีที่กัมพูชาเตรียมฟ้องศาลโลกให้วินิจฉัยปัญหาพื้นที่ทับซ้อนว่า ต้องดูข้อกฎหมายก่อน ซึ่งไทยก็มีทีมงานที่ดูแลด้านนี้อยู่แล้ว ทั้งนี้ยอมรับว่า คำพิพากษาเมื่อปี 2505 ไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดน โดยที่ผ่านมาไทยยืนยันโดยตลอดว่าต้องให้คณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วมตลอดแนวชายแดน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือเวียนแสดงจุดยืนของไทยต่อทูตอาเซียนที่อยู่ในไทยและประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ พร้อมสมาชิก 15 ประเทศแล้ว

ผบ.สส.ยันผลเจรจาไม่ได้ล้มเหลว

ด้าน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ให้สัมภาษณ์ทางช่อง 3 วานนี้ถึงการประชุมคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชาเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ในการเจรจาที่ติดประเด็นข้อกฎหมายและหาข้อยุติไม่ได้มาจากพื้นฐานที่ทั้ง 2 ประเทศใช้แผนที่คนละฉบับ โดยกัมพูชาใช้แผนที่ของฝรั่งเศส ขณะที่ไทยใช้ระบบสันปันน้ำของสหรัฐอเมริกาและข้อที่ยอมไม่ได้คือ ถ้อยคำที่จะให้ตกลงกันแสดงถึงว่า เขาไม่ยอมรับการไปอ้างสิทธิของเราในที่ไหนก็แล้วแต่ ซึ่งเราก็รับเขาไม่ได้ เหมือนที่เขาไม่รับเรา นายวีระชัย พลาดิศัย ทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ท่านเป็นคนที่เก่งมากและเป็นคนชี้แจงให้ตนดู ซึ่งตนได้รับความชัดเจนว่าเรายอมไม่ได้

"ไม่ใช่ว่า เขารับไม่ได้ที่เราจะไปอ้างสิทธิ์ทั้งหมด แค่เราอ้างว่ามีส่วน เขาก็รับไม่ได้ คำพูดในนั้นจะเป็นลักษณะอย่างนั้น เขาก็ไม่ยอม เราก็ไม่ยอม เขาคงมีจุดยืนมาจากประเทศเขา ในส่วนของเราที่ตกลงตั้งใจที่สุดและคิดว่าไม่ล้มเหลว คือ มีความสบายใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายว่า ทหารที่เผชิญหน้ากันอย่าให้เลวร้ายกว่านี้อีกและไม่ไปเพิ่มกำลังทหารเข้ามา"

เมื่อถามว่า มีการพูดถึงการละเมิดของกัมพูชาที่ได้มีการตั้งชุมชน สร้างวัด และนำกำลังเข้ามาในพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า เราพูด ในเรื่องการย้ายเราได้คุยกัน และทางกัมพูชาบอกว่าจะย้าย แต่ลงเอยคือเราต้องไปยินยอมว่า ประโยคที่ว่า สิ่งใดที่ได้กระทำจะนำไปอ้างทำให้มีผลกระทบกระเทือนต่อการอ้างสิทธิ์ที่อื่นหรือกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหลายไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะเป็นเรื่องทางกฎหมาย ซึ่งอันนี้เป็นข้อตกลงที่เราจะเสนอผู้บังคับบัญชาของแต่ละประเทศ หมายถึงว่าจะต้องไม่มีการอ้างสิทธิ์โดยเรา ซึ่งเรารับไม่ได้ที่เขาเขียน ถ้าจะเอาตรงนี้ออก เขาก็รับไม่ได้

"บุญสร้าง"เศร้าใจคนไทยฟัดกันเอง

ผบ.สส.กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ เราจะจัดการอย่างไรต้องการผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงไปดำเนินการ ในเมื่อเขาจะไม่ยอมรับในการอ้างสิทธิ์อะไรทั้งสิ้น เราทำเรื่องนี้ไปก็ค่อนข้างจะเหนื่อยเปล่า เพราะถึงอย่างไรชุมชนตรงนั้นเขาต้องอพยพออกมาอยู่แล้ว เพราะเขาได้ประกาศเขาพระวิหารให้เป็นมรดกโลกแล้ว ทั้งนี้เขารับนโยบายมาจากข้างบน คิดว่าผู้ใหญ่ของ 2 ประเทศต้องคุยกัน เพื่อทำให้บ้านเมืองทั้งสองได้ประโยชน์ร่วมกัน

