xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำฟ้องคดีประวัติศาสตร์ เรียก 200 ล.‘เจ้าท่า’ ทำชายฝั่งพัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายทางดาวเทียมของกรมพัฒนาที่ดิน เมื่อ พ.ศ.2538 แสดงให้เห็นพื้นที่ชายหาด ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ก่อนมีการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากคลองสะกอม ชายหาดมีสภาพสมบูรณ์เปี่ยมไปด้วยคุณค่าในทุกๆ ด้าน ประชาชนจำนวนมากล้วนได้รับประโยชน์มหาศาลจากชายหาดแห่งนี้
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่- เปิดคดีประวัติศาสตร์ชาวบ้านสงขลาสุดทนฝีมือการแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งของหน่วยงานรัฐ แทนที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบ แต่กลับไปสร้างปัญหาใหม่ให้ทับถมเพิ่มขึ้นไปอีก เผยยื่นฟ้อง ‘กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี’ หรือกรมเจ้าท่าเดิมต่อศาลปกครองสงขลาไปแล้ว 2 คดี รวมเรียกค่าเสียหายเป็นเงินเกือบ 200 ล้านบาท

กรณีชายฝั่งทั่วไทยได้รับความเสียหายกินเนื้อที่ร่วม 1 แสนไร่ ในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา มูลค่าความเสียหายนับล้านล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาด โดยเฉพาะเขื่อนกันทรายริมปากแม่น้ำฝั่งอ่าวไทยร่วม 25 จุด จนเกิดปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง เมื่อเกิดปัญหาขึ้น หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบโครงการกลับได้สร้างเขื่อนกันคลื่นขึ้นมาแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยแก้ไขแล้วยังทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาคือ ชายฝั่งได้พังทลายออกไปอย่างต่อเนื่อง จนเป็นความเสียหายใหญ่หลวงต่อบ้านเรือน ที่ทำกิน แหล่งท่องเที่ยว สาธารณูปโภค รวมทั้งระบบนิเวศชายฝั่งที่มีส่วนสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวประมง

จนนำมาสู่การฟ้องศาลปกครองสงขลาไปแล้ว เพื่อเรียกร้องให้จำเลยคือ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องไปเมื่อต้นปี 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาคดี

กรณีแรก นพ.อนันต์ บุญโสภณ แกนนำกลุ่มศึกษาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สงขลา ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อนกันทรายปากคลองสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ได้ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี โดยระบุว่า ตนมีที่ดินริมทะเลอยู่ที่ ม.7 บ้านบ่อโชน ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ได้รับความเสียหายในกรณีนี้ 2 แปลง ประกอบด้วย

แปลงที่ 1 โฉนดเลขที่ 38618 มีพื้นที่ 3 งาน 41 ตารางวา ซึ่งตนได้ครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมเมื่อ 23 เมษายน 2536 และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเมื่อ 23 พฤษภาคม 2543 ปัจจุบันที่ดินผืนนี้ถูกใช้ประกอบธุรกิจที่พักผ่อนหย่อนใจให้แก่นักท่องเที่ยว และแปลงที่ 2 โฉนดที่ดินเลขที่ 38620 ออกให้เมื่อ 23 พฤษภาคม 2543 มีพื้นที่ 15 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ที่ดินทั้ง 2 แปลงนี้ ตนได้ร่วมซื้อมาในราคาไร่ละ 300,000 บาท ราคาในขณะนั้น ตารางวาละ 750 บาท

“ปี 2541 กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นติดกับที่ดินแปลงที่ 1 ก่อให้เกิดการพังทลายของชายหาดและที่ดินแปลงนี้เป็นบริเวณกว้าง จากนั้นการพังทลายได้ลุกลามจนถึงที่ดินแปลงที่ 2 ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินทั้งสองแปลงได้ดังเดิม และยังสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตตามปกติ”

นพ.อนันต์ ระบุว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นประกอบด้วยมูลค่าส่วนต่างๆ 4 ส่วนคือ ความเสียหายในที่ดินแปลงที่ 1 โฉนดที่ดินเลขที่ 38618 จากการสำรวจและวัดเนื้อที่เมื่อ 10 ธันวาคม 2550 โดย รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า พื้นดินโฉนดเลขที่ 38618 ทางทิศเหนือใกล้ชายทะเลติดกับเขื่อนกันคลื่นของกรมการขนส่งทางน้ำฯ ถูกกัดเซาะสูญหายไปเป็นพื้นที่ 0.35 ไร่ หรือ 140 ตารางวา คิดเป็นเงิน 105,000 บาท และอาคารสำหรับให้นักท่องเที่ยวใช้อาบน้ำเสียหาย 1 หลัง เป็นเงิน 50,000 บาท นอกจากนี้ชายหาด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สวยงามของพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวก็ถูกกัดเซาะเสียหายไปด้วยเป็นจำนวนมาก

