ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – นักวิชาการธรรมศาสตร์ ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เล็งสร้างเขื่อนกันคลื่นป้องกันปัญหากัดเซาะชายฝั่งภาคใต้อีก 5 จุด นักสมุทรศาสตร์อัดหน่วยงานรัฐแก้ปัญหาผิดบทบาทและซ้ำซ้อนกันเอง เชื่อปัญหาไม่มีวันจบง่ายๆ แต่จะบานปลายไม่สิ้นสุด ขณะที่ชาวบ้านเขตบางขุนเทียน เตรียมถวายฎีการะงับโครงการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งด้วยไส้กรอกทราย หรือ T-Groin ที่รัฐเคยทำแล้วล้มเหลว แต่พยายามจะทำอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์การแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยบริเวณภาคใต้ ว่า หน่วยงานของรัฐและนักวิชาการ ยังคงมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาด้วยการสร้างเขื่อนกันคลื่นอย่างต่อเนื่อง แม้ผลปรากฏออกมาแล้วในหลายพื้นที่ว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทั้งยังส่งผลกระทบ ทำให้พื้นที่ใกล้เคียงได้รับความเสียหายตามไปด้วยเป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ ผลการศึกษาของนักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นไปแล้วเมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ หาดแก้วรีสอร์ท อ.สิงหนคร จ.สงขลา โดยมีการศึกษาปัญหากัดเซาะชายฝั่งบริเวณ อ.ปากพนัง และอ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช อ.ระโนด อ.สทิงพระ และ อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งผลการศึกษาระบุออกมาว่า
1.บริเวณชายฝั่งวัดแหลมตะลุมพุก บ้านปลายทราย ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีฯ ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร แนวทางการแก้ไข 3 ทางเลือก คือ
1.เติมทราย + เสริมใยสังเคราะห์ 2.เติมทราย + เขื่อนหินทิ้งกันคลื่น คอนกรีตเสริมเหล็ก3.เติมทราย + คันดักทราย
2.บริเวณวัดปากแตระ ต.ปากแตระ อ.ระโนด จ.สงขลา ระยะทาง 2.5 กิโลเมตร แนวทางการแก้ไขปัญหามี 3 ทางเลือก คือ 1. เติมทราย + เสริมใยสังเคราะห์ 2.เติมทราย + เขื่อนหินทิ้งกันคลื่น คอนกรีตเสริมเหล็ก 3.เติมทราย + คันดักทราย
3.บริเวณ ต.ท่าพญา อ.ปากพนัง จ.สงขลา ระยะทาง 3.0 กิโลเมตร แนวทางการแก้ไข 3 ทางเลือก คือ 1.เติมทราย + กำแพงหินทิ้งป้องกันตลิ่ง 2.เติมทราย + เขื่อนหินทิ้งกันคลื่น + กำแพงหินทิ้งป้องกันตลิ่ง 3.เติมทราย+คันดักทราย คอนกรีตเสริมเหล็ก และกำแพงหินทิ้งป้องกันตลิ่ง
4.บริเวณ ต.บ่อตรุ อ.ระโนด จ.สงขลา ระยะทาง 4.0 กิโลเมตร แนวทางการแก้ไข 3 ทางเลือก คือ 1.เติมทราย + เสริมใยสังเคราะห์ 2.เติมทราย + เขื่อนหินทิ้งกันคลื่น 3.เติมทราย + คันดักทราย
5.บริเวณวัดหาดทรายแก้ว บ้านหัวเขาแดง ต.ชิงโค อ.สิงหนคร 2.0 กิโลเมตร แนวทางการแก้ไข 3 ทางเลือก คือ 1. เติมทราย + กำแพงหินทิ้งป้องกันตลิ่ง 2.เติมทราย + คันดักทรายหินทิ้ง 3.เติมทราย + เขื่อนกันคลื่นใต้น้ำ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ นักสมุทรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งติดตามการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งมาโดยตลอด กล่าวว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานของรัฐยังคงมีแนวคิดที่จะใช้วิธีการสร้างเขื่อนกันคลื่นแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งหมายถึงว่าจะมีการสร้างเขื่อนกันคลื่นต่อไปเรื่อยๆไม่มีวันจบ ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงถือว่าเป็นการทำงานที่ผิดบทบาทอย่างมาก
“ความจริงแล้วขณะนี้แผนงานทั้งหมด กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กำลังดำเนินการอยู่แล้ว แต่กรมทรัพยากรทางทะเลก็มีโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นขึ้นมาอีก ทั้งๆ ที่มีหน้าที่ดูแลด้านทรัพยากร รวมทั้งผลกระทบที่จะตามมา งานที่จะทำจึงซ้ำซ้อนกันไปมาบนงบประมาณ ซึ่งมาจากภาษีอากรของประชาชน แต่ไม่มีหน่วยงานใดมารับชดใช้ความเสียหายต่อบ้านเรือนและที่ดินของประชาชนเลย หากยังคิดแบบนี้ปัญหาก็จะยังไม่จบง่ายๆ มีแต่จะลุกลามบานปลายออกไปมากกว่าเดิม”
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของการแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณชุมชนชายฝั่งทะเล เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ผ่านมาสำนักระบายน้ำ ได้จัดทำโครงการแก้ปัญหาด้วยการใช้ไส้กรอกทราย หรือ T-Groin สำหรับป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ถุงผ้าใบที่มีลักษณะคล้ายไส้กรอกบรรจุทรายไว้ภายในถูกคลื่นซัดจนแตก ทำให้เศษทรายและวัสดุปนเปื้อนลงในระบบนิเวศเป็นจำนวนมาก
นายปถัมภ์ รักขาว เจ้าหน้าที่มูลนิธิชุมชนไทย ซึ่งเป็นคณะทำงานร่วมกับเครือข่ายรักษ์ทะเลกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาด้วยวิธีการดังกล่าวปรากฏผลชัดเจนว่า ไม่สามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ เนื่องจากการใช้ไส้กรอกทรายไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นหาดโคลนเลน แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังคงยืนยันว่าจะแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ต่อไปทั้งที่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย
“ชาวบ้านอยากให้แก้ปัญหาโดยใช้เสาคอนกรีตเหมือนที่ใช้ในพื้นที่บ้านขุนสมุทรจีน เพราะได้ผล แต่หน่วยงานรัฐกลับบอกว่าไม่มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่าจะแก้ปัญหาได้ เราได้ทำหนังสือขอให้ระงับไปแล้ว แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ตอบกลับมาว่าจะใช้ไส้กรอกทรายเหมือนเดิม ทำให้ชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง และจะมีการถวายฎีกาวันนี้ (10 มิ.ย.) ระหว่างที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จมามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่” นายปถัมภ์ กล่าว