"ในวันนี้กระทรวงการต่างประเทศคงทำรายงานมายังผม เพื่อลงนาม และเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้า ครม.เพื่อพิจารณาว่าเราจะเดินอย่างไรต่อไป เมื่อกัมพูชามีจุดยืนเช่นนี้ พูดง่ายๆ คือ เขาไม่เล่นกับเรา คือไม่ใช่ในฐานะเท่าเทียมกัน แต่เราอยู่ในฐานะเป็นตัวประกอบ เขาเป็นตัวเอก ส่วนจะนำประเทศอื่นมาเกี่ยวข้องอย่างไร เป็นส่วนของเขา เราเป็นตัวประกอบอีกตังหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปร่วมจัด เป็นเจ้าของ หรืออ้างสิทธิ์ใดๆทั้งสิ้น"

เมื่อถามว่า เหตุใดเราไม่แสดงบทบาทให้ชัดเจนว่าเราเป็นเจ้าของพื้นที่ตรงนั้น พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า กำลังทหารที่ถูกส่งลงไป คือสิ่งที่เราแสดงแล้ว มิเช่นนั้นเราจะลงไปอยู่ได้อย่างไร เมื่อเขาขึ้นมาเราก็ประท้วง หลังจากที่ปราสาทเขาพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเขาก็ได้รับความสนใจจากนานาชาติ อีกทั้งยังได้รับชัยชนะจากศาลโลก เขาจึงคิดว่าเขาได้เปรียบทุกชาติ

"สำหรับการที่กัมพูชายื่นเรื่องให้ทุกองค์กรนานาชาติให้เช้ามาดุแลปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศต้องคิด ส่วนผมไม่หนักใจอะไร แต่จะทำให้ดีที่สุด คิดว่า เดินดีก็ไปได้ กระทรวงการต่างประเทศขณะนี้จะสำคัญ อย่างไรตาม ผมไม่เป็นห่วงเรื่องกำลังในพื้นที่เพราะมีความสัมพันธ์อันดีเป็นเพื่อนกับทหารกัมพูชาอยู่แล้ว เดิมก็ไม่มีแนวโน้มที่รุนแรง แต่คงต้องมีการกำชับกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ"

เมื่อถามว่า ทำไมเหตุการณ์ถึงเดินมาถึงจุดนี้ พล.อ.บุญสร้าง กล่าวว่า ยังไงก็ต้องหาทางออก อะไรที่ยังไม่ชัดเจน ก็ต้องประชุม เมื่อประชุมจะเห็นอะไรชัดเจนขึ้น แต่เมื่อชัดเจนแล้วทำเห็นว่า ปัญหายากกว่าที่คิด ตอนนี้คนไทยต้องใช้สติปัญญา อย่าใช้อารมณ์หาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ซึ่ง 10 ปีที่แล้วหลังสงครามเย็นนักวิทยาศาสตร์บอกไว้ว่า ความขัดแย้งในอนาคต คือ ปัญหาเรื่องเขตแดนและก็เป็นจริง เกิดขึ้นทั่วโลก

"ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำหน้าที่ให้ดีและรอบคอบ เปิดเผย โปร่งใสต่อประชาชน แต่ปรากฏว่างานนี้เรากลับตีกันเอง ทำให้เราแพ้ภัยให้กับต่างประเทศด้วย"

นักวิชาการแนะรัฐตั้ง คกก.เจรจา

นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์ และอดีตอนุกรรมการพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า การที่ประเทศกัมพูชายื่นขอความช่วยเหลือเพื่อไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทต่อเวทีโลก ถือเป็นโอกาสที่ดีของไทย เพราะขณะนี้เราได้พบหลักฐานใหม่เป็นแผนที่ที่คณะปาวีของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีหน้าที่สำรวจปักปันเขตแดนจัดทำขึ้น ตั้งแต่ ค.ศ.1907 ซึ่งแผนที่ฉบับดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พื้นที่บนเขาพระวิหารเป็นของไทย หากกัมพูชาจะยินดีรับฟังความคิดเห็น หรือยอมรับความจริงในเรื่องนี้ ตนก็เห็นว่าการหาคนกลางมาช่วยตัดสินปัญหาไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นผลดีกับเราแค่ไหน ขอให้เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะมีช่องทางเสนอข้อมูลให้ชาวโลกได้รับรู้

"รัฐบาลควรตั้งคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่เจรจาเรื่องพื้นที่เขาพระวิหารในเวทีโลกขึ้นมา โดยต้องไม่ตั้งคนที่มีปัญหากับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือมีคดีความต่างๆ ติดตัวอยู่ ควรหาคนที่มีความสามารถและเจนเวทีโลก อาทิ นายสมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนักการทูต และเคยทำงานอยู่กับยูเนสโก นายวีระชัย พลาศรัย อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือในเวทีโลก และตั้งคณะกรรมการฝ่ายนักวิชาการทำหน้าที่หาข้อมูลสนับสนุนคณะกรรมการชุดใหญ่ โดยข้อเสนอทั้งหมดนี้อยู่บนเงื่อนไขว่า รัฐบาลต้องเต็มใจที่จะดำเนินการ"

