ทุกคนกำลังตื่นตัวเรื่องพลังงาน ภาคเอกชนไทยก็ไม่ได้อยู่เฉย แถมหลายรายยังออกตัวไปไกลหลายช่วงตัวแล้ว โดยปลายเดือนมิถุนาฯ ที่ผ่าน ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมก๊วนกรีนทริป "โครงการพลังงานเขียวเยียวยาโลก" เยี่ยมชมผู้ประกอบการไทยที่ตอนนี้ไม่ได้นั่งรอแต่ความช่วยเหลือจากรัฐ แต่เดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วย
สำหรับกิจกรรม "โครงการพลังงานเขียวเยียวยาโลก" ครั้งนี้เป็นหนึ่งในโครงการ 1 องศา: รวมพลังลดวิกฤติโลกร้อน จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เพื่อยกปัญหาโลกร้อนและการพัฒนาพลังงานทางเลือกสู่ประเด็นสาธารณะ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยร่วมกันอนุรักษ์พลังงานและมีส่วนพัฒนาพลังงานทางเลือกมากขึ้น
เยี่ยมชม “พีทีทีอีพี 1” แหล่งผลิตน้ำมันดิบสัญชาติไทย
กรีนทริปที่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์เข้าร่วมครั้งนี้เริ่มจากการบุกไปชมแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่โครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมขนาดเล็ก ณ โครงการสุพรรณบุรี (พีทีทีอีพี 1) ของ ปตท.สผ.ผู้แสวงหาแหล่งน้ำมันดิบสัญชาติไทย ซึ่งถือเป็นโครงการขุดเจาะน้ำมันโครงการแรกที่ดำเนินการโดยคนไทย 100%
นายกิตติศักดิ์ หิรัญญะประทีป ผู้จัดการโครงการพีทีทีอีพี 1 กล่าวว่า ตอนนี้โครงการสุพรรณบุรีมีกำลังการผลิตน้ำมันรวมกัน 450-470 บาร์เรลต่อวัน จากแหล่งผลิต 3 แห่งคือ แหล่งกำแพงแสน อู่ทอง และสังฆจายที่มีอาณาเขตติดต่อกันใน จ.สุพรรณบุรี และ จ.นครปฐม โดยเจาะลงไปใต้พื้นดินลึก 1,500 เมตร และใช้ “หัวม้า” หรือดองกี้ปั้มดันน้ำมันดิบขึ้นสู่ผิวดิน
ผู้จัดการโครงการทีพีพีอีพี 1 เท้าความว่า เริ่มแรกทีเดียว ปตท.สผ.ได้เข้าซื้อแปลงสัมปทานแห่งนี้ต่อจากบริษัท บีพี ปิโตรเลียม ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ประเทศไทย) และผลิตน้ำมันดิบป้อนเข้าสู่ระบบตั้งแต่ปี 2536 พบว่ามีปริมาณน้ำมันดิบใต้ดินถึง 5.12 ล้านบาร์เรล โดยปัจจุบันได้นำออกใช้แล้ว 4.578 ล้านบาร์เรล จึงเหลือเพียง 5 แสนบาร์เรล ซึ่งดูไม่มากนัก แต่ก็ขุดใช้ได้อีกถึง 5 ปีทีเดียว
“ที่นี่ถือว่าผลิตน้ำมันเข้าระบบได้น้อยมากๆ แค่ 450-470 บาร์เรลต่อวัน เทียบไม่ได้กับความต้องการจริงของคนไทยที่ใช้น้ำมันดิบวันละ 2 แสนบาร์เรล ถ้ารวมแหล่งผลิตของไทยทั้งบนบกและในทะเลก็ยังสนองความต้องการได้อย่างมากแค่ 10-20% แต่อีก 80% เราต้องนำเข้า” นายกิตติศักดิ์ แสดงความกังวลคล้ายจะวิงวอนให้คนไทยเห็นคุณค่าของพลังงานมากขึ้น
ผู้จัดการโครงการทีพีพีอีพี 1 เผยถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะขุดพบแหล่งน้ำดิบเพิ่มด้วยว่า ก็แสนยาก เพราะแต่ละครั้งที่ขุดลงไปใต้พื้นดินจะมีโอกาสพบน้ำมันเพียง 1 ใน 5 หรือ 20% เท่านั้น ทว่าต้องเสียค่าขุดเจาะถึง 40 ล้านบาท
เปลี่ยนกากอ้อยเป็นพลังงานลดโลกร้อน
