xs
xsm
sm
md
lg

วิศวกรฯขน.รับ”เขื่อนกันคลื่น”ตัวการทำชายหาดวิบัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.มานะ ภัตรพาณิช วิศวกรจากบริษัท ซีสเปคตรัม จำกัด ซึ่งเป็นวิศวกรที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นให้แก่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – วิศวกรที่ปรึกษาของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ยอมรับ โครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและทรายปากแม่น้ำ เป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายหาดในหลายพื้นที่ ระบุแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ไม่สามารถให้คำตอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องสร้างเพราะความสะดวกในการเข้า – ออก ของเรือประมง เผยหากใช้เรือขุดทรายปากร่องน้ำจะใช้งบประมาณสูง ขณะที่ชาวบ้านหวั่นบ้านเรือนพังยืนยันไม่ให้รื้อ

ความคืบหน้าการแก้ปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งอ่าวไทย ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่โรงแรมรัชมังคลาพาวีเลียน อ.เมืองสงขลา กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่ อ.จะนะ และ อ.เมืองสงขลา กรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน มีคำสั่งให้รื้อเขื่อนกันคลื่นและทราย ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตะกอนทรายทับถมริมปากแม่น้ำ รวมทั้งเขื่อนกันคลื่นป้องกันการกัดเซาะชายหาด ที่สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวเนื่องจากเขื่อนริมปากแม่น้ำ แต่โครงสร้างทั้ง 2 แบบ กลับส่งผลกระทบทำให้ชายหาดในหลายพื้นที่ถูกคลื่นกัดเซาะเสียหายอย่างรุนแรง

ดร.มานะ ภัตรพาณิช วิศวกรจากบริษัท ซีสเปคตรัม จำกัด ซึ่งเป็นวิศวกรที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นให้แก่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กล่าวว่า กรมการขนส่งทางน้ำฯ เริ่มมีการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและทรายริมปากแม่น้ำต่างๆ ในอ่าวไทยตั้งแต่ปี 2525 โดยเริ่มจุดแรกที่ปากแม่น้ำระยอง โดยเหตุผลที่ต้องมีการสร้างเขื่อนกันคลื่นและทรายริมปากแม่น้ำ เนื่องจากในแต่ละปีคลื่นจะพัดพาตะกอนทรายมาทับถมริมปากแม่น้ำ ทำให้ชาวประมงนำเรือเข้า – ออก ได้อย่างลำบาก

การจะขุดตะกอนออกจากปากร่องน้ำต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ ชาวบ้านรอไม่ไหว การขุดต้องใช้งบประมาณครั้งละล้านกว่าบาทแต่กลับแก้ปัญหาได้ชั่วคราวไม่ยั่งยืน จึงหาแนวทางป้องกันอย่างถาวรด้วยการสร้างเขื่อนกันคลื่นและทรายขึ้นมา ซึ่งเป็นวิธีการที่ยอมรับกันทั่วโลก เช่น ที่ประเทศออสเตรเลีย มีการก่อสร้างเขื่อนลักษณะเดียวกันเป็นจำนวนมาก

“การสร้างเขื่อนมีผลกระทบตามมา คือ จุดที่ต้องยอมรับเป็นเรื่องธรรมดาเราไปสร้างเขื่อนดักไว้ มันก็มีปัญหากัดเซาะตามมาเป็นเรื่องปกติ แต่เราก็พยายามป้องกันซึ่งก็มีหลายวิธีที่ใช้ คือใช้โครงสร้างป้องกันแบบที่ทำในพื้นที่ ต.นาทับ (อ.จะนะ จ.สงขลา) แต่ในการศึกษาด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ไม่สามารถให้ความถูกต้องได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพียงแต่แสดงให้เห็นภาพรวม

สำหรับเขื่อนที่นาทับ กรมการขนส่งทางน้ำฯ ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษาเมื่อปี 2533 ถึง 2535 จากนั้นปี 2538 จ้างบริษัทซีเทค มาก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2540 เราทราบดีว่าจะมีปัญหากัดเซาะเกิดขึ้น เราใช้ข้อมูลที่มีในขณะนั้น แบบจำลองไม่ใช่เครื่องมือวิเศษที่จะบอกทุกอย่างได้” ดร.มานะ กล่าวและว่า

สาเหตุที่เกิดปัญหาคลื่นกัดเซาะชายหาดเนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมาพื้นที่อ่าวไทยมีพายุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้คลื่นแรงซัดชายฝั่งเสียหาย

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ก่อนหน้านี้ ดร.มานะ ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดพายุในอ่าวไทย พบว่าปี 2517 – 2538 เกิดพายุในอ่าวไทย 2-3 ครั้งต่อปี และข้อมูลในปี 2539 – 2549 พบว่ามีพายุเกิดขึ้นปีละ 1 ครั้งเท่านั้น

