xs
xsm
sm
md
lg

กรณี ‘ปราสาทพระวิหาร 2551’ มีอะไรมากกว่าชาตินิยม

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

หลายสัปดาห์มานี้ผมนั่งไล่อ่านข้อมูล ความเห็น ประเด็นเกี่ยวกับข้อพิพาทกรณี ‘ปราสาทพระวิหาร’ (มิใช่ ‘เขาพระวิหาร’ หรือ ‘ปราสาทเขาพระวิหาร’ เพราะจำกัดบริเวณเฉพาะที่ตั้งของปราสาทตามคำอธิบายของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย) (1) อย่างต่อเนื่องจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่ง

ผมจะขออนุญาตไม่ใช้เนื้อที่อันน้อยนิดตรงนี้กล่าวถึง ข้อพิพาทดังกล่าวในประเด็นข้อกฎหมายไม่ว่าจะเป็นหลักฐานจากคำตัดสินของศาลโลกใน พ.ศ. 2505, คำประท้วงคำตัดสินของศาลโลกของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2505, เอกสารแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) ที่นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปลงนามกับรัฐบาลกัมพูชาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ฯลฯ เพราะท่านผู้อ่านน่าจะหาอ่านประเด็นดังกล่าวได้ไม่ยากตามหน้าหนังสือพิมพ์ ตามเว็บไซต์ หนังสือและเอกสารทางประวัติศาสตร์ในห้องสมุด

หลายวันมานี้ นักรัฐศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการหลายท่าน กล่าวถึงการหยิบเอากรณี “ปราสาท (เขา) พระวิหาร” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขึ้นมาโจมตีรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ว่าเป็นการกระทำโดยมีจุดมุ่งหมายทางการเมือง เพื่อโค่นล้ม “รัฐบาล” และ “ระบอบทักษิณ” โดยกล่าวหาว่า กลุ่มพันธมิตรฯ หยิบยกเอาวาทกรรมของ ‘อำมาตยาเสนาชาตินิยม’ มาผสมปนเปกับ ‘ราชาชาตินิยม’ มาเป็นอาวุธชิ้นใหม่ เพื่อเอาชนะคะคานทางการเมือง (2) โดยในทัศนะของแต่ละท่านนั้น ในหน้าประวัติศาสตร์ข้อพิพาทกรณีปราสาทพระวิหารถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมืองทั้งไทยและกัมพูชาที่ใช้ปลุกระดมประชาชนเท่านั้น ไม่ว่าจะในยุคของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม หรือในยุคของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ดังนั้นหลายๆ ท่านที่ว่าจึงรวบรัดตัดความโดยสรุปเอาว่า กรณีปราสาทพระวิหาร เป็นประเด็นเก่า เป็นข้อพิพาทเก่า ที่ถูกนำเอามาเล่าใหม่ ถูกเอามาจุดใหม่ โดยปราศจากนัยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศไทยกับเพื่อนบ้านอย่างสิ้นเชิง

กระนั้นผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า ประเด็นปราสาทพระวิหาร ใน พ.ศ. 2551 นี้นั้นมิได้เป็นประเด็นแบนๆ ที่สามารถใช้มุมมองทางประวัติศาสตร์ในอดีตมาตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ แต่ ณ วันนี้ประเด็นปราสาทพระวิหารกลายเป็นประเด็นที่มีมิติอื่นๆ ให้พวกเราต้องคิดคำนึงมากกว่ามิติทางประวัติศาสตร์ และมิติทางการเมืองมาก

ประเด็นแรก มิติทางเศรษฐกิจ นักวิชาการและสื่อมวลชนทุกท่านปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การยื่นจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาที่ได้รับการยินยอมจากรัฐบาลนายสมัคร เกี่ยวพันกับประเด็นทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะแม้แต่รัฐมนตรีพาณิชย์ของประเทศกัมพูชาก็ยังออกมาเปิดเผยถึงเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ในหนังสือพิมพ์ The Cambodia Daily โดยระบุว่า ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายที่พยายามโยงกรณีพื้นที่ทับซ้อนบริเวณเขาพระวิหารเข้ากับผลประโยชน์ทางทะเลในอ่าวไทยระหว่างการเจรจากับฝ่ายกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาไม่เห็นด้วย (3)

ประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารที่ถูกผูกโยงเข้าไปสู่เรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ-ธุรกิจของนักการเมืองของทั้งสองชาตินี้เป็นสิ่งที่มีหลักฐานตอกย้ำเรื่อยมา โดยเฉพาะในประเด็นที่กลุ่มธุรกิจในเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าไปจับมือกับสมเด็จฮุนเซน เพื่อลงทุนในภาคส่วนต่างๆ ในประเทศกัมพูชา

ทั้งนี้ทั้งนั้นนักวิชาการหลายท่านอาจไม่ทราบว่า ประเด็นเรื่องการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจของนักการเมืองผู้มีอำนาจนั้นถูกนายสนธิ ลิ้มทองกุลและสื่อในเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ-เอเอสทีวี ตั้งข้อสงสัยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 แล้ว มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2551

