xs
xsm
sm
md
lg

พิษไฟใต้ส่งผลให้เกิดนาร้างร่วม 6 แสนไร่ใน 3 จชต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปิยะ กิจถาวร ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสต.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสต.) เผยพบพื้นที่นาร้าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 600,00 ไร่ เร่งปรับปรุงปลูกปาล์มและข้าวพันธุ์พื้นเมือง พบมีพื้นที่ปลูกปาล์ม 400,000 ไร่

นายปิยะ กิจถาวร ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสต.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้นำเสนอผลงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) เรื่องศักยภาพและข้อจำกัดของการผลิตข้าวเพื่อความมั่นคงในจังหวัดปัตตานี

ทั้งนี้มาจากสาเหตุเกิดปัญหานาร้าง โดยในปัจจุบันมีพื้นที่นา จำนวน 323,786 ไร่ และ 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นนาร้าง หรือ จำนวน 129,514 ไร่ สาเหตุเพราะพืชเศรษฐกิจตัวอื่นให้ผลที่ดีกว่า ประกอบกับเกิดปัญหาน้ำท่วมนา ในที่สุดจึงเกิดการอพยพไปทำงานที่อื่นกัน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ให้ภาครัฐช่วยอุดหนุนปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่จำเป็น เช่น พันธุ์ข้าว ปุ๋ย รถแทรกเตอร์ เป็นต้น ให้แก่องค์กรชุมชน เพื่อเป็นการอุดหนุนปัจจัย และแบ่งเบาภาระต้นทุนการผลิตที่นับวันจะสูงขึ้น และยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้แก่ชาวนา และยังเป็นทุนส่งเสริมให้วัฒนธรรมข้าวของชาวนา ยังคงอยู่คู่ จ.ปัตตานี และพื้นที่ภาคใต้สืบไป

ที่สำคัญควรให้ความสำคัญกับพันธุ์ข้าวพื้นเมือง มีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาพันธุ์ข้าว พร้อมกับทุ่มชงงบประมาณอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการทำนาอินทรีย์ควบคู่กับการส่งเสริมให้มีการนำภูมิปัญหาชาวบ้านที่ใช้ได้ผลมาในพื้นที่ แล้วขยายผลให้ได้ในวงกว้าง

ขณะเดียวกันกระบวนการนโยบายและโครงการเกี่ยวกับข้าว ต้องได้รับการทบทวนทั้งกระบวนการและเนื้อหาและภาครัฐต้องทบทวนโครงการส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันและยางพาราในนาข้าว พร้อมกับเร่งวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกปาล์มน้ำมันและยางพาราในนาข้าวให้มากขึ้นและเร่งด่วน มีการประเมินผลดีและผลเสีย ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการ

“การทำนาของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีความจำเป็น เพราะเป็นเรื่องปากท้องและความมั่นคง ต้องมีการกระตุ้นเรื่องนี้ โดย ศอ.บต.ประสานกับหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ควรมีการพิจารณาพันธุ์ข้าวเชิงเศรษฐกิจ มีตลาดรองรับ”

ในขณะเดียวกัน สมาชิกสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สสต.) ได้นำเสนอในการส่งเสริมคือการผลิตข้าวพันธุ์เมล็ดมะเขือ สำหรับเลี้ยงนกเขาและสัตว์ปีกราคาสูง

โดยเฉพาะข้าวพันธุ์เมล็ดมะเขือ ความเป็นมาคือเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมือง มี 3 ชนิด เมล็ดสีทอง สีขาว และสีแดง ลักษณะเมล็ดสั้นกลมคล้ายข้าวญี่ปุ่น ต้นข้าวมีความสูง 30-35 ซม. ให้ผลผลิตต่ำ ซึ่งทางจังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส มีผลผลิตอยู่ระหว่าง 10-20 ตัน / ปี ไม่เพียงพอต่อการบริโภคของสัตว์ปีกราคาสูง

วิธีการปลูก ข้าวเมล็ดพันธุ์มะเขือ เป็นข้าวเบา อายุ 90 วัน ไม่ชอบน้ำมาก การเพาะปลูกสามารถทำได้โดยการดำนา และข้าวไร่ หรือปลูกในบริเวณที่มีน้ำเพาะปลูกสมบูรณ์ ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่า 200 กก. แต่สามารถส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกในครัวเรือนได้ ส่วนการดูแล เป็นข้าวพื้นเมือง จึงมีโครงสร้างแข็งแกร่ง ต้านทานต่อโรค เชื้อรา โรคไวรัส จะมีโรคอยู่บ้าง เช่น โรคใบไหม้ และแมลงรบกวน ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับการปลูกข้าวโดยทั่วไปอยู่แล้ว

สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส พบว่ามีพื้นที่นาร้าง จำนวน 591,343 ไร่ และสำนักงานพัฒนาที่ดิน ได้ทำแผนปรับปรุงพื้นที่นาร้าง ที่สามารถนำมาพัฒนาปลูกปาล์มน้ำมันได้ จำนวน 435,556 ไร่ จึงมีพื้นที่นาร้างคงเหลือ 155,787 ไร่ โดยปัตตานีมากที่สุด รองลงมาคือ ยะลา และสุดท้าย นราธิวาส

เนื้อที่ที่เหลือเหล่านี้สามารถนำมาปลูกข้าวเมล็ดมะเขือให้ได้ 5 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ กว่า 7,000 ไร่ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรมีรายได้เสริม และสามารถสนองความต้องการของตลาดผู้เลี้ยงนกเขา และสัตว์ปีกราคาสูง โดยไม่ต้องสั่งซื้อจากภาคกลาง อีกทั้งยังสามารถส่งขายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านได้

อนึ่ง โครงการฟื้นฟู “นาร้าง” ได้มีมติเห็นชอบของสสต. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาประประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ ศอ.บต. เพื่อดำเนินการอนุมัติโครงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น