“เราต้องอย่าโทษเขื่อนอย่างเดียว เขื่อนก็มีผลด้วยแต่ไม่ใช่สาเหตุหลัก และเราก็พยายามแก้ปัญหากันอยู่ โดยเฉลี่ยเขื่อนกันทรายและคลื่นจะมีมูลค่าประมาณ 200 ล้านบาทต่อโครงการ ซึ่งจุดนี้รัฐบาลลงทุนไปเพื่อความอยู่ดีกินดีของชุมชน เมื่อมีคนร้องเรียนว่าเขื่อนกันคลื่นและทรายที่ปากน้ำนาทับ ทำให้ชายหาดเสียหายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็มาตรวจสอบ เรียกกรมการขนส่งทางน้ำฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งผู้ร้องไปให้ข้อมูลสุดท้ายก็ฟันธงว่า ให้รื้อแล้วซื้อเรือขุดทรายปากร่องน้ำแจกให้แก่ชุมชนไม่ใช่ให้รื้อเฉพาะที่นาทับแต่ให้รื้อที่อื่นออกหมดด้วย”
เขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณปากคลองนาทับ ที่สร้างยื่นออกไปในทะเล ต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่งตามมา เมื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอให้รื้อออก แต่พบว่า ชาวบ้านยืนยันไม่ให้รื้อ
ดร.มานะ กล่าวอีกว่า หากต้องรื้อเขื่อนกันคลื่นและทรายออกทั้งหมด แล้วกลับมาใช้วิธีการขุดทรายริมปากแม่น้ำเพื่อให้เรือประมงเข้า – ออก ได้สะดวก จะต้องใช้งบประมาณประกอบด้วย ค่าเรือขุดขนาดท่อ 12 นิ้ว ราคา 80 ล้านบาท ท่อขนาด 14 นิ้วราคา 150 ล้านบาท ค่าขุดลอกตกปีละ 3 ล้านบาท รวมทั้งต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลอีก 13 คน

“ลองคิดดูเรามีร่องน้ำทั่วประเทศหลายแห่งรัฐบาล จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อมาซื้อเรือขุดแจก หากรื้อเขื่อนชาวบ้านก็จะเดือดร้อน ตะกอนทรายจะกลับมาทับถมปากร่องน้ำชาวบ้านก็จะเดือดร้อนอีก”

นายนิวัติ หมานเจริญ ผู้ใหญ่บ้าน ม.8 บ้านบ่ออิฐ ต.เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา แสดงความเห็นว่า หากไม่มีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันคลื่นกัดเซาะชายฝั่งขึ้นมาแล้ว ชาวบ้านก็จะได้รับความเดือดร้อนเพราะมีบ้านเรือนตั้งอยู่ริมหาด

“คนที่สั่งให้รื้อรู้หรือไม่ว่า หากรื้อเขื่อนออกบ้านเรือนจะถูกคลื่นซัดพังไปกี่หลัง คนที่สั่งให้รื้อไม่ได้มาอาศัยอยู่ที่นี่ เมื่อมีการสร้างเขื่อนกันคลื่นกัดเซาะขึ้นมาแล้ว ชาวบ้านมั่นใจว่าชายหาดจะไม่พังและไม่ต้องการให้รื้อออก” นายนิวัติ กล่าว

นายพงศ์ศักดิ์ ไชยรัตน์ สมาชิก อบต.เกาะแต้ว อ.เมืองสงขลา กล่าวว่า ชาวบ้านบ่ออิฐอยู่กันอย่างสงบสุขมานานไม่ได้รับความเดือดร้อนแต่ปัจจุบันธรรมชาติกำลังรังแกเรา เราก็ต้องหาทางสู้และชาวบ้านเห็นด้วยที่จะให้เขื่อนกันคลื่นกัดเซาะชายหาดยังอยู่ต่อไป

ในขณะที่ตัวแทนชาวบ้าน ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมาตรการให้รื้อเขื่อนกันคลื่นทั้งหมดออกแต่ชาวบ้านยังต้องการเขื่อนเนื่องจากมีความสะดวกในการนำเรือเข้าออก แต่อาจมีปัญหาการกัดเซาะชายหาดบ้างแลกกับความสะดวกที่ชุมชนได้รับ

ด้านแหล่งข่าว ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ กล่าวว่า เข้าใจความรู้สึกของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งทะเลเป็นอย่างดี เนื่องจากถ้าไม่มีเขื่อนกันคลื่นกัดเซาะบ้านเรือนเขาก็จะถูกคลื่นซัดได้รับความเสียหาย แต่เราต้องไปดูที่สาเหตุว่าปัญหาการกัดเซาะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเกิดจากอะไร

งวันนี้วิศวกรที่ปรึกษาของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ก็ออกมายอมรับแล้วว่า การสร้างเขื่อนกันคลื่นและทรายริมปากแม่น้ำ ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะในพื้นที่ข้างเคียงเป็นปัญหาลูกโซ่ บ้านเรือนชาวบ้านได้รับความเสียหาย ระบบนิเวศถูกทำลาย ระบบสังคมก็ถูกทำลาย ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้แก้ปัญหา

“การแก้ปัญหาที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่า เขาใช้วิธีสร้างเขื่อนกันคลื่นกัดเซาะทั้งเขื่อนหินทิ้ง หรือกำแพงกันคลื่นซึ่งแก้ปัญหาได้ในจุดที่เขื่อนตั้งอยู่บ้านเรือนชาวบ้านปลอดภัย แต่ชายหาดจุดข้างเคียงก็ถูกกัดเซาะออกไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุดแม้จะรื้อออกก็ไม่ทำให้แก้ปัญหาได้ เมื่อเขายอมรับแบบนี้ก็เป็นเรื่องดี เพราะชาวบ้านที่เดือดร้อนสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หากต้องการ” แหล่งข่าวระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น