นายเทพมนตรี กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำคือการขอสงวนสิทธิ์ยกเลิกใช้แผนที่ฉบับ L7017 ซึ่งเป็นการทำแผนที่ของฝ่ายไทยโดยเข้าใจผิด ไปยึดเอาเขตรั้วลวดหนามที่คณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.2505 ให้ทหารไปล้อมรอบตัวปราสาทพระวิหารไว้เป็นเขตแดน ทั้งที่ความจริงเขตแดนของเราอยู่ที่แนวสันปันน้ำ ไม่เช่นนั้นกัมพูชาจะอ้างแผนที่ L7017 ต่อเวทีโลกได้ ซึ่งจะทำให้เราต้องเสียผาเป้ยตาดี และ อ.กราบเชิง จ.สุรินทร์ ให้กัมพูชาไป

นอกจากนี้ ขอร้องให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะสื่อมวลชนเลิกใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อน เพราะพื้นที่บนเขาพระวิหารทั้งหมดเป็นของประเทศไทย มีเพียงตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่เป็นของกัมพูชา ตามการตัดสินของศาลโลก ซึ่งไทยได้ขอสงวนสิทธิเอาไว้ตลอดมา

"ส่วนที่ฮุนเซน อยากจะเจรจากับบางคนนั้น ประชาชนก็ต้องช่วยกันยืนยันว่าบางคนไม่ใช่เจ้าของประเทศไทยที่จะทำอะไรกับประเทศนี้ก็ได้ และบางคนก็ควรยอมรับความพ่ายแพ้ ตั้งหน้าตั้งตาทำความดี อย่าทำความเสียหายให้กับประเทศอีกเลย"

9 ส.ว.ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเขาวิหาร

วันเดียวกันเวลา 14.00 น.ที่ห้องประชุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศรีสะเกษ เขต 4 อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา นำโดย ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต รองประธานกรรมาธิการต่างประเทศ พร้อมคณะ ส.ว.รวม 9 คนได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนชาวศรีสะเกษกรณีปัญหาปราสาทพระวิหาร โดยมีนายทิวา รุ้งแก้ว ประธานคณะกรรมการประสานงานเพื่อพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนายศิริพงษ์ ไพศาลสุวรรณ ประธานชมรมครูประถมศึกษาศรีสะเกษ และนายอรุณศักดิ์ โอชารส ประธานสมัชชาประชาชนจังหวัดศรีสะเกษ นำบรรดาประชาชนชาวศรีสะเกษจากหลายสาขาอาชีพ เข้าให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นกันเต็มห้องประชุม

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กุรงเทพฯ กล่าวว่า จากการรับฟังข้อมูลในพื้นที่เห็นว่าประชาชนทั้ง 2 ประเทศมีความเข้าใจกันดี แต่ปัญหาเกิดจากนักการเมืองหรือเปล่าก็ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงกันต่อไป ส่วนพื้นที่ทับซ้อนนั้นตนเห็นว่าน่าที่จะเป็นประโยชน์ทับซ้อนมากกว่า เนื่องจากว่าไทยทำตัวเป็นม้าอารีแต่ว่าระวังม้าอารีจะไม่มีคอกจะอยู่ ส่วนเรื่องการตรึงกำลังทหารนั้น ตนเห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายสามารถตรึงกำลังทหารได้ แต่ไม่ควรที่ใช้กำลังทหารปะทะกันอย่างเด็ดขาด ควรใช้วิธีการเจรจาด้วยสันติวิธีจะดีที่สุด

"มทภ.2"ให้กำลังใจเยี่ยมกำลังพล

วันเดียวกัน พล.ท.สุจิตร สิทธิประภา แม่ทัพภาคที่ 2 ได้เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปประชุมเพื่อรับฟังสถานการณ์และมาตรวจเยี่ยมกำลังพลที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร บริเวณผามออีแดง โดยลงจอดที่โรงเรียนภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ

พล.ท.สุจิต กล่าวว่า การเดินทางมาตรวจเยี่ยมกำลังพลครั้งนี้ทาง ผบ.สส.และ ผบ.ทบ.ได้มอบหมายให้มาดูแลทหารไทยที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เขาพระวิหารว่าให้ช่วยกันดูแลระมัดระวังไม่ให้มีการกระทบกระทั่งไม่ให้เกิดความรุนแรง สำหรับพื้นที่ที่ไม่ชัดเจนในเรื่องเขตแดนว่าของใครอยู่ตรงไหน เพราะหลักฐานในเรื่องแผนที่ไม่ตรงกันนั้น เมื่อยังไม่ได้ข้อยุติก็ต้องดูแลร่วมกันและอยู่ร่วมกันไป ถือว่าจะรักษาความเป็นเพื่อนกันไว้จะไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน หากกำลังทหารมีความเหนื่อยล้าก็จะมีการสับเปลี่ยนกำลังพลเพื่อให้ได้พักผ่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น