ทีมนักอนุรักษ์และนักสำรวจทะเลในบราซิลเผยการค้นพบแนวปะการังแห่งใหม่ ทั้งใหญ่และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากชนิด คาดว่าใหญ่กว่าแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ในขณะนี้ถึง 2 เท่า
ทีมนักวิจัยจากองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติหรือซีไอ (Conservation International: CI), เฟเดอรัล ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ เอสปีรีตูซันตู (Federal University of Espírito Santo) และ เฟเดอรัล ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ บาเยีย (Federal University of Bahia) ประเทศบราซิล เปิดเผยว่า พวกเขาพบแนวปะการังแห่งใหม่ อยู่ใกล้กับฝั่งทะเลของประเทศบราซิล และคาดว่าน่าจะใหญ่ที่สุดในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ และใหญ่กว่าแนวปะการัง อาบรอลยอส แบงก์ (Abrolhos Bank) ถึง 2 เท่า
"พวกเราได้ข้อมูลมาจากชาวประมงว่า ยังมีแนวประการังอื่นที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้จักอยู่ในบริเวณดังกล่าว และเมื่อคำนวณขนาดของแนวปะการังแล้วก็น่าอัศจรรย์ใจมาก เพราะว่าเป็นแนวปะการังที่ใหญ่มากๆ และยังเป็นที่อยู่อาศัยของชีวิตในทะเลมากมายด้วย" โรดริโก เดอ มูรา (Rodrigo de Moura) ผู้เชี่ยวชาญทางทะเลขององค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ ประเทศบราซิล กล่าว
ทั้งนี้ ไซน์เดลีรายงานว่า อาบรอลยอส แบงก์ เป็นบริเวณที่มีแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดและอุดมสมบูรณ์ที่สุด ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ และได้รับการจัดให้เป็นแนวปะการังที่มีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องจากว่าเป็นแหล่งอาศัยของมีสิ่งมีชีวิตในทะเลจำนวนมากมากยมหาศาล และในจำนวนนี้ก็มีสิ่งมีชีวิตชนิดหลากหลายชนิดที่พบเฉพาะในบราซิลเท่านั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นปะการังอ่อน, หอย และปลาชนิดต่างๆ
รวมทั้งปะการังสกุล มุสซิสมิเลีย (Mussismilia) ซึ่งเป็นปะการังที่มีรูปร่างแปลกตา และเป็นลักษณะเด่นของแนวปะการังบริเวณดังกล่าว ทั้งยังเป็นสกุลของปะการังโบราณ ที่นับอายุย้อนกลับไปได้ราวช่วงยุคเทอร์เชียรี (Tertiary Period) หรือเป็นยุคเริ่มต้นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งปะการังสกุลนี้ไม่พบในบริเวณอื่นๆ ของมหาสมุทรแอตแลนติกอีกแล้ว
นักวิจัยได้วิเคราะห์แนวปะการังที่เพิ่งพบใหม่นี้ โดยใช้อุปกรณ์สำรวจพื้นมหาสมุทรที่เรียกว่า ไซด์ สแกน โซนาร์ (side scan sonar ) ที่ใช้ในการสร้างภาพ 3 มิติและทำแผนที่พื้นใต้ท้องทะเล พบว่าแนวปะการังดังกล่าวอยู่ห่างออกไปจากชายฝั่งบราซิลตั้งแต่ประมาณ 15-200 กิโลเมตร ที่ความลึกประมาณ 20-73 เมตร
ทีมวิจัยระบุว่า แนวปะการังแห่งนี้อยู่ลึกมากและไม่ค่อยมีใครเข้าถึงได้ จึงยังคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้มาก บางทีอาจมีประชากรสัตว์ทะเลอาศัยอยู่หนาแน่นมากกว่าบริเวณแนวปะการังน้ำตื้นทั่วไปถึง 30 เท่า ซึ่งนับว่าเป็นข่าวดีมากๆ
แต่ข่าวร้ายที่ตามมาก็คือว่า ทรัพยากรในทะเลแถบนี้มีจำนวนเปอร์เซนต์น้อยมากที่จะได้รับการปกป้อง ดูแลรักษาอย่างดี แม้ว่าจะถูกคุกคามจากคนในท้องถิ่นเองและจากผู้อื่น เช่น การทำประมงที่มากเกินควร การพัฒนาชายฝั่งรูปแบบต่างๆ การขุดเจาะน้ำมัน รวมถึงภาวะโลกร้อน
ต่อจากนี้นักวิจัยวางแผนสำรวจแนวปะการังแห่งใหม่และระบบนิเวศบริเวณดังกล่าวว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร และมีสิ่งมีชีวิตชนิดใดอาศัยอยู่บ้าง พร้อมกับดำเนินการเพื่อหาทางอนุรักษ์แนวปะการังของบราซิลทั้งที่พบใหม่และของเดิมที่มีอยู่แล้วให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เกิดขึ้นระหว่างการประชุมนานาชาติด้านปะการัง (International Coral Reef Symposium) ที่เมืองฟอร์ต ลอเดอร์เดล รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 9 ก.ค.51 ที่ผ่านมา