รายงาน 3 ตอนจบ-ชายฝั่งทะเลไทยพินาศฝีมือใคร (ตอนที่ 2)
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – เปิดข้อมูล “ทส.” สำรวจพื้นที่คลื่นกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยตลอดแนว 3,000 กม. ทั้งในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย-อันดามันและภาคตะวันออก พร้อมชี้จุดวิกฤตในทุกจังหวัด เผยหลายพื้นที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักอันเป็นผลจากสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาด ระบุชัดเขื่อนกันคลื่นและทราย เขื่อนหินทิ้ง รอดักทราย กำแพงริมตลิ่ง ซึ่งล้วนเกิดจากฝีมือภาครัฐเป็นตัวการสร้างปัญหาอย่างฉกรรจ์และกระจายอยู่ทั่วพื้นที่
จากปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทะเลได้รับความเสียหายทั่วประเทศไทย ซึ่งกลายเป็นปัญหาหนักของภาคใต้ทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมทั้งภาคตะวันออกด้วย หลายจุดเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงและกระจายตัวเป็นวงกว้าง ทั้งนี้มีการยืนยันแล้วว่าปัญหาหลักๆ เกิดจากสิ่งปลุกสร้างรุกล้ำชายฝั่ง โดยเฉพาะรอดักทรายและเขื่อนกันทราย
สิ่งนี้ยืนยันได้จากเมื่อ 6–18 ส.ค.2550 ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับสำนักการบินอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ศึกษาความเสียหายในพื้นที่ต่างๆ อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ภายใต้โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยใช้อากาศยาน ซึ่งมีการสำรวจแนวชายฝั่ง สภาพการกัดเซาะและโครงสร้างชายฝั่ง ตลอดแนวชายฝั่งทะเลของไทยระยะทางประมาณ 3,000 กิโลเมตร(กม. )แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทย 2,000 กม. และอันดามัน 1,000 กม.
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มอบหมายให้ นายปริทัศน์ เจริญสิทธิ์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 7 ว. นายวีระพันธุ์ ทองมาก เจ้าหน้าที่บริหารงานประมง 6 นายอรุณกิจ สิทธิไชย และนาย ส.กรกช ยอดไชย เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน สังกัดสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นคณะทำงานปฏิบัติการร่วมในการสำรวจแนวชายฝั่งทะเลในครั้งนี้
ผลจากการสำรวจพบว่า แนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยที่เกิดความเสียหายมากเริ่มตั้งแต่ จ.นราธิวาส ที่มีแนวชายฝั่งยาวประมาณ 57 กม. ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นทรายที่เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนทรายชายฝั่งต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดเป็นผืนทรายขนาดใหญ่โดยตลอด แนวชายฝั่งจึงเป็นประเภทหาดทรายทั้งหมด และมีลักษณะยาวต่อเนื่องกันในแนวเหนือ-ใต้
พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งพบเป็นแนวต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นจากบริเวณด้านเหนือของโครงสร้างชายฝั่งทะเล ที่พบมีการก่อสร้างบริเวณปากแม่น้ำและคลองที่มีขนาดใหญ่ทุกแห่ง ประเภทเขื่อนกันทรายปากแม่น้ำ (Jetty) มีลักษณะเป็นแนวเขื่อนหินทิ้งถมยื่นออกไปในทะเลความยาวอยู่ในช่วง 100–300 เมตร(ม.)