ความเสียหายในที่ดินแปลงที่ 2 โฉนดเลขที่ 38620 ซึ่งอยู่ห่างจากโฉนดเลขที่ 38618 ไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทาง 75 เมตร จากการตรวจวัดเมื่อ 25 ธันวาคม 2550 พบว่าถูกกัดเซาะสูญหายไป 2.66 ไร่ หรือ 1,064 ตารางวา คิดเป็นเงิน 798,000 บาท นอกจากนี้ชายหาดซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สวยงามของพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวก็ถูกกัดเซาะเสียหายไปด้วยเป็นจำนวนมากเช่นกัน

ด้านความเสียหายต่อวิถีชีวิต เนื่องจากการสูญเสียชายหาดเพื่อนันทนาการ นพ.อนันต์ระบุว่า หาดทรายที่อยู่ติดที่ดินของตนทั้ง 2 แปลง นอกจากให้ประโยชน์ต่อการเป็นที่พักผ่อนของตนและครอบครัวแล้ว ยังเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเช่าพักและจัดประชุมในที่ดินของตน รวมทั้งยังเป็นแหล่งนันทนาการของคนในชุมชน ต.สะกอม มาช้านาน ทำให้เยาวชนในชุมชนมีสุขภาพดีห่างไกลยาเสพติด

การสูญเสียชายหาดทำให้เสียโอกาสในด้านการใช้พื้นที่ เพื่อนันทนาการในชีวิตประจำวันไป ปัจจุบันตนและครอบครัวต้องเดินทางไปพักผ่อนและใช้ประโยชน์ที่อื่นแทน ทำให้เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ความเสียหายเนื่องจากการเสียโอกาสการใช้ชายหาดเพื่อนันทนาการ ส่งผลต่อธุรกิจการให้บริการเช่าพัก คิดเป็นมูลค่าเดือนละ 21,000 บาท หรือปีละ 252,000 บาท ตลอดระยะเวลา 9 ปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 2,268,000 บาท

“ค่าความเสียหายที่คำนวณได้นี้เป็นค่าต่ำสุดของมูลค่าของการเสียโอกาสในการดำรงชีวิต เนื่องจากสูญเสียชายหาดเพื่อการนันทนาการที่ตนต้องได้รับ ยังไม่นับรวมการเสียโอกาสของการเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของตนและครอบครัว และความรู้สึกทางจิตใจที่เสียไปด้วย”

นอกจากนี้ยังมีความเสียหายด้านการรักษาไว้ให้เป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน นพ.อนันต์ ระบุว่า นอกจากชายหาดจะเป็นแหล่งประกอบอาชีพและแหล่งนันทนาการแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศตามธรรมชาติ เป็นสถานที่ซึ่งชุมชนใช้ในการประกอบกิจกรรมตามจารีตประเพณีต่างๆ และที่สำคัญคือชายหาดทำหน้าที่เป็นกำแพงกันคลื่นตามธรรมชาติ โดยทำหน้าที่ดูดซับพลังงานที่เคลื่อนเข้าสู่ฝั่งให้หมดไปก่อนถึงฝั่ง ทำให้บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่งปลอดภัยจากคลื่นลม การสูญเสียหาดทรายธรรมชาติไป จึงเป็นความสูญเสียมรดกล้ำค่าที่สุดที่ควรตกทอดถึงลูกหลาน ความสูญเสียนี้นำมาซึ่งความเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ยากที่จะมีสิ่งใดทดแทนได้

