xs
xsm
sm
md
lg

กางผลวิจัยฝ่ามายาคติ‘โลกร้อน’ - ชี้ฝีมือ”มนุษย์”ตัวการทำลายชายฝั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชายหาดปากพนัง 2 ภายหลังมีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายปากคลองพังกาด (ในวงกลม) ส่งผลให้พื้นที่ชายหาดด้านเหนือของเขื่อนถูกคลื่นกัดเซาะได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนต้องมีการสร้างเขื่อนกันคลื่นมาป้องกันไว้
รายงาน 3 ตอนจบ-ชายฝั่งทะเลไทยพินาศฝีมือใคร (จบ)

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
– ฝ่าหมอกควันทางวิชาการที่อ้างภาวะ “โลกร้อน” เป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤตคลื่นกลืนกินแผ่นดินชายฝั่ง ซึ่งยังความสูญเสียไปแล้วมูลค่าหลายล้านล้านบาท อีกทั้งยังสร้างความตื่นตระหนกว่าค่อนแผ่นดินไทยจะจมไปนอนอยู่ใต้ท้องทะเล เหลือไว้แต่เพียงพื้นที่ในภาคเหนือเท่านั้น เผยมีผลวิจัยของนักวิชาการหลายสำนัก ทั้งไทยและเทศ อีกทั้งสอดรับกับนักสมุทรศาสตร์รั้ว มอ.หาดใหญ่ ที่ออกมาชี้ชัดว่า แท้จริงแล้ว “สิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาด” จากฝีมือรัฐ คือตัวการสำคัญที่ก่อมหันตภัยต่อแผ่นดินชายฝั่งทั่วไทย

จากข้อมูลทางวิชาการที่ระบุว่า ช่วง 30 ปีมานี้ ประเทศไทยต้องสูญเสียผืนแผ่นดินไปกับปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งทะเลไปแล้วกว่า 1 แสนไร่ คิดเป็นเฉพาะมูลค่าที่ดินที่เสียหายไปราว 1 แสนล้านบาท ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์กำลังศึกษาวิจัยหามูลค่าความเสียหายที่แท้จริงให้ครอบคลุมในทุกๆ ด้านอยู่ในเวลานี้ โดยใช้ทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับและยกกรณีที่เกิดกับต่างประเทศมาเปรียบเทียบ ซึ่งมูลค่าความเสียหายอาจเพิ่มสูงขึ้นได้เป็นนับหลายล้านล้านบาท ตามที่ “ผู้จัดการายวัน” ได้นำเสนอไปแล้วนั้น

เกี่ยวกับปรากฏคลื่นกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นนี้ ภาวะวิกฤตโลกร้อนที่กำลังเป็นที่ตื่นตระหนกไปทั้งโลกได้ถูกนำมาพูดถึงอย่างเคร่งเครียดในหลายๆ เวที ที่ผ่านมาถึงขั้นสร้างความหวาดวิตกให้กับคนไทยไม่น้อยว่า แผ่นดินทั้งหมดของภาคใต้ ภาคกลาง ตะวันออกและบางส่วนของภาคอีสานจะจมไปอยู่ใต้ท้องทะเลในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ จนเกิดปรากฏการณ์เสมือนยุดตื่นทองที่ผู้คนแห่ไปหาซื้อที่ดินเพื่อตั้งรกรากใหม่ในภาคเหนือ โดยเฉพาะใน จ.เชียงใหม่และ จ.เชียงรายราคาที่ดินบูมแบบสุดๆ เพื่อเตรียมการสำหรับเผชิญกับภาวะน้ำท่วมโลก ตามคำพยากรณ์ของนักวิชาการบางคน

ยิ่งปัจจุบันสภาพชายหาดของประเทศไทยถูกกัดเซาะเสียหายอย่างรุนแรงและหนักหน่วง โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุม ก็ยิ่งเร้าให้ภาวะวิกฤตโลกร้อนกลายเป็นประเด็นที่สังคมกำลังหวาดวิตกยิ่งขึ้น มีการหยิบยกหัวข้อนี้ไปพูดคุยแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างออกมารณรงค์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดปัญหาโลกร้อน โดยนัยว่าชะลอการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ยับยั้งภาวะน้ำทะเลกลืนกินชายหาด ซึ่งสังคมส่วนหนึ่งกำลังหวั่นวิตกอย่างหนัก

