ผู้จัดการออนไลน์ -- ถึงแม้จะมีกรณีพิพาทกับกัมพูชาเรื่องพรมแดน และยังไม่มีรัฐมนตรีต่างประเทศในขณะนี้ แต่ไทยก็พร้อมที่จะขึ้นทำหน้าที่ “ประธาน” สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากสิงคโปร์
กลุ่มภูมิภาคนี้มีข้อตกลงให้ประเทศสมาชิกหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษรเข้าทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการประจำอาเซียน (ASEAN Standing Committee) คราวละ 1 ปี โดนเรียงตามลำดับอักษร
ประเทศไทย (อักษร T) จะขึ้นทำหน้าที่ ในวันศุกร์นี้ ถัดไปก็จะเป็นเวียดนาม (อักษร V)
เพราะฉะนั้นตลอดเวลา 1 ปีข้างหน้า ไทยจะเป็นศูนย์กลางการจัดการให้เป็นไปตามระเบียบวาระต่างๆ รวมทั้งการประชุมปีละหลายสิบคณะ ที่จะจัดขึ้นทั้งภายในประเทศและในประเทศสมาชิกอื่นด้วย รวมทั้งการนำพิจารณาแก้ไขปัญหาต่างๆ ในระดับภูมิภาค
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งกลุ่มอาเซียนมาตั้งแต่ปี 2510 มีประสบการณ์เพียบพร้อมในวงการทูตแห่งภูมิภาค
“ผมคิดว่า ไทยมีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์กับความมั่นใจ และบรรดาเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ประจำก็มีประสิทธิภาพสูงมากมาก ไม่มีอะไรน่าห่วง” นายสุรินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทหารไทยราว 500 คน กำลังเผชิญหน้ากับทหารกัมพูชากว่า 1,000 คน บนเขาพระวิหาร ขณะที่กัมพูชาร้องเรียนให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เปิดการประชุมฉุกเฉินพิจารณาสถานการณ์ตึงเครียด และยังร้องขอให้รัฐมนตรีอาเซียนประชุมหารือเรื่องนี้เป็นวาระพิเศษ
รัฐมนตรีอาเซียน ได้หารือเรื่องนี้ระหว่างรับประทานอาหารเที่ยงเมื่อวันอังคาร (22 ก.ค.) และ นายจอร์จ เยียว (George Yeo) รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประธานการประชุมออกคำแถลงในเวลาต่อมา ระบุว่า บรรดารัฐมนตรียังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาพิพาทได้ แต่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างให้คำมั่นจะพยายามอย่างยิ่งยวดในการทางออกอย่างสันติ
นายสหัส บัณฑิตกุล รองนายกรัฐมนตรี คนหนึ่ง ได้เป็นตัวแทนจากไทยไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ขณะที่กัมพูชา ส่ง นายกาวกิมฮูร์น (Kao Kim Hourn) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการไปร่วม