xs
xsm
sm
md
lg

ทำฉลาก "Cool Mode” ติดเสื้อผ้าที่ใส่ไม่อึดอัด ไม่ต้องเพิ่มอุณหภูมิแอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สัญลักษณ์ที่จะติดอยู่บนฉลาก cool mode สำหรับผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า
ผอ.องค์การก๊าซเรือนกระจกเผย หนึ่งในยุทธศาสตร์ดึง ปชช.มีส่วนร่วมลดคาร์บอน ทำฉลาก Cool Mode สำหรับสินค้าสิ่งทอ ให้ผู้ใส่สวมสบาย ไม่อึดอัด เพิ่มอุณหภูมิแอร์ 1 องศาได้โดยไม่เดือดร้อน เตรียมให้สิทธิผู้ประกอบการ 4 รายปลาย ต.ค.นี้

ดร.ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวถึง หนึ่งในยุทธศาสตร์ของแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย คือการทำฉลาก "คูลโหมด" (Cool Mode) สำหรับผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและสิ่งทอ ซึ่งจะช่วยให้ผู้สวมใส่รู้สึกและไม่อึดอัด เมื่อต้องเพิ่มอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศขึ้น 1 องศาเซลเซียส อันเป็นแนวทางหนึ่งในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากภาคพลังงาน

ทั้งนี้ เขาได้เปิดเผยระหว่างกล่าวบรรยาย ถึงนโยบายและแผนการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ในเวทีสัมมนาเชิงวิชาการไทย-ฝรั่งเศสเรื่อง "ความท้าทายเชิงเทคนิคและการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเศรษฐกิจบนฐานคาร์บอนต่ำ” (Franco-Thai Seminar on the Technological and Infrastructural Challenges of Building a Low-carbon Economy) ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้เข้าร่วมฟังด้วยนั้น ดร.ศิริธัญญ์ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า 56% ของก๊าซเรือนกระจกที่ไทยปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศนั้น มาจากภาคพลังงาน

สำหรับฉลาก Cool Mode นั้น พร้อมจะให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการเสื้อผ้าของไทยทั้ง 4 รายในปลายเดือน ต.ค. นี้ และ ดร.ศิริธัญญ์ ยังกล่าวถึงฉลากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ได้เมืองไทยว่า "ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5” นั้นเป็นที่รู้จักดีและประสบความสำเร็จมาก ขณะที่ "ฉลากเขียว" นั้นมีมาถึง 14 ปีแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในเมืองไทยนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าที่ได้ฉลากเขียวนั้นแพงกว่าสินค้าทั่วไปอยู่มาก ดังนั้นสินค้าส่วนใหญ่จึงส่งออกต่างประเทศมากกว่า

อย่างไรก็ดี ดร.ศิริธัญญ์มีระเบียบ ให้ภาคราชการสามารถซื้อสินค้าฉลากเขียวได้ในราคาพิเศษ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าฉลากเขียวออกมาได้จำนวนมากๆ และจะลดต้นทุนได้ในที่สุด

ส่วนฉลาก Cool Mode นั้นเป็นอีกยุทธศาสตร์ที่ทำให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการลดปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเป็นการบังคับให้ผู้ผลิตผลิตสินค้าที่ปลดปล่อยคาร์บอนได้น้อยลงด้วย

พร้อมกันนี้ ดร.เอมมานูล มูเลนฮูเวอร์ (Dr.Emmanuelle Muhlenhover) จากกลุ่มบอสตันคอนซัลติง (Boston Consulting Group) ได้กล่าวบนเวทีสัมมนาถึงการใช้พลังงานของยุโรปบนความยั่งยืนทางด้านคาร์บอนของโลกว่า เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำนั้น ขึ้นอยู่กับกรอบทางด้านพลังงาน ทั้งนี้ไม่มีเทคโนโลยีเดี่ยวๆ ที่จะสร้างพลังงานอย่างเป็นมิตรต่อสิงแวดล้อม ให้ความมั่นคงทางพลังงานและสามารถแข่งขันได้พร้อมๆ กัน จึงต้องมีการผสมผสานทั้งเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์

สำหรับงานสัมมนาวิชาการไทย-ฝรั่งเศสครั้งนี้ จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี และสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย วันที่ 8-9 ต.ค.52 ณ โรงแรมดุสิตธานี.
ดร.ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์
ดร.เอมมานูเอลล์ ลูเวนฮูเวอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น