แต่จากการศึกษาของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในเรื่องน้ำคือ ศ.ดร.สุภัทท์ วงศ์วิเศษสมใจ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ได้เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ระดับน้ำทะเลที่บริเวณสันดอนกรุงเทพฯ ที่ จ.สงขลา ที่เกาะหลัก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ย้อนหลังไปถึงปี 2483-2539 พบว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยลดลงด้วยอัตรา 0.36 มิลลิเมตรต่อปี หรือ 3.6 เซนติเมตรต่อ 100 ปี อีกทั้งเมื่อตรวจสอบข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา ทั้งอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝน พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2494-2546 ไม่พบการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดเช่นกัน

อีกทั้งยังมีงานวิจัยเมื่อปี 2521 ของนักวิชาการชื่อ Clark และคณะ จัดกลุ่มให้อ่าวไทย อินโดจีน เกาหลี และญี่ปุ่น อยู่ในกลุ่มที่ 4 ซึ่งได้รับอิทธิพลน้อยมากจากหิมะขั้วโลกละลายและการขยายตัวของน้ำทะเล ในทางกลับกันงานวิจัยของ Gregory เมื่อปี 2536 ชี้ว่า ปรากฏการณ์เอลนิโญและแผ่นดินไหวส่งผลให้น้ำทะเลในพื้นที่ดังกล่าวลดลง 0-50 มิลลิเมตรในห้วง 75 ปีด้วย
หลังจากมีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายปากคลองนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ทรายถูกคลื่นพัดพามาติดอยู่ด้านใต้เขื่อน ในขณะที่หาดทรายด้านเหนือของเขื่อนถูกคลื่นกัดเซาะเสียหายอย่างรุนแรง หน่วยงานรัฐกลับแก้ปัญหาด้วยการสร้างเขื่อนกันคลื่น แต่เขื่อนกันคลื่นก็กลับส่งผลกระทบต่อหาดทรายข้างเคียงอย่างต่อเนื่อง
“สิ่งที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทยในหลายๆ จุดนั้น เป็นเพราะการลดลงของโคลนตมและมวลทรายที่ไหลลงสู่ทะเล รวมทั้งการทรุดตัวของแผ่นดินเอง อันเนื่องจากการสูบน้ำบาดาลไปใช้ ไม่เกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเล” ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยของ ศ.ดร.สุภัทท์ วงศ์วิเศษสมใจ ระบุ

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจของ น.ส.บุศราศิริ ธนะ นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนำมาเปิดเผยบนเวทีสัมมนาวันสิ่งแวดล้อมโลก จัดโดยคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2550 ว่าด้วยปัญหาโลกร้อน : การปรับตัวให้เข้ากับสภาพโลกร้อนในปัจจุบัน พบว่า จากการประเมินค่าการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลจากแบบจำลองโดยใช้ค่าความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในศตวรรษที่ 20 เพื่อประมาณค่าการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในศตวรรษที่ 21 พบว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1900 ไปจนถึงปี ค.ศ.2100 ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 0.40 มิลลิเมตรเท่านั้น

ดังจะเห็นได้ว่าต่อจากนี้ไปอีกเกือบ 100 ปี น้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นไม่ถึง 1 เซนติเมตร ซึ่งแทบจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำและสิ่งแวดล้อมสรุปว่า ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากภาวะโลกร้อนน้อยมาก โดยเฉพาะเรื่องระดับน้ำ การที่น้ำทะเลจะท่วมพื้นที่ชายฝั่งของไทยในอนาคตค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

ฉะนั้นอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ชายฝั่งของไทยสูญหายไปกว่า 1 แสนไร่ และเกิดความเสียหายอย่างมหาศาลนับล้านล้านบาทในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เรื่องนี้นักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องภาวะโลกร้อน ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องน้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม นักสมุทรศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ตลอดจนหลายหน่วยงานรัฐล้วนทราบสาเหตุเป็นอย่างดีว่า ตัวเร่งที่สำคัญซึ่งนำมาสู่ความพินาศของชายหาดคือ “โครงสร้างทางวิศวกรรม” หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่รุกล้ำชายหาดและริมฝั่งทะเล

