xs
xsm
sm
md
lg

“ก.ทรัพยากรฯ”ดันแผนบูรณาการแก้”กัดเซาะชายฝั่ง”เข้า ครม.วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถนนบริเวณบ้านนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ถูกคลื่นกัดเซาะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง โดยมีสาเหตุมาจากการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากคลองนาทับ มากีดขวางการไหลของกระแสน้ำและตะกอนทรายชายหาด
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแผนบูรณาการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งทั่วประเทศเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.วันนี้ โดยมีการบูรณาการงบประมาณ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เน้นการป้องกันที่ใช้ศักยภาพของธรรมชาติมากกว่าโครงสร้างแข็งซึ่งลงทุนสูง ใช้กระบวนการธรรมชาติสู้กับธรรมชาติลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ให้ลุกลามต่อเนื่องไปยังพื้นที่ข้างเคียง โดยปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการแก้ปัญหาโดยขาดการวางแผนที่ดี มูลค่าความเสียหายที่ผ่านมาส่อสูงนับล้านล้านบาท

รศ.ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ นักสมุทรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งติดตามการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเลในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยถึงแผนการบูรณาการแก้ปัญหาว่า ได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ คือ จะมีการเสนอแผนการแก้ปัญหาทั้งหมดให้แก่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันนี้ (17 มิ.ย.) เพื่อให้ ครม.รับทราบสถานการณ์ว่าปัญหามีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สาเหตุหลักของการกัดเซาะชายฝั่งตามที่ “ผู้จัดการรายวัน” ได้เคยรายงานให้ทราบแล้วอย่างต่อเนื่องนั่นคือการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นริมปากแม่น้ำ ร่วม 70 จุดรอบอ่าวไทย จนเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งขึ้น หน่วยงานรัฐได้แก้ปัญหาด้วยการสร้างเขื่อนกันคลื่นกัดเซาะขึ้นมา แต่ปัญหาก็ไม่ได้ยุติกลับลุกลามออกไปเป็นลูกโซ่ ยากที่จะฟื้นฟูให้ชายหาดกลับมามีสภาพเช่นเดิม ซึ่งสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นตัวเร่งทำให้ชายหาดที่อยู่ในสภาวะบอบบางจากภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ต้องพังทลายลงในเวลาอันรวดเร็วด้วยการวางแผนแก้ปัญหาที่ผิดวิธีมาตั้งแต่ต้น

โดยการเสนอแผนแก้ปัญหาแบบบูรณาการครั้งนี้เพื่อให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านต่างๆ ประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการแผนการกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้การป้องกันและแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามยุทธศาสตร์

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดทำแผนการสร้างองค์ความรู้และเป็นเวทีให้ความรู้แก่ประชาชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่มีที่ตั้งอยู่ริมทะเล รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการป้องกัน เสริมสร้างฟื้นฟูแนวชายฝั่งด้วยระบบธรรมชาติ ครอบคลุมทั้งป่าชายเลนและชายหาด เพื่อลดความรุนแรงของคลื่นลม รวมทั้งแปลงแผนยุทธศาสตร์สู่ขั้นตอนการปฏิบัติงานในพื้นที่เป้าหมาย

กรมทรัพยากรธรณี ดูแลด้านการปรับปรุงและพัฒนาระบบฐานข้อมูลพื้นที่ชายฝั่งทะเลเพื่อใช้เป็นฐานการตัดสินใจสำหรับวางแผนและดำเนินการ

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้การสนับสนุนจังหวัดในพื้นที่ชายฝั่งทะเลให้บรรจุแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะไว้ในแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดและกำหนดให้จังหวัดเหล่านี้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหากัดเซาะชายหาดรวมทั้งป่าชายเลนเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม กำหนดมาตรการหยุดยั้ง หรือชะลอการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งกำหนดให้กิจกรรมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อแนวชายฝั่งต้องทำ EIA ก่อนการดำเนินการ

รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานระดับปฏิบัติการในการลงทุนด้านโครงการป้องกันการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ต้องมีการก่อสร้างทางวิศวกรรม เช่น กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม

กรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดชายฝั่งทะเล กระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณ บรรจุให้โครงการป้องกันและแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นโครงการตามแผนบูรณาการงบประมาณ โดยสำนักงบประมาณเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการและประเมินผลจากโครงการลงทุนป้องกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

รวมทั้งให้มีการเสริมสร้างบุคลากรในระบบราชการและการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและวิศวกรรมชายฝั่ง วิทยาการจัดการชายฝั่งแบบบูรณาการ โดยการให้ทุนการศึกษาทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้มีบุคลากรในวิชาชีพที่ขาดแคลนมาปฏิบัติราชการในงานราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค รวมทั้งส่วนท้องถิ่น ที่มีพื้นที่ในจังหวัดชายฝั่งทะเล และเกาะ

ส่วนวิธีการดำเนินงานประกอบด้วย การแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีการแบ่งโซนออกเป็นพื้นที่ชายฝั่งภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง การสร้างองค์ความรู้ การถ่ายทอดโดยกระบวนการสัมมนา ประชุมปรึกษาหารือ ร่วมกันจัดทำโครงการนำร่องทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชน องค์กรชุมชน และภาคเอกชน ด้วยการประสานทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันจนนำไปสู่การผลักดันให้เกิดมาตรการต่างๆ ในพื้นที่ที่จะชะลอการกัดเซาะชายฝั่ง

ในอนาคตหากจะเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะอนุกรรมการกำกับแผนหลักและแผนปฏิบัติภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และการสร้างกลไกเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการป้องกันและแก้ไขที่เป็นระบบและถูกหลักวิชาการโดยเป็นการป้องกันที่ใช้ศักยภาพของธรรมชาติมากกว่าโครงสร้างแข็งที่จะต้านกระแสคลื่นในทะเลซึ่งมีการลงทุนสูง เน้นกระบวนการธรรมชาติสู้กับธรรมชาติลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ให้ลุกลามต่อเนื่องไปยังพื้นที่ข้างเคียง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่อาจจะเกิดจากปัญหาโลกร้อนด้วย

ทั้งนี้ มีการประเมินความเสียหายจากปัญหากัดเซาะชายหาดประเทศไทยว่าอาจมีมูลค่าสูงนับล้านล้านบาท หากมีการคำนวณความเสียหายในทุกๆ ด้าน ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์

กำลังโหลดความคิดเห็น