ใช่แค่เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เอกชนไทยมุ่งมั่น โดยผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เกาะติดการใช้พลังงานชีวมวลด้วย ซึ่งกลุ่มมิตรผลได้ดำเนินการเปลี่ยนขุมทรัพย์บนดินจากของเหลือใช้การเกษตรอย่าง “กากอ้อย” เป็นพลังงาน แถมยังได้เม็ดเงินและคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามมา โดยปี 2545 กลุ่มมิตรผลได้ตั้งโรงไฟฟ้าด่านช้างขึ้น
นายณัฐสพล กระจ่างแผ้ว ผอ.โรงไฟฟ้าด่านช้าง เผยว่า ในแต่ละปีทางโรงงานน้ำตาลมิตรผลจะมีกากอ้อยเหลือจากการหีบน้ำหวานออกถึง 4 แสนตัน ถือเป็นวัตถุดิบอย่างดีสำหรับผลิตไฟฟ้า โดยกากอ้อย 2.2 ตันจะเผาได้ไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ชั่วโมง
ขณะนี้ทางโรงไฟฟ้าด่านช้างได้ทำสัญญาผลิตไฟฟ้าส่งขายแก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้วที่กำลังการผลิต 27 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 21 ปี แถมยังมีผลพลอยได้เป็นไอน้ำปั่นไฟสำหรับกระบวนการผลิตน้ำตาล และขี้เถ้าที่เป็นปุ๋ยชั้นเยี่ยมแก่เกษตรกร รวมๆ แล้วโรงไฟฟ้าแห่งนี้สร้างรายได้เข้ากระเป๋ากลุ่มมิตรผลทุกปีถึงปีละ 890 ล้านบาท
ที่สำคัญ โรงไฟฟ้าด่านช้างยังเข้าร่วมกลไกการพัฒนาที่สะอาดเพื่อส่งขายคาร์บอนเครดิต 9.3 หมื่นตันต่อปี โดยกำลังทำเอกสารเพื่อยืนยันการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแก่คณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (ซีดีเอ็ม อีบี) ณ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี
“ขี้หมูผลิตไฟฟ้า” ยิงปืนนัดเดียวได้นกเป็นพวง
ถัดจากนั้นเมื่อคณะสื่อมวลชนมุ่งหน้าไปที่ จ.ราชบุรี ยังได้เยี่ยมชมฟาร์มสุกรของนายสมชาย นิติกาญจนา เจ้าของฟาร์มสุกร เอสพีเอ็ม ฟาร์ม ที่วันนี้ขี้หมูที่เคยสร้างความรำคาญและดึงดูดแมลงรบกวนได้เปลี่ยนไปเป็นก๊าซชีวภาพผลิตกระแสไฟฟ้า และได้กากขี้หมูทำปุ๋ยด้วย
เจ้าของฟาร์มหมูผลิตไฟฟ้ารายนี้เผยว่า แต่ก่อนฟาร์มหมูจะเป็นที่รังเกียจรำคาญของชาวบ้านมาก เพราะมีกลิ่นเหม็นรบกวนจากขี้หมู เกิดน้ำเน่าเสีย หนำซ้ำยังนำแมลงรำคาญอย่างแมลงวันเป็นพาหะก่อโรค
เขาจึงหันเข้าหา สนพ.เพื่อขอการสนับสนุนเทคโนโลยีเปลี่ยนขี้หมูให้เป็นไบโอแก๊ส เป้าประสงค์แรกเพื่อกำจัดมลพิษจากขี้หมู ทว่าทำให้เขาสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้เอง ส่งบางส่วนขายให้แก่การไฟฟ้า ได้ความร้อนจากเครื่องปั่นไฟสำหรับกกลูกหมู ได้กากขี้หมูจากบ่อแก๊สชีวภาพเป็นปุ๋ยอีนทรีย์แห้ง และยังจะทำให้มีรายได้จากคาร์บอนเครดิต 7-8 ล้านบาทในเร็วๆ นี้ด้วย
ขณะเดียวกัน เขายังมีแผนปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อนำน้ำมันปาล์มที่ได้ไปใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ โดยมีผลการศึกษาพบว่าน้ำเสียจากขี้หมู 1 ลบ.ม.จะผลิตแก๊สชีวภาพได้ 25-30 ลบ.ม. แต่หากใส่ต้นปาล์มและใบปาล์มหั่นลงไปผสมจะทำให้ได้แก๊สชีวภาพเพิ่มเป็น 200 ลบ.ม.
“ใครบอกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว แต่ผมจะบอกว่าไม่ใช่ ผมยิงปืนนัดเดียวแต่ได้นกเป็นฝูงเลย ได้ทั้งไฟฟ้า ได้เงินจากการขายไฟฟ้า ได้ความร้อนกกลูกหมู ได้ปุ๋ย แล้วยังขายคาร์บอนเครดิตได้ด้วย" นายสมชายกล่าว
รีสอร์ทสีเขียวตามรอยเท้าพ่อฯ
ทั้งนี้ ก่อนปิดท้ายกรีนทริป สนพ.ยังนำคณะสื่อไปพักผ่อนที่คำแสดรีสอร์ท พร้อมเยี่ยมชมศูนย์กสิกรรมธรรมชาติและเทคโนโลยีผสมผสานคำแสด ที่ซึ่งพนักงานได้ยึดหลักธรรมในพุทธศาสนาควบคู่กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงในการดำรงชีวิต ผู้ที่ไปพักผ่อนจึงมีโอกาสสัมผัสกับวิถีการพึ่งพิงตนเองของคำแสดรีสอร์ทไปพร้อมๆ กัน
วิถียั่งยืนของคำแสดรีสอร์ท เช่น การผลิตไบโอดีเซลบี 100 จากน้ำมันพืชใช้แล้วอย่างง่ายๆ เพื่อใช้กับเครื่องตัดหญ้า เครื่องปั่นไฟ และรถกระบะดีเซล, การผลิตไบโอแก๊สจากเศษอาหารของแขก, การทำน้ำส้มควันไม้เพื่อไล่ปลวกและแมลงรบกวน ที่ทำให้ได้ถ่านไม้คุณภาพดีเป็นผลพลอยได้ด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ ภายในคำแสดรีสอร์ทยังมีการปลูกผักอินทรีย์ไว้รับรองแขกของโรงแรม, การเก็บใบไม้และกิ่งไม้จากการตัดแต่งสวนมาทำปุ๋ยหมัก, รวมถึงการเก็บดอกปีบและใบหมี่ที่ร่วงหล่นในรีสอร์ทมาจัดทำแชมพูและน้ำหอมเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน ซึ่งหากผู้ใดสนใจก็สามารถซื้อหาติดไม้ติดมือกลับไปฝากเพื่อนฝูงได้ในราคาไม่ถูกไม่แพง
นายบุญชนะ ผลเงาะ วิทยากรจากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติและเทคโนโลยีผสมผสานคำแสด ยืนยันว่า โครงการเหล่านี้ล้วนเกิดจากการศึกษาค้นคว้า และลองผิดลองถูกเองทั้งสิ้น จนไปสู่ผลงานที่สามารถใช้การได้จริงแม้นักวิชาการมักค่อนแคะว่าไม่ได้มาตรฐานก็ตาม
“ทว่าก็เป็นผลงานที่ใช้ได้จริง ปลอดภัย และอยู่ในระดับที่ชาวบ้านสามารถเข้าถึงเพื่อพึ่งพาตัวเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้” ปราชญ์ชาวบ้านทิ้งท้าย
ไม่ว่าเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศภายในปี 2554 ที่ปรับจาก 8% ไปเป็น 12% จะเป็นจริงได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงการสร้างภาพที่ไม่มีทางไปถึงของรัฐบาล ทว่าหลังร่วมก๊วนกรีนทริปครั้งนี้แล้ว ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ก็แอบหวังลึกๆ ว่าจะเห็นโครงการพลังงานก้าวเล็กๆ จากน้ำพักน้ำแรงคนไทยเพิ่มมากขึ้นต่อไป.