เขื่อนกันทรายปากแม่น้ำใน จ.นราธิวาสพบ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกันทรายปากแม่น้ำโก-ลก (แนวพรมแดนไทย-มาเลเซีย) และเขื่อนกันทรายปากแม่น้ำบางนรา แนวชายฝั่งทะเล จ.นราธิวาสที่มีการกัดเซาะชายฝั่งพบได้ตลอดแนว ตั้งแต่ปากแม่น้ำโก-ลกต่อเนื่องไปที่ชายหาดหน้าพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ อ่าวมะนาว ขึ้นไปจนถึงเขตตัวเมืองนราธิวาส
จุดวิกฤตใน จ.นราธิวาสอยู่ที่บ้านบาเกะ ระยะทางที่ถูกกัดเซาะ 4 กม. อัตราการกัดเซาะ 10 ม./ปี บ้านลาฆอปาละ ระยะทางที่ถูกกัดเซาะ 0.2 กม. อัตราการกัดเซาะ 5-6 ม./ปี และบ้านคลองตัน ระยะทางที่ถูกกัดเซาะ 21 กม. อัตราการกัดเซาะ 7-10 ม./ปี พื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขต อ.เมืองนราธิวาส
ถัดไปเป็นแนวชายฝั่ง จ.ปัตตานี ระยะทางประมาณ 135 กม. ลักษณะพื้นที่โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นทรายที่เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนทรายชายฝั่งอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานเช่นเดียวกับ จ.นราธิวาส ดังนั้นแนวชายฝั่งทะเลของ จ.ปัตตานีจึงต่อเนื่องมาจากชายฝั่ง จ.นราธิวาส ส่วนใหญ่เป็นชายฝั่งประเภทหาดทราย และพบหาดโคลนเฉพาะบริเวณด้านในอ่าวปัตตานี โดยมีแหลมตาชีเป็นลักษณะชายฝั่งที่น่าสนใจ
พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งพบเป็นแนวต่อเนื่องเป็นช่วงๆ ตามโครงสร้างชายฝั่งทะเลประเภทเขื่อนกันทรายปากแม่น้ำที่มีการสร้างไว้เป็นช่วงๆ บริเวณปากแม่น้ำต่างๆ และกำแพงริมตลิ่งประเภทเขื่อนหินทิ้ง เขื่อนกันทรายปากแม่น้ำใน จ.ปัตตานีพบ 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกันทรายปากแม่น้ำ อ.ไม้แก่น อ.สายบุรี อำเภอละ 1 แห่ง อ.ปานาเระ 2 แห่ง (คลองมะหวดและคลองปานาเระ) อ.หนองจิก 2 แห่ง (คลองตันหยงเปาว์และคลองราพา) กำแพงริมตลิ่งประเภทเขื่อนหินทิ้งพบ 3 บริเวณ ได้แก่ บริเวณบ้านบางตาวา บริเวณหาดรัชดาภิเษกและบริเวณชายฝั่งบ้านตันหยงเปาว์
แนวชายฝั่งทะเล จ.ปัตตานีที่มีการกัดเซาะชายฝั่งพบมากบริเวณด้านเหนือของโครงสร้างชายฝั่งทั้งเขตจังหวัด ยกเว้นภายในอ่าวปัตตานีพบการเพิ่มขึ้นของพื้นที่หาดเลน รวมทั้งมีการถมพื้นที่ภายในอ่าวปัตตานีด้วย แนวชายฝั่งทะเลของ จ.ปัตตานีมีลักษณะเรียบตรงต่อเนื่องมาจากชายฝั่ง จ.นราธิวาส
จุดวิกฤตใน จ.ปัตตานีอยู่ที่บ้านปะอิง–บ้านบางตาวา อ.หนองจิก ระยะทางที่ถูกกัดเซาะ 4.5 กม. อัตราการกัดเซาะ 10-20 ม./ปี และที่บ้านตันหยงเปาว์ อ.หนองจิก ระยะทางกัดเซาะ 1 กม. อัตราการกัดเซาะ 10-12 ม./ปี
ถัดไปเป็นแนวชายฝั่ง จ.สงขลาระยะทางประมาณ 160 กม. มีลักษณะเรียบตรงยาวในแนวเหนือ-ใต้ ต่อเนื่องมาจากชายฝั่ง จ.ปัตตานีและ จ.นราธิวาส ชายฝั่งทั้งหมดของ จ.สงขลาเป็นหาดทราย พื้นที่กัดเซาะพบเป็นแนวต่อเนื่องเป็นช่วงๆ บริเวณโครงสร้างชายฝั่งทะเลประเภทเขื่อนกันทรายปากแม่น้ำที่มีการสร้างไว้เป็นช่วงๆ พบมากบริเวณด้านใต้ของเขตจังหวัดขึ้นมาจนถึงปากทะเลสาบสงขลา