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการก่อสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรมรุกล้ำพื้นที่ชายหาดในหลายๆ จุดตลอดริมชายฝั่งทะเลไทย ทั้งภาคตะวันออก กรุงเทพฯ อ่าวไทยและอันดามัน เช่น เขื่อนปากแม่น้ำ รอดักทราย ท่าเรือ เขื่อนกันคลื่น และกำแพงกันคลื่น ซึ่งผลกระทบที่เกิดจากสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น กรณีคลื่นกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งด้านทิศเหนือของเขื่อนกันคลื่นที่สร้างโดย กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ที่บ้านบ่อโชน อ.จะนะ จ.สงขลา ขณะนี้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นมูลค่าเกือบ 200 ล้านบาทต่อศาลปกครองสงขลา และศาลก็ได้ประทับรับฟ้องไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้
เขื่อนกันคลื่นลักษณะนี้ถูกสร้างขึ้นในหลายจังหวัดตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย โดยใช้งบประมาณมหาศาล เพื่อแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งที่มีจุดเริ่มจากการสร้างเขื่อนและรอดักทรายริมปากแม่น้ำ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ นักสมุทรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ.หาดใหญ่ อธิบายถึงสาเหตุที่สิ่งปลูกสร้างทำให้ชายฝั่งทะเลไทยพังพินาศย่อยยับในหลายพื้นที่ว่า หาดทรายเป็นรอยต่อระหว่างแผ่นดินกับน้ำ ดูเผินๆ เหมือนมีสภาพกึ่งแข็งกึ่งเหลว ธรรมชาติกำหนดให้ทำหน้าที่หลักเป็นเสมือนกำแพงกันคลื่นตามธรรมชาติ ป้องกันชายฝั่งที่เป็นแผ่นดินให้ปลอดภัยจากคลื่นลมที่มากระทบ เมื่อฝั่งมีความมั่นคงต้นไม้ก็งอกงาม แผ่นดินก็ขยายใหญ่ขึ้น แผ่นดินภาคใต้ของไทยเกิดจากความสมดุลระหว่างคลื่นลมและตะกอนทรายที่ไหลมาจากแม่น้ำลำธารลงสู่ชายฝั่ง

“ขณะที่คลื่นในทะเลเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งนั้น เมื่อมันมาถึงชายหาด คลื่นก็เริ่มไถลขึ้นไปตามความลาดของหาดทราย โดยหอบเอาเม็ดทรายเล็กๆ ไปด้วย เมื่อมันหมดแรงลงก็จะกองเม็ดทรายเหล่านั้นทิ้งไว้บนชายหาด คลื่นทำหน้าที่เช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดเป็นกองทรายชายหาด และในที่สุดหาดทรายก็แผ่ขยายใหญ่ขึ้น”

รศ.ดร.สมบูรณ์ กล่าวว่า ในสถานะของความเป็นวัตถุกึ่งแข็งกึ่งเหลวของหาดทรายเหล่านี้ ทำให้มีความซับซ้อนมากทั้งในเชิงกายภาพและนิเวศวิทยา ซึ่งในทางวิชาการถูกจัดให้เป็นบริเวณที่เรียกว่า ช่วงรอยต่อหรือช่วงแปรเปลี่ยน (Transition Zone) นั่นคือไม่ควรที่ใครจะไปก่อความกระทบกระเทือน เพราะจะไม่สามารถอธิบายได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นจะลุกลามรุนแรงไปแค่ไหน

นักสมุทรศาสตร์จากรั้ว มอ.หาดใหญ่ กล่าวด้วยว่า กระแสน้ำที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของคลื่นและลมที่กระทำต่อชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชายฝั่งอยู่ในสภาวะสมดุลพลวัต (dynamic equilibrium) ซึ่งหมายถึงสมดุลบนความเปลี่ยนแปลง ดังนั้นในการพิจารณาเสถียรภาพของแนวชายฝั่งจึงต้องมองภาพโดยเฉลี่ย เช่น ต่อฤดูกาลหรือต่อปี เพื่อดูว่าแนวชายฝั่งยังคงเดิมหรือไม่

"การเปลี่ยนแปลงสภาพของชายฝั่งด้วยวิธีต่างๆ เช่น เขื่อนกันคลื่น เขื่อนกันทรายและคลื่น และคันดักทราย (รอ) สิ่งก่อสร้างต่างๆ เหล่านี้จะขัดขวางกระแสน้ำและการเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่ง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสมดุลพลวัต ทำให้ชายฝั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างใหม่ที่ไม่พึงประสงค์ สิ่งก่อสร้างชายฝั่งทำให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการของชายฝั่ง กล่าวคือ เปลี่ยนแปลงพลังงานและทิศทางคลื่นที่เข้าสู่ฝั่ง เปลี่ยนแปลงอัตรา และกระบวนการเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่ง"
แผ่นดินที่เม็ดทรายเคยเรียงตัวเป็นแนวยาวตามชายฝั่ง บ้านบ่อโชน อ.จะนะ จ.สงขลา วันนี้ถูกคลื่นกัดกินกลายเป็นเหวลึก
รศ.ดร.สมบูรณ์ ให้รายละเอียดส่วนประกอบที่สำคัญของชายฝั่งทะเลไว้ด้วยว่า ประกอบด้วย 1. สันทรายริมหาด ซึ่งไม่ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากคลื่น 2. ส่วนชายหาด ซึ่งเป็นบริเวณที่คลื่นไถลขึ้นไปถึง และ 3. ส่วนที่เป็นชายฝั่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่นับจากคลื่นเริ่มแตก โดยอาจมีสันดอนทรายใต้น้ำทอดตัวขนานกับชายฝั่งเป็นแนวยาว

