xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนระยองโดดทำ “ซีดีเอ็ม” ขายคาร์บอนเครดิต 1.6 แสนตันต่อปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระบบบำบัดไนตรัสออกไซด์ในประเทศปากีสถาน
เอกชน จ.ระยอง ขานรับกลไกการพัฒนาที่สะอาดลดโลกร้อน เตรียมติดตั้งระบบบำบัดไนตรัสออกไซด์ มูลค่า 120 ล้านบาท เชื่อหลังดำเนินการจะขายคาร์บอนเครดิตได้ 1.65 แสนตันต่อปี ตอนนี้ บ.มิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่นรับซื้อทั้งหมดแล้ว ตันละ 10 เหรียญสหรัฐฯ ด้าน ผอ.องค์การจัดการก๊าซฯ เผยยอดรวมผู้ประกอบการในประเทศโดดเข้าร่วมกลไกสะอาดเกือบ 60 โครงการ เผยลดให้ได้ 10 ล้านตันในปี 53

ทั่วโลกกำลังปรับตัวเพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนึ่งในวิธีที่ใช้คือ “กลไกการพัฒนาที่สะอาด” (ซีดีเอ็ม) โดยต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย ได้พาคณะผู้สื่อข่าวรวมถึงผู้จัดการวิทยาศาสตร์ไปติดตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดของบริษัท คาโปรแลคตัมไทย จำกัด (มหาชน) ถึง จ.ระยอง
 
นายพิชัย อรรถจิตติพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายควบคุมการผลิต บริษัท คาโปรแลคตัมไทยฯ กล่าวว่า ในกระบวนการผลิตสารคาโปรแลคตัมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตไนล่อนให้มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น และทนร้อนนั้นจะต้องเผาแอมโนเนียและปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) หรือแก๊สหัวเราะออกมาที่ความเข้มข้น 1,560 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม)

ทั้งนี้ แม้ไนตรัสออกไซด์จะไม่ใช่สารพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แถมยังมีการใช้งานทางการแพทย์ โดยไนตรัสออกไซด์ความเข้มข้น 50% โดยปริมาตรจะลดอาการปวดในคนไข้ได้ ทว่าในมุมสิ่งแวดล้อมแล้วนั้น ก๊าซดังกล่าวถือเป็นว่าก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญซึ่งมีความรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 300 เท่า

นายพิชัย กล่าวว่า ทางบริษัทจึงเริ่มพัฒนากระบวนการผลิตบำบัดก๊าซชนิดนี้ขึ้น และเข้าร่วมกลไกการพัฒนาที่สะอาดตั้งแต่ปลายปี 2548 เป็นต้นมา โดยวางแผนนำเข้าเทคโนโลยีระบบบำบัดไนตรัสออกไซด์มูลค่า 120 ล้านบาท พร้อมสารตัวเร่งปฏิกิริยาจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อแยกก๊าซไนตรัสออกไซด์ออกเป็นก๊าซไนโตรเจนและก๊าซออกซิเจนก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

ผู้จัดการฝ่ายควบคุมการผลิต บริษัท คาโปรแลคตัมไทยฯ เชื่อว่าระบบบำบัดไนตรัสออกไซด์นี้จะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ลง 85-90% เมื่อเทียบกับความเข้มข้นก่อนการบำบัด เหลือเพียง 230 พีพีเอ็ม หรือเท่ากับการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจำนวน 1.65 แสนตันต่อปี

ความคืบหน้าล่าสุด นายพิชัย เผยว่า โครงการดังกล่าวได้ผ่านการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.แล้ว และกำลังจัดทำรายงานเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM Executive Board:ซีดีเอ็ม อีบี) ณ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี พิจารณา

คาดว่าภายในเดือน พ.ย.51 นี้ ทางบริษัทจะติดตั้งระบบบำบัดไนตรัสออกไซด์ขนาดกว้าง 4 ม. ยาว 5 ม. และสูง 15 ม.แล้วเสร็จ และน่าจะเป็นเวลาเดียวกับที่จะได้ใบอนุญาตการค้าคาร์บอนเครดิตด้วย

ตอนนี้ ทางบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้ติดต่อขอซื้อคาร์บอนเครดิตทั้งหมดแล้วด้วยราคา 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์” นายพิชัยกล่าวก่อนเผยสาเหตุที่บริษัททำกลไกการพัฒนาที่สะอาดขึ้นเพื่อเป็นการตอบแทนสังคม โดยรายได้จากคาร์บอนเครดิตเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น

ส่วนสถานการณ์ความตื่นตัวด้านกลไกการพัฒนาที่สะอาดของผู้ประกอบการในประเทศ ดร.ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผอ.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ อบก.ได้ให้การรับรองกลไกการพัฒนาที่สะอาดของผู้ประกอบการในประเทศแล้ว 30 โครงการ เทียบเท่ากับการลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ล้านตันต่อปี

นอกจากนั้นยังมีที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก 29 โครงการคิดเป็นอีก 1.5 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี โดยเราตั้งเป้าการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2552 ได้ 7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และเพิ่มเป็น 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีในปีถัดไป” ดร.ศิริธัญญ์กล่าว

เขาแสดงความเชื่อมั่นว่า กลไกการพัฒนาที่สะอาดจะคงมีอยู่ต่อไปแน่นอนแม้ว่าพิธีสารเกียวโตจะหมดอายุในปี 2555 โดยอาจมีการปรับรูปแบบบ้าง เช่น เปลี่ยนกลุ่มผู้ต้องลดการปล่อยก๊าซฯ จากการกำหนดประเทศผู้ลดปล่อยก๊าซฯ ไปเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมบางชนิดแทน เช่น อุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลก

หรืออาจมีการปรับปีฐานในการคำนวณปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากปัจจุบันที่กำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้ว 42 ประเทศ ลดการปล่อยก๊าซฯ ลงอย่างน้อย 5% โดยใช้ปี 2533 เป็นปีฐาน ไปเป็นการใช้ปี 2548 เป็นปีฐานการคำนวณ ซึ่งทั้งหมดนี้นานาชาติจะมีการหาข้อสรุปร่วมกันในปีหน้า.
นายพิชัย อรรถจิตติพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายควบคุมการผลิต บริษัท คาโปรแลคตัมไทยฯ
ดร.ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผอ.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น