นอกจากนี้ ยังพบรอดักทรายอีก 2 แห่ง เขื่อนกันทรายปากแม่น้ำใน จ.สงขลาพบ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกันทรายปากคลองเทพา อ.เทพา เขื่อนกันทรายปากคลองสะกอม บ้านบ่อโชน อ.จะนะ เขื่อนกันทรายปากคลองนาทับ อ.จะนะ และเขื่อนกันทรายปากทะเลสาบสงขลา รอดักทรายพบ 2 บริเวณ ได้แก่ บริเวณบ้านเก้าเส้ง และบริเวณเทศบาลบ่อตรุ
แนวชายฝั่งทะเล จ.สงขลาพบการกัดเซาะชายฝั่งในลักษณะเดียวกับ จ.ปัตตานีและ จ.นราธิวาส โดยพบบริเวณด้านเหนือของโครงสร้างชายฝั่งประเภทต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากการขาดตะกอนทรายมาทดแทนส่วนที่ขาดหายไป เนื่องจากการเคลื่อนตัวของตะกอนทรายจากอิทธิพลของกระแสน้ำชายฝั่ง
จุดวิกฤตใน จ.สงขลาอยู่ที่บ้านอู่ตะเภา–บ้านปากแตระ อ.ระโนด ระยะทางกัดเซาะ 4 กม. อัตราการกัดเซาะ 5.5 ม./ปี ส่วนที่หาดสมิหลา อ.เมืองสงขลา และพื้นที่บ้านบ่อโชน ต.สะกอม อ.จะนะ ซึ่งได้รับความเสียหายรุนแรงเช่นกัน แต่ไม่มีข้อมูลตัวเลขความเสียหายที่ชัดเจน
ติดกับสงขลาเป็นแนวชายฝั่งทะเล จ.นครศรีธรรมราช ระยะทางประมาณ 235 กม. แนวชายฝั่งทะเลมีลักษณะเรียบตรงยาวในแนวเหนือ-ใต้ ต่อเนื่องมาจากชายฝั่ง จ.สงขลา จ.ปัตตานีและ จ.นราธิวาส ชายฝั่งส่วนใหญ่ของ จ.นครศรีธรรมราช เป็นหาดทราย โดยพบหาดโคลนบริเวณด้านในอ่าวปากพนัง บริเวณปลายแหลมตะลุมพุกไปจนถึงเขต อ.ท่าศาลา และพบหาดหินบริเวณด้านเหนือของเขตจังหวัดบริเวณ อ.ขนอม พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งพบเป็นแนวต่อเนื่องบริเวณโครงสร้างชายฝั่งทะเล พบทั้งประเภทเขื่อนกันทรายปากแม่น้ำที่มีการสร้างไว้เป็นช่วงๆ นอกจากนี้ยังพบกำแพงริมตลิ่งที่สร้างตามแนวชายฝังจำนวนมาก
เขื่อนกันทรายปากแม่น้ำใน จ.นครศรีธรรมราชพบ 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนกันทรายปากระวะ ต.หน้าสตน อ.หัวไทร เขื่อนกันทรายปากคลองระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร เขื่อนกันทรายปากคลองฉุกเฉิน ต.ท่าพญา อ.ปากพนัง เขื่อนกันทรายปากน้ำท่าศาลา เขื่อนกันทรายปากน้ำกลาย และเขื่อนกันทรายปากน้ำสิชล กำแพงริมตลิ่งถูกพบว่ามีการก่อสร้างจำนวนหลายบริเวณ โดยมากพบด้านเหนือของเขื่อนกันทรายปากแม่น้ำ เนื่องจากได้รับผลการกัดเซาะซึ่งเป็นอิทธิพลต่อเนื่องมา โดยพบกำแพงริมตลิ่งขนาดใหญ่ 2 บริเวณ ได้แก่ บริเวณท่าเทียบเรือเทศบาลหัวไทร และบริเวณริมถนนในเขตตำบลขนาบนาก อ.ปากพนัง