“เป็นที่ทราบกันดีว่า ความสมดุลของหาดทรายเกิดจากการเคลื่อนที่ของทรายชายฝั่งจำนวนมาก ที่ทับถมทดแทนกันอย่างต่อเนื่อง จากการพัดพาโดยคลื่นและลม ซึ่งจากการประมาณอัตราการเคลื่อนที่ของทรายชายฝั่ง จ.สงขลา พบว่าอยู่ในอัตรามากกว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อรักษาชายหาดสะกอมไว้เป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน ต้องนำทรายในปริมาณเดียวกันนี้มาทดแทนส่วนที่ขาดหายไปจากผลกระทบ ซึ่งเกิดจากเขื่อนกันทรายและคลื่นปากคลองสะกอม มูลค่าของหาดทรายที่ธรรมชาติสรรค์สร้างขึ้น สามารถประมาณได้จากต้นทุนทั้งหมดที่ต้องใช้ในการฟื้นฟูหาดทรายให้กลับคืนดังเดิม นั่นคือมูลค่าของทรายที่มาทับถมเป็นหาดในแต่ละปี ซึ่งปัจจุบันราคาทรายต่ำสุดประมาณลูกบาศก์เมตรละ210 บาท ดังนั้นมูลค่าต่ำสุดของชายหาดสะกอมที่ลูกหลานควรจะได้รับเป็นมรดก จะมีมูลค่าเท่ากับ 21,000,000 บาทต่อปี ระยะเวลา 9 ปี เท่ากับ 189 ล้านบาท”

สรุปมูลค่าความเสียหายที่ครอบคลุมทั้งกรณีที่ดิน วิถีการดำรงชีวิตเนื่องจากการสูญเสียชายหาดเพื่อการนันทนาการ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งส่วนตัวและธุรกิจ และความเสียหายด้านการรักษาไว้ให้เป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลาน ในระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมารวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 192,221,000 บาท
 ภาพถ่ายทางดาวเทียมของกรมพัฒนาที่ดิน เมื่อ พ.ศ.2544 ภายหลังมีการสร้างเขื่อนกันทรายบริเวณปากคลองสะกอม ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงทางทิศเหนือของเขื่อน
นอกจากนี้แล้วยังมีกลุ่มชาวบ้าน ประกอบด้วย นายสาลี มะประสิทธิ์ นายเจะหมัด สังข์แก้ว และนายดลรอหมาน โต๊ะกาหวี ทั้งหมดเป็นชาวบ้านในชุมชนบ้านบ่อโชนและบ้านโคกสัก ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ก็ได้ยื่นฟ้องกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี และอธิบดีกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ในข้อกล่าวหา “หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย” มีสาระสำคัญในการฟ้องคดี คือ

ผู้ฟ้องทั้ง 3 เป็นชาวบ้านในชุมชนบ้านบ่อโชนและบ้านโคกสัก ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งใช้ประโยชน์จากชายหาดสะกอม ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของกรมการขนส่งทางน้ำฯ ที่อนุญาตให้สร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นบริเวณปากคลองสะกอม ซึ่งผลจากการสร้างสิ่งก่อสร้างดังกล่าว ทำให้การประกอบอาชีพเสียหาย ที่ดินและทรัพย์สินอื่นๆ ของผู้ร้อง ซึ่งตั้งอยู่บนชายฝั่งริมหาดถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงจนพังทลายลง และยังคงลุกลามต่อไปไม่มีที่สิ้นสุดจนถึงปัจจุบัน

ลำดับความเป็นมาของปัญหา

ในปี 2540-2541 กรมเจ้าท่า (ปัจจุบันคือ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี) ได้ก่อสร้างเขื่อนกันทรายปากคลองสะกอม และสร้างเขื่อนกันคลื่นอีก 4 ตัว โดยวางเรียงเข้าหาฝั่ง ซึ่งการก่อสร้างโครงสร้างรุกล้ำชายฝั่งเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชายหาดและฝั่งของ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชายฝั่งอ่าวไทยที่มีกระแสน้ำชายฝั่งไหลเวียนสุทธิขึ้นไปทางทิศเหนือ

การสร้างโครงสร้างรุกล้ำชายฝั่งลงไป เท่ากับเป็นการเพิ่มสิ่งกีดขวางกระแสน้ำและการเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่ง รวมทั้งทำให้กระแสน้ำเกิดเปลี่ยนทิศทาง และเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง เนื่องจากชายฝั่งบางพื้นที่ขาดตะกอนไปหล่อเลี้ยงและปรับตัวให้เข้าสู่สมดุลใหม่ ดังนั้น ทันทีที่สร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นเสร็จ ชายฝั่งของบ้านบ่อโชนถูกกัดเซาะหายไปกว่า 10 เมตร และปัจจุบันนี้พังทลายลึกกว่า 80 เมตร เป็นระยะทางยาวมากกว่า 3 กิโลเมตรและยังคงพังทลายต่อไปไม่สิ้นสุด