"ช่วงมรสุมคลื่นลมจะแรงและจะกัดเซาะชายหาดออกไปเป็นแนวตรงดิ่ง เม็ดทรายจะถูกคลื่นหอบออกสู่ท้องทะเล แล้วเม็ดทรายเหล่านั้นก็จะถูกกวาดไปกองไว้กลายเป็นสันดอนใต้น้ำ แต่เมื่อลมสงบก็จะเกิดคลื่นที่ชาวบ้านเรียกกันว่า เดิ่ง หรือคลื่นหัวเดิ่ง ซึ่งจะพัดพาเม็ดทรายที่นำไปกองไว้เป็นสันทรายใต้น้ำกลับเข้าหาฝั่งอย่างช้าๆ และก่อตัวเป็นชายหาดดังเดิม" รศ.ดร.สมบูรณ์ กล่าวและเสริมว่า

คลื่นที่เคลื่อนเข้าหาชายฝั่งจะทำมุมเอียงกับแนวชายฝั่ง ก่อให้เกิดกระแสน้ำที่ไหลเลาะไปตามแนวชายฝั่งและพัดพาเม็ดทรายให้เคลื่อนที่ไปด้วย ถ้ากระแสน้ำนี้ถูกขัดขวางโดยสิ่งก่อสร้างรุกล้ำชายฝั่ง เช่น คันดักทราย เขื่อนกันทรายและคลื่น หรืออะไรก็ตามในลักษณะเดียวกันนี้ น้ำที่ไหลมาบรรจบกันก็จะเลี้ยวเบนออกสู่ทะเล เรียกว่า rip current ซึ่งอันตรายต่อการเล่นน้ำตามแนวชายหาด

“อย่างที่หาดเก้าเส้งและหาดสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา หรือกรณีการสร้างเขื่อนกันทรายและกันคลื่นที่บ้านนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นตัวอย่างการเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่งตามธรรมชาติที่สอนให้เรารู้ว่า ชายฝั่งตอนล่างของอ่าวไทยมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ตามแนวชายฝั่ง ดังนั้นการสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายฝั่งในบริเวณนี้ เช่น รอ เขื่อนกันทราย เขื่อนกันคลื่น กำแพงตลิ่ง เหล่านี้จะก่อให้เกิดการทับถมของทรายเป็นชายหาดใหม่ทางทิศใต้ และเกิดการกัดเซาะชายฝั่งจนแผ่นดินสูญหายในทางทิศเหนืออย่างรุนแรงและไม่มีที่สิ้นสุด”

รศ.ดร.สมบูรณ์ กล่าวเสริมด้วยว่า โครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างที่ทำขึ้นตลอดแนวชายฝั่งทะเลของไทยจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ 1. สิ่งปลูกสร้างที่ยื่นออกจากชายฝั่ง เช่น รอและเขื่อนกันทราย 2. สิ่งปลูกสร้างอยู่นอกชายฝั่ง เช่น เขื่อนกันคลื่น และ 3. สิ่งปลูกสร้างริมฝั่ง เช่น กำแพงตลิ่ง ซึ่งโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ทำให้ชายฝั่งทะเลเกิดการเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลมาจากการกัดเซาะของคลื่น

“นอกจากนั้น การพัฒนาเมือง เช่น การสร้างถนนและสาธารณูปโภคล่วงล้ำแนวชายฝั่ง สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้วยเช่นกัน เช่น การพังทลายของหาดชลาทัศน์ ที่บ้านเก้าเส้ง อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งเกิดจากกำแพงตลิ่ง โดยได้ส่งผลให้หาดทรายที่อยู่ด้านหน้าของกำแพงตลิ่งถูกพัดพาออกไปจนหมด เนื่องจากการสะท้อนกลับของคลื่นที่มากระทบกับกำแพงนั้น และจุดสิ้นสุดของกำแพงตลิ่งจะเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง” รศ.ดร.สมบูรณ์กล่าวตบท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น