แนวชายฝั่งทะเล จ.นครศรีธรรมราชพบการกัดเซาะชายฝั่งเกือบทุกตำบล โดยเฉพาะในเขต อ.หัวไทรและ อ.ปากพนัง (ด้านใต้เขตต่อเนื่องจาก จ.สงขลา) การกัดเซาะพบลักษณะเดียวกับ จ.สงขลา จ.ปัตตานีและ จ.นราธิวาส โดยพบบริเวณด้านเหนือของโครงสร้างชายฝั่งประเภทต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากการขาดตะกอนทรายมาทดแทนส่วนที่ขาดหายไป เนื่องจากการเคลื่อนตัวของตะกอนทรายจากอิทธิพลของกระแสน้ำชายฝั่ง แนวชายฝั่งตอนใต้ของจังหวัดมีลักษณะยาวตรง และพบพื้นที่ที่ถูกกัดเซาะชายฝั่งจำนวนมาก
จุดวิกฤตใน จ.นครศรีธรรมราชอยู่ที่บ้านเคียนดำ–บ้านบ่อนนท์ อ.ท่าศาลา ระยะทางกัดเซาะ 8 ก.ม. อัตราการกัดเซาะ 6 ม./ปี บ้านแหลมตะลุมพุก–บ้านบางปอ อ.ปากพนัง ระยะทางกัดเซาะ 29 ก.ม. อัตราการกัดเซาะ 8 ม./ปี และที่บ้านเกาะทัง–บ้านหน้าศาล อ.ปากพนัง และรอยต่อ อ.หัวไทร ระยะทางกัดเซาะ 23 ก.ม. อัตราการกัดเซาะ 12 ม./ปี
ถัดไปเป็นแนวชายฝั่งทะเล จ.สุราษฎร์ธานี ระยะทางประมาณ 160 กม. แนวชายฝั่งทะเลอยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตก ไม่มีผลต่อเนื่องมาจากชายฝั่ง จ.สงขลา เนื่องจากเป็นมุมหักจากเขตภูเขาสูงใน อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ชายฝั่งส่วนใหญ่ของ จ.สุราษฎร์ธานีเป็นหาดโคลน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะกอนจากปากน้ำตาปี ซึ่งเป็นปากน้ำขนาดใหญ่ โดยมีดินดอนรูปตีนนกบริเวณปากแม่น้ำตาปีขนาดใหญ่ด้วย ส่วนเขตหาดทรายจะพบตอนบนของเขตจังหวัดบริเวณรอยต่อกับ จ.ชุมพร
พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งพบบริเวณเขต อ.กาญจนดิษฐ์ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินชายฝั่งทะเลจากป่าชายเลนเป็นบ่อกุ้งจำนวนมากบริเวณดินดอนรูปตีนนกบริเวณปากแม่น้ำตาปี
จุดวิกฤตใน จ.สุราษฎร์ธานีอยู่ที่บ้านพอด–บ้านปากคลองคราม อ.ดอนสัก ระยะทางกัดเซาะ 8 กม. อัตราการกัดเซาะ 16 ม./ปี
จากนั้นเป็นแนวชายฝั่งทะเล จ.เพชรบุรี ระยะทางประมาณ 90 กม. แบ่งลักษณะชายฝั่งเป็น 2 ประเภทคือ ชายฝั่งหาดทรายประมาณ 46 ก.ม. พบตอนใต้ของจังหวัดตั้งแต่ปลายแหลมผักเบี้ยลงไปจนถึงเขต จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนที่เหลืออีก 44 ก.ม. ตั้งแต่ปลายแหลมผักเบี้ยขึ้นมาทางเหนือจนถึงเขต จ.สมุทรสงครามเป็นหาดโคลน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะกอนปากแม่น้ำบางตะบูนชายฝั่งทะเล จ.เพชรบุรี มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก ได้แก่ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน หาดชะอำหาดปึกเตียน หาดเจ้าสำราญ และแหลมหลวง
พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งพบเป็นแนวต่อเนื่อง มีการสร้างโครงสร้างชายฝั่งทะเล (เขื่อนหินทิ้ง) เพื่อป้องกันตลอดแนวชายฝั่ง ทำให้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ สูญเสียพื้นที่หน้าหาดไป นอกจากนี้ที่พบมีการสร้างเขื่อนกันทรายปากแม่น้ำขนาดใหญ่ที่ปากน้ำชะอำ แหลมหลวง และเขื่อนกันคลื่นที่ปลายแหลมผักเบี้ย