การก่อสร้างเขื่อนกันทรายและเขื่อนกันคลื่นชายฝั่งสะกอม ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและผลกระทบต่อความรู้สึกด้านจิตใจของผู้ฟ้อง ซึ่งเป็นชาวบ้านในชุมชนบ้านบ่อโชนและบ้านโคกสัก ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากชายหาดสะกอม ดังนี้

1. กระทบต่อการประกอบอาชีพ คือ ผู้ฟ้องเป็นผู้มีอาชีพทำประมงพื้นบ้าน โดยใช้เรือประมงขนาดเล็ก และใช้บริเวณชายหาดดังกล่าวเป็นแหล่งที่พักจอดเรือ นอกจากนี้ในบริเวณชายหาดดังกล่าว ยังเป็นพื้นที่ที่ผู้ฟ้องเก็บหอยเสียบและสัตว์น้ำอื่นๆ เพื่อนำไปเลี้ยงชีพ และรุนกุ้งเคยเพื่อนำไปขายร่วมกับสัตว์น้ำต่างๆ อีกด้วย เมื่อชายหาดพังทลายไปทำให้ผู้ร้องไม่สามารถใช้บริเวณดังกล่าว ประกอบอาชีพประมงและอาชีพเก็บหอยเสียบและกุ้งเคยไปขายเพื่อเลี้ยงชีพได้ดังเดิม ทำให้ผู้ฟ้องขาดรายได้จากการประกอบอาชีพประมง เก็บหอยเสียบและกุ้งเคยเพื่อขายเลี้ยงชีพ รวม 3 คนประมาณเดือนละ 30,000 บาท

2. กระทบต่อการใช้ประโยชน์ในบริเวณชายหาดสะกอม คือ ก่อนมีการสร้างเขื่อน ผู้ฟ้องสามารถใช้พื้นที่บริเวณชายหาดสะกอมเป็นเส้นทางสัญจรไปมาเพื่อติดต่อระหว่างหมู่บ้านได้โดยอิสระ เมื่อชายหาดสะกอมถูกทำลายลงจึงต้องเดินทางสัญจรบนเส้นทางอื่นแทน ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ระยะทางในการหาจับสัตว์น้ำก็ไกลขึ้น และไม่สามารถใช้ชายหาดเดิมเป็นที่จอดเรือได้ ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นรวม 3 คน ประมาณเดือนละ 3,500 บาท

3. กระทบต่อระบบนิเวศหาดทราย อันเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล ปูลม หนอนทรายทะเล ชายฝั่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมงดาทะเล ปลาทรายและปลากระบอก และเป็นแหล่งอาหารของนกที่อพยพมาจากซีกโลกเหนือ ดังนั้นการทำลายชายหาดจึงเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของบรรดาสัตว์และพืชทะเลและทำลายห่วงโซ่อาหารของนกที่อาศัยปลาทะเลเป็นอาหารที่สำคัญ

นอกจากนี้ ชายหาดยังทำหน้าที่หลักในการป้องกันคลื่น มิให้ซัดเข้าทำลายผืนดินบนฝั่ง และในขณะเดียวกันชายหาดก็พัฒนากลายเป็นผืนแผ่นดินให้ได้อยู่อาศัยต่อไป เพราะเหตุว่าตะกอนดินที่ไหลจากแม่น้ำลงสู่ทะเลจะถูกคลื่นพัดพามาทับถมบนชายหาดและพัฒนาเป็นแผ่นดินในที่สุด

รวมมูลค่าความเสียหายที่ตัวแทนชาวบ้านทั้ง 3 รายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กรณีได้รับผลกระทบต่อการประกอบอาชีพตลอดระยะเวลา 9 ปี เท่ากับ 3,618,000 บาท รวมกับกรณีของ นพ.อนันต์ เท่ากับ 195,839,000 บาท

ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของที่ปรึกษาทางกฎหมายของผู้ฟ้องทั้ง 2 กรณี ระบุว่า การฟ้องร้องของผู้ได้รับความเสียหายจากการพังทลายของชายฝั่งอันเกิดจากสิ่งปลูกสร้างริมหาด ซึ่งเป็นโครงการของหน่วยงานรัฐ ถือเป็นกรณีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย

การฟ้องเป็นไปตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 60 ที่บัญญัติไว้ที่ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล ให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น ซึ่งผลการตัดสินของศาลจะเป็นบรรทัดฐานให้แก่หน่วยงานรัฐ และสังคมในการจัดการและรักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืนต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น