xs
xsm
sm
md
lg

ใหม่สุดๆ ไทยคิดทำ “ฉลากคาร์บอน” ที่แรกในเอเชียแปซิฟิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวอย่างฉลากคาร์บอนในห้างเทสโกโลตัส ประเทศอังกฤษ ในภาพหมายถึงสินค้าที่ผู้ประกอบการสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิตได้ 100 กรัมเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ต่อสินค้า 1 ชิ้น
ฉลากเขียวก็มีแล้ว ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ก็มีแล้ว ล่าสุด องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกฯ ก็เตรียมเปิดตัว “ฉลากคาร์บอน” กับเขาบ้าง โดยหากไทยรีบเปิดตัวให้ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้อาจได้ชื่อ ว่าเป็นประเทศแรกในเอเชียแปซิฟิก ที่มีฉลากคาร์บอนออกใช้

ดร.ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผอ.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างการสัมมนา “การส่งเสริมศักยภาพด้านกลไกการพัฒนาที่สะอาด” ณ จ.ระยอง ว่า ขณะนี้ อบก.ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย พัฒนาระบบฉลากคาร์บอนกับสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ขึ้นเพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

จุดประสงค์หลักเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้กับผู้ประกอบการไทย ในการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรป ที่อนาคตจะมีความเข้มงวดในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความตระหนักแก่ประชาชนไทย ให้หันมาใช้สินค้าที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อย

ทั้งนี้ ฉลากคาร์บอนจะทำให้ผู้บริโภคได้รับทราบว่า ในขั้นตอนการผลิตสินค้านั้นๆ ผู้ประกอบการได้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นปริมาณเท่าใด หลังจากผู้ประกอบการได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตแล้ว โดยขณะนี้ อบก.ได้มอบหมาย ให้สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยเป็นผู้จัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาสินค้าฉลากคาร์บอนแล้ว เชื่อว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้

ด้าน ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้ช่วยประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ชี้แจงเพิ่มเติมกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ฉลากคาร์บอนจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 1 ถึงเบอร์ 5
 
ฉลากคาร์บอนเบอร์ 1 จะมีพื้นฉลากสีแดง เป็นสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยที่สุด ที่ 10% ฉลากเบอร์ 2 สีส้ม ลดปล่อยก๊าซฯได้ 20% ฉลากเบอร์ 3 สีเหลือง ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 30% ฉลากเบอร์ 4 สีน้ำเงิน ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 40% และฉลากคาร์บอนเบอร์ 5 มีพื้นสีเขียว เป็นสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด คือ 50%  

เวลานี้มีเอกชน 6 รายนำร่องโครงการแล้ว ได้แก่ บริษัทเอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท เต็ดตรา แพ้ค แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม, กลุ่มบริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกระดาษดับเบิลเอ, บริษัท อาหารสากล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำมันพืชหยก, บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต, และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด ฯลฯ โดยยังมีธุรกิจสปา การท่องเที่ยว และโรงแรม เข้าศึกษาหาช่องทางใช้ฉลากคาร์บอนด้วย

ฉลากคาร์บอนจะไม่เหมือนฉลากเขียว เพราะฉลากเขียวจะครอบคลุมทุกมิติของสินค้า ทั้งด้านวัตถุดิบ และมลพิษที่เกิดขึ้น แต่ฉลากคาร์บอนจะดูเฉพาะปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตเท่านั้น โดยเราจะแยกเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาโดยเฉพาะ” ดร.ขวัญฤดี เสริม

ดร.ขวัญฤดี กล่าวว่า ห้างเทสโก ประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก ที่นำแนวคิดฉลากคาร์บอนมาใช้ตั้งแต่ 2 ปีก่อนโดยรัฐบาลสนับสนุน ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่รัฐบาลเริ่มใช้แนวคิดนี้ โดยจะคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งวงจรชีวิตของสินค้าด้วย ทำให้การคำนวณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นมีความถูกต้องมากกว่า แต่ต้องใช้เวลาศึกษามากขึ้นไปด้วย ทำให้บัดนี้ญี่ปุ่นก็ยังไม่มีฉลากคาร์บอนออกใช้

หากของเราทำเสร็จภายใน 1-2 เดือน เราจะเป็นที่แรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีฉลากคาร์บอนออกใช้ โดยของเราจะคำนวณแค่ก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตก่อน ทำให้จัดทำออกมาได้เร็วกว่า” ผู้ช่วยประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยกล่าว โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจะเสียค่าจดทะเบียนฉลากเขียว 1 แสนบาท ครอบคลุมเวลา 3 ปีก่อนจดใหม่ ใช้เวลาในการจดทะเบียน 45 วัน 

ดร.ขวัญฤดี ยืนยันด้วยว่า การออกฉลากคาร์บอนจะไม่ทำให้ประชาชนสับสนกับฉลากเขียวซึ่งมีมาก่อนหน้านี้แน่นอน โดยสินค้าฉลากคาร์บอนจะยังคงมีราคาเท่าเดิม ไม่มีการตั้งราคาให้สูงกว่าสินค้าปรกติ โดยฝ่ายผู้ประกอบการจะได้ภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นและกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ทำให้ลดต้นทุนการผลิตลงโดยอัตโนมัติ.
โฉมหน้าฉลากคาร์บอนของไทย ฉลากคาร์บอนเบอร์ 1 จะมีพื้นฉลากสีแดง เป็นสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้น้อยที่สุด ที่ 10% ฉลากเบอร์ 2 สีส้ม ลดปล่อยก๊าซฯได้ 20% ฉลากเบอร์ 3 สีเหลือง ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 30% ฉลากเบอร์ 4 สีน้ำเงิน ลดปล่อยก๊าซฯ ได้ 40% และฉลากคาร์บอนเบอร์ 5 มีพื้นสีเขียว เป็นสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด คือ 50%
ดร.ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผอ.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
 ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้ช่วยประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น