xs
xsm
sm
md
lg

มอ.เล็งสร้างเขื่อนใต้น้ำแก้กัดเซาะชายฝั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการ มอ.หาดใหญ่ ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อศึกษาหาความเป็นไปได้ในการใช้ปะการังเทียม เป็นแนวเขื่อนใต้น้ำเพื่อลดความแรงของคลื่น ในโครงการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายหาดแบบบูรณาการ
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – นักวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำโครงการศึกษาการใช้แนวปะการังเทียม เป็นเขื่อนใต้น้ำกันคลื่นแก้ปัญหากัดเซาะชายหาด จ.สงขลา คาดจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนถามชาวบ้านจะเอาหรือไม่เอา ขณะที่สมาคมรักษ์ทะเลไทยจวกยับ รัฐแก้ปัญหาล้มเหลวมาตลอด เพราะขาดองค์ความรู้ด้านสมุทรศาสตร์ เตือนเขื่อนใต้น้ำอาจส่งผลเสียอย่างรุ่นแรงซ้ำรอยเขื่อนกันคลื่น จี้เร่งรื้อออกโดยเร็ว

ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากการสร้างเขื่อนกันคลื่นและทรายริมปากแม่น้ำ เขื่อนกันคลื่นริมชายหาดในรูปแบบต่างๆ เช่น กำแพงคอนกรีต หรือหินทิ้งรูปตัว T รวมทั้งท่าเรือขนาดใหญ่ ส่งผลให้ชายหาดถูกคลื่นกัดกินไปแล้วนับแสนไร่ มูลค่าความเสียหายเฉพาะที่ดินนับแสนล้านบาท ไม่รวมมูลค่าด้านอื่นๆ ที่กำลังมีการศึกษาวิจัย โดยยกกรณีเปรียบเทียบกับความเสียหายของชายหาดต่างประเทศ อาจมีมูลค่าสูงนับล้านล้านบาท

ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งเป็นต้นเรื่องในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ การแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง แบบบูรณาการ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

ประเด็นที่น่าสนใจ คือ ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยได้ใช้งบประมาณสำหรับการแก้ปัญหานี้ไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนกันคลื่นที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซ้ำยังกลายเป็นสาเหตุให้พื้นที่ใกล้เคียงถูกกัดเซาะออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการเรียกร้องให้ระงับการก่อสร้าง ให้ตรวจสอบและประเมินโครงการที่ผ่านมาทั้งหมด ขณะที่ความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถึงกับเสนอให้รื้อหรือลดขนาดเขื่อนทั้งหมดลงโดยเร็ว

จนนำมาสู่การเสนอแผนบูรณาการเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน โดยเฉพาะด้านการเบิกจ่ายงบประมาณ มีการกำหนดโซนพื้นที่วิบัติ วิกฤต และพื้นที่เฝ้าระวัง เพื่อศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหา สำหรับพื้นที่ที่ถือว่าวิบัติแล้วตามการจัดโซนของวิศวกรรมสมุทรศาสตร์ เช่น อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช อ.นาทับ จ.สงขลา และ อ.เมืองปัตตานี อาจจะต้องใช้โครงสร้างทางวิศวกรรมทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถป้องกันหาดทรายไว้ได้อีกต่อไปแล้ว

ล่าสุดพื้นที่ จ.สงขลา ซึ่งถือเป็นโซนวิกฤตใกล้จะวิบัติ กำลังมีการศึกษาวิจัยเพื่อหาทางยับยั้งปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนที่ชายหาดจะได้รับความเสียหายทั้งหมด

ผศ.พยอม รัตนมณี อาจารย์ภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เปิดเผยกับ “ผู้จัดการรายวัน” ว่าขณะนี้มีการศึกษาวิจัยการแก้ปัญหากัดเซาะชายหาดแบบบูรณาการ ภายใต้ชื่อ “โครงการสำรวจและศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตะกอนชายฝั่งทะเล” เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แนวปะการังเทียม แก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายหาดโดยพื้นที่ศึกษาคือชายหาดเก้าเส้ง อ.เมืองสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังมีปัญหา

ปะการังดังกล่าวจะมีขนาดของจริงประมาณ 1 เมตร 80 เซนติเมตร หนักประมาณ 3 -4 ตัน จำนวน 3,500 ก้อนนำไปวางขนานกับแนวชายหาดเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ห่างจากชายฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร

“เมื่อคลื่นซัดเข้ามา แนวปะการังก็จะทำหน้าที่ชะลอความแรงของคลื่นที่เข้ามาปะทะกับฝั่ง เมื่อคลื่นผ่านแนวปะการังก็จะมีกำลังน้อยลงชายหาดก็จะไม่ถูกคลื่นกัดเซาะ และจะปะการังจะเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำได้ ขณะนี้ความก้าวหน้าของโครงการอยู่ในขั้นตอนของการทดลองในห้องแล็บ ด้วยการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์คำนวณค่าความแรงของคลื่นและความสามารถในการลดกำลังคลื่นของแนวปะการังเทียม โครงการศึกษานี้ใช้งบประมาณในการศึกษา 4,726,000 บาท งบประมาณในการก่อสร้างจริง 85 ล้านบาท ซึ่งได้มีการเสนอโครงการไปยังเทศบาลต่างๆ ถ้าเขาสนใจก็สามารถดำเนินโครงการได้” ผศ.พยอม กล่าวและว่า

ขณะนี้ผลการศึกษาคืบหน้าไปมากแล้ว โดยพบว่าปะการังเทียมสามารถกรองคลื่นได้ 50 % ผลการวิจัยพบว่ามีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น รวมทั้งยังสามารถลบภาพอุจาดตาเหมือนการแก้ปัญหาด้วยวิธีสร้างเขื่อนกันคลื่นด้วย โดยจะมีการผูกทุ่นแสดงแนวเขตไว้ เพื่อป้องกันความปลอดภัยในการเดินเรือของชาวประมง โดยโครงการศึกษาการใช้แนวปะการังเทียม แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งกำหนดเสร็จสิ้นโครงการในวันที่ 22 สิงหาคม 2551

“ที่ผ่านมาพบว่า เขื่อนกันคลื่นไม่สามารถแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งได้ ทั้งยังทำให้พื้นที่ใกล้เคียงได้รับความเสียหายเป็นลูกโซ่ ชายหาดอ่าวไทยเสียสมดุลตั้งแต่ จ.นราธิวาส เป็นต้นมา โอกาสที่จะรื้อขอนเขื่อนกันคลื่นปากแม่น้ำหากรื้อออกปัญหาอาจเบาบางลงแต่ชายหาดก็อาจจะไม่กลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิม และการรื้ออาจยากกว่าการก่อสร้าง ซึ่งในส่วนนี้ตามหลักการแล้วกรมเจ้าท่าต้องรับผิดชอบด้วยการดูแลชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ส่วนปะการังเทียมก่อนลงมือจริงก็ต้องให้ชาวบ้านเลือกว่าจะเอาหรือไม่เอา” ผศ.พยอม กล่าว

ขณะที่ นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า โครงการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งของหน่วยงานรัฐที่ผ่านมา ยังไม่สามารถศึกษาวิจัยหารูปแบบที่เหมาะสมได้ บทเรียนการแก้ปัญหาด้วยวิธีที่เป็นอยู่ เขื่อนกันคลื่นป้องกันชายหาดล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีองค์ความรู้ไม่มากพอ มีการคาดการณ์ผิด ทำให้ใน 10 ปีที่ผ่านมาส่งผลเสียหายมากกว่าผลดีหลายร้อยเท่า

“โครงการใดๆ ก็แล้วแต่บริเวณชายหาด จ.สงขลา ในขณะนี้ไม่ควรดันทุรังทำเพราะองค์ความรู้เรายังไม่พอ อาจมีผลกระทบมากกว่าผลดี โมเดลที่ใช้ทดลองในห้องแล็บไม่สามารถจะสรุปได้ว่าจะแก้ปัญหาได้จริง ควรปล่อยให้ชายหาดฟื้นตัวได้เอง เรายังไม่มีการศึกษาจริงจังแต่โครงการต่างๆ กลับถูกผลักดันโดยผู้รับเหมา ข้าราชการบางคน รวมทั้งนักการเมืองบางคนที่หวังค่าคอมมิชชัน ไม่เชื่อว่าโครงการนี้จะแก้ปัญหาได้และจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีในส่วนของเขื่อนที่สร้างไว้แล้วก็ควรรื้อออกเสียด้วย เพราะพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้” นายบรรจง กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น