xs
xsm
sm
md
lg

"สามร้อยยอด"เตรียมขึ้นลิสต์แรมซาร์ไซต์แห่งที่ 11 ของประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไทยเป็นเจ้าภาพเตรียมความพร้อมการประชุมอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำเอเชีย ยกประเด็นโลกร้อน-ไข้หวัดนกร่วมหารือ และหวังขึ้นทะเบียนเขาสามร้อยยอดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งที่ 11 ของประเทศ พร้อมชี้การฟื้นฟูทะเลสาบซิลิกาของอินเดียเป็นกรณีศึกษาสำหรับทะเลสาบสงขลาของไทย ขณะที่นักวิชาการหวั่นป่าพรุถูกทำลายเพื่อขยายสวนปาล์ม

สืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (อนุสัญญาแรมซาร์) ครั้งที่ 35 ได้กำหนดให้มีการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 10 ระหว่าง 28 ต.ค.-4 พ.ย.51 ณ เมืองชางวอน สาธารณรัฐเกาหลี โดยเบื้องต้นเห็นชอบให้ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเตรียมความพร้อมของประเทศภาคีในภูมิภาคเอเชียระหว่าง 14 -18 ก.พ.51

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เผยว่า หัวข้อหลักที่จะมีการหารือในการประชุมเตรียมความพร้อมจะมี 2 ประเด็นด้วยกันคือ 1.บทบาทของพื้นที่ชุ่มน้ำต่อภาวะโลกร้อน และ 2.การระบาดของไข้หวัดนกซึ่งมีนกน้ำอพยพเป็นพาหะไปสู่นกประจำถิ่น โดยขณะนี้ได้ประเทศสมาชิกในเอเชียตอบรับการประชุมแล้ว 23 ประเทศ รวมยอดผู้ร่วมงานกว่า 200 คน

ปลัด ทส.เผยต่อไปว่า การประชุมยังจะมีพิธีมอบเกียรติบัตรแก่ประเทศสมาชิกซึ่งขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งใหม่ด้วย โดยไทยมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับเกียรติบัตรขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำให้กับพื้นที่กว่า 60,000 ไร่ของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นแรมซาร์ไซต์แห่งที่ 11 ของประเทศไทย ที่ถือว่าเป็นแห่งแรกของประเทศที่ตกลงร่วมกันอย่างลงตัวระหว่างชาวบ้านและราชการ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่ขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์แล้ว 10 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ดอนหอยหลอด จ.สมุทรสงคราม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย จ.เชียงราย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง จ.หนองคาย อุทยานแห่งชาติแหลมสน -ปากแม่น้ำกระบุรี -ปากคลองกะเปอร์ จ.ระนอง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี อุทยานแห่งชาติพังงา จ.พังงา

ควนขี้เสียนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จ.พัทลุง ปากแม่น้ำกระบี่ จ.กระบี่ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม -เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง -ปากน้ำตรัง จ.ตรัง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) จ.นราธิวาส โดยไทยจะขึ้นทะเบียนให้กุดทิง จ.หนองคายเป็นแรมซาร์ไซต์อีกแห่งต่อไป

นอกจากนั้น ดร.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ในการเยี่ยมชมทะเลสาบซิลิกา รัฐโอริสสา ประเทศอินเดีย ซึ่งได้รับรางวัลแรมซาร์อะวอร์ด 2545เมื่อเร็วๆ นี้ ยังทำให้เกิดความร่วมมือด้านการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำระหว่าง 2 ประเทศขึ้น ซึ่งในอดีตทะเลสาบแห่งนี้มีสภาพเสื่อมโทรมมากจนไม่สามารถจับปลาได้

อย่างไรก็ดี ทะเลสาบซิลิกาถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีลักษณะคล้ายทะเลสาบสงขลาของไทยที่ประกอบด้วยน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ดังนั้นจึงสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาในอนาคต

ทั้งนี้ อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือนุสัญญาแรมซาร์ เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาล ซึ่งกำหนดกรอบการทำงานสำหรับประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำและทรัพยากรในพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด

อนุสัญญาแรมซาร์ได้รับการรับรองครั้งแรกในปี 2514 มีผลบังคับใช้ในปี 2518 ปัจจุบันมีพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วโลกที่ขึ้นทะเบียนกับอนุสัญญานี้แล้วกว่า 1,400 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 750 ล้านล้านไร่ และวันที่ 2 ก.พ.ของทุกปีถือเป็นวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก

ขณะที่นางนิรวาน พิพิธสมบัติ นักวิชาการ 8 สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียป่าพรุตามธรรมชาติจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ทำให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก และยังเป็นปัจจัยทำให้เกิดไฟป่าที่ควบคุมได้ยาก เมื่อไฟดับแล้วยังทำให้ดินเปรี้ยว เพาะปลูกไม่ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น