ประเด็นที่สอง มิติทางการบริหารราชการแผ่นดิน ถือเป็นเรื่องน่าสนใจที่ผู้ที่มีส่วนสำคัญและถือเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยในการเจรจากับรัฐบาลของประเทศกัมพูชาคือ รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัครที่ก่อร่างขึ้นด้วยรากฐานของพรรคพลังประชาชน อดีตพรรคไทยรักไทย โดยมีตัวแทนคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ชื่อ นายนพดล ปัทมะ

ผมไม่ทราบว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ที่ นายนพดล รมว.ต่างประเทศคนปัจจุบันนั้นเคยเป็นทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และมิทราบเช่นกันว่าบทบาทในอดีตของนายนพดลส่งผลต่อบทบาท และหน้าที่ในปัจจุบันของนายนพดลหรือไม่? ทว่า ข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ออกมาให้ประชาชนเห็นและรับทราบก็คือ ท่าทีในการเจรจากับประเทศกัมพูชาในกรณีปราสาทพระวิหารของ รมว.ต่างประเทศของชาวไทยคนนี้นั้นดูโอนอ่อนผ่อนตาม เอื้อประโยชน์ ชื่นชมและหลายครั้งพยายามแก้ต่างให้กับทางรัฐบาลของประเทศกัมพูชาอย่างมาก อันเป็นเรื่องผิดวิสัยของรัฐมนตรีต่างประเทศที่มีบทบาทและหน้าที่หลักในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ

มากกว่านั้น การเจรจาเรื่องปราสาทพระวิหารครั้งนี้ ยังถูกสงสัยว่ามีความเกี่ยวพันไปถึงความไม่ชอบมาพากลในมติคณะรัฐมนตรีเพื่อโยกย้าย นายวีระชัย พลาศรัย อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายที่มีบทบาทสูงในการเจรจาเรื่องเขตแดนกับประเทศลาวและกัมพูชาไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกระทรวงอย่างไม่เป็นธรรมอีกด้วย โดยการโยกย้ายดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ จนถึงขั้นที่ปลัดกระทรวงต่างประเทศต้องเขียนจดหมายเปิดผนึกให้กำลังใจกับข้าราชการกรมสนธิสัญญาฯ ด้วยลายมือตัวเอง

ประเด็นที่สาม มิติทางสังคม การตั้งข้อสงสัยในประเด็นเรื่องปราสาทพระวิหารใน พ.ศ.นี้ มิได้เป็นการหยิบยกขึ้นมาโดยผู้ที่กุมอำนาจรัฐดังเช่นในสมัยของ จอมพล ป. หรือจอมพลสฤษดิ์ แต่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยกลุ่มการเมืองภาคประชาชนที่ต่อต้านการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรมและมีผลประโยชน์ทับซ้อน

นอกจากนี้ การตั้งข้อสงสัยต่อกรณีปราสาทพระวิหารของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังมิได้เป็นการกล่าวถึงในเชิงโฆษณาชวนเชื่อโดยไร้หลักฐานอ้างอิง เพราะการตั้งข้อสงสัยดังกล่าวมีหลักฐาน มีนักวิชาการ มีผู้ทรงคุณวุฒิและมีสถาบันที่น่าเชื่อถือให้การสนับสนุนความเห็นและข้อมูลที่นำเสนอมากมายและหลากหลาย อย่างเช่น สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.อดุลย์ วิเชียรเจริญ ประธานคณะกรรมการมรดกโลกแห่งประเทศไทย รวมถึงนักการทูต อดีตข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ฯลฯ จนในที่สุดเรื่องดังกล่าวได้ถูกสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนำไปอภิปรายในสภาฯ

เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ชาวไทยด้วยกันเองจำนวนหนึ่งกลับตีความจุดประสงค์ในการตั้งข้อสงสัยต่อการกระทำของภาครัฐในกรณีปราสาทพระวิหารของกลุ่มพันธมิตรฯ ให้กลายเป็นเรื่องทางการเมืองและการล้มล้างทางการเมืองในประเทศไปเสียหมด โดยละเลยข้อเท็จจริงในมิติอื่นๆ ไปเสียสิ้น
--------------
หมายเหตุ :
(1) สมปอง สุจริตกุล, “ข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร” เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, 23 มิถุนายน 2551
(2) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, “ปราสาทพระวิหาร” กรณีศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม, 20 มิถุนายน 2551 และ ใจ อึ๊งภากรณ์, “เขาพระวิหารเป็นของเขมร” เว็บไซต์ประชาไท, 22 มิถุนายน 2551
(3) “รมต.เขมรถลกไทย ยกขุมพลังงานพ่วงเจรจาเขาพระวิหาร สื่อกัมพูชาปักใจ “น้ำมัน-ก๊าซ” มหาศาล” โพสต์ทูเดย์ 13 พ.ค. 2551
กำลังโหลดความคิดเห็น