จุดวิกฤตของ จ.เพชรบุรีอยู่ที่บ้านดอนมะขาม–บ้านท่าทำเนียบ อ.บ้านแหลม ระยะทางกัดเซาะ 5 กม. อัตราการกัดเซาะ 10 ม./ปี และบ้านบางเกตุ อ.บ้านแหลม ระยะทางกัดเซาะ 1.5 กม. อัตราการกัดเซาะ 7.3 ม./ปี
แนวชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 5 กม. ทั้งหมดเป็นหาดโคลน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะกอนปากแม่น้ำหลายสายในเขตอ่าวไทยตอนใน แนวชายฝั่งเดิมเป็นป่าชายเลน ต่อมาพัฒนาพื้นที่เพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พบการกัดเซาะชายฝั่งเป็นแนวยาว มีพื้นที่ป่าชายเลนเหลือบริเวณขอบชายฝั่งเล็กน้อย บางแห่งพบการกัดเซาะเข้ามาถึงพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนการป้องกันชายฝั่งพบการสร้างเขื่อนหินทิ้งเพื่อกันคลื่นนอกชายฝั่ง
จุดวิกฤตในกรงเทพฯ อยู่ที่ปากคลองขุนราชพินิตใจ–บ้านท่าตะโก เขตบางขุนเทียน ระยะทางกัดเซาะ 5.5 กม. อัตราการกัดเซาะ 15-25 ม./ปี
แนวชายฝั่งทะเล จ.สมุทรปราการระยะทางประมาณ 50 กม. แนวชายฝั่งทั้งหมดเป็นหาดโคลน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะกอนปากแม่น้ำหลายสาย โดยมีแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แนวชายฝั่งเดิมเป็นป่าชายเลน ต่อมาพัฒนาเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเขตอุตสาหกรรม
พบพื้นที่ถูกกัดเซาะชายฝั่งเป็นแนวยาว มีพื้นที่ป่าชายเลนเหลือบริเวณขอบชายฝั่งเล็กน้อย บางแห่งพบการกัดเซาะเข้ามาถึงพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีการป้องกันชายฝั่ง ได้แก่ การสร้างเขื่อนหินทิ้งบริเวณเขตชุมชนและพื้นที่อุตสาหกรรม บ่อกุ้ง การปักแนวไม้ไผ่ เสาไฟฟ้า รวมทั้งการสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบไส้กรอกทราย
จุดวิกฤตใน จ.สมุทรปราการอยู่ที่ฝั่งตะวันตก บ้านคลองสีล้ง อ.บางปะกง ระยะทางกัดเซาะ 9 กม. อัตราการกัดเซาะ 12 ม./ปี
ด้านแนวชายฝั่ง จ.ระยอง ระยะทางประมาณ 102 กม. อยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตก มีลักษณะเป็นอ่าวขนาดใหญ่เล็กต่อเนื่องกันจนไปสุดเขตจังหวัดที่ อ.แกลง ชายฝั่งทะเลตะวันตกเป็นหาดทราย ส่วนชายฝั่งทะเลตะวันออกที่ติดกับ จ.จันทบุรีเป็นหาดโคลน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากตะกอนปากแม่น้ำประแสร์ คลองแขมหนูและคลองพังราด มีพื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
แนวชายฝั่ง จ.ระยองมีการใช้ประโยชน์ที่หลากหลายทั้งด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภค ชุมชน ท่าเทียบเรือ และพื้นที่ถมทะเลเพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงบริเวณหาดแสงจันทร์ ต่อเนื่องไปจนถึงปากน้ำระยอง ระยะทางประมาณ 13 ก.ม.
จุดวิกฤตใน จ.ระยองอยู่ที่มาบตาพุด ในเขต อ.เมืองระยอง ระยะทางกัดเซาะ 4.7 กม. อัตราการกัดเซาะ 5-10 ม./ปี