กระทรวงทรัพย์ฯ ระดมสมอง หวังเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์โลกร้อนในกระดาษ สู่ภาคการปฏิบัติจริง โดยเฉพาะด้านการปรับตัว และลดความรุนแรงของปัญหา ปลัด ทส.หวังจะแผนรับมือกับปัญหาในกรณีร้ายแรงสุดๆ หากนานาชาติไม่ร่วมมือลดโลกร้อน ระบุจะนำเข้า ครม.ให้ทันปลายปีนี้
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การแปลงยุทธศาสตร์แห่งชาติ ว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2551-2555 ไปสู่การปฏิบัติ" ขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.51 ณ ห้องประชุมสโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี-รังสิต กรุงเทพฯ ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าสังเกตการณ์ โดยในการประชุมนี้มีนักวิชาการและผู้แทนหน่วยงานรัฐร่วมงานกว่า 300 คน
ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัด ทส. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า การประชุมนี้จัดเป็นครั้งแรกในเขตภาคกลาง เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปจัดทำแผนปฏิบัติงานจริงตามแผนยุทธศาสตร์ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 22 ม.ค.51 โดยจะมีการเดินสายระดมความคิดเห็นอีก 4 ครั้งที่ จ.ชลบุรี จ.เชียงใหม่ จ.สุราษฏร์ธานี และ จ.ขอนแก่น
ก่อนจะประชุมสรุปผลที่กรุงเทพฯ ปิดท้ายในช่วงเดือนสิงหาคม จากนั้นจะจัดทำแผนปฏิบัติการและเสนอต่อ ครม.พิจารณาทันปลายปีนี้
"ในยุทธศาสตร์ด้านการปรับตัว และลดความล่อแหลม เชื่อว่าผลการประชุมนี้จะทำให้ได้ทั้งแผนระดับชาติ จังหวัด และท้องถิ่น ถึงการเตรียมตัวทั้งในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด หากข้อตกลงระหว่างนานาชาติ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาในพิธีสารเกียวโตไม่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้ 30-40 ปีข้างหน้า จะมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมาแน่นอน"
"หากไม่เตรียมการไว้อาจไม่สามารถรับมือได้ และในอีกทางหนึ่งหากนานาชาติมีความร่วมมือกัน ประเทศไทยจะมีแผนไปสู่ความสำเร็จนั้นได้อย่างไร" เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติกล่าว
ทั้งนี้ ในการระดมข้อเสนอแนะโครงการ ที่จะนำไปบรรจุในแผนปฏิบัติการจริงตามแผนยุทธศาสตร์ที่ 1 "การสร้างความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือและลดความล่อแหลมต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ" รศ.ดร.สิตานนท์ เจษฎาพิพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและสังคมจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แสดงความคิดเห็นว่า การปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการเตรียมตัวได้ทันที ไม่ต้องรอจนผลกระทบมาถึง โดยประเทศไทยควรมองในวงกว้างถึงระดับภูมิภาค ไม่เฉพาะในประเทศไทย หรือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น
"โครงการด้านการปรับตัวที่ต้องการเห็นจากการระดมข้อเสนอแนะโครงการนี้ เช่น การปรับตัวด้านการเกษตร ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีการศึกษาอย่างชัดแจ้งเลยว่าหากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในอีก 50 ปีข้างหน้าภาคการเกษตรของไทยจะเป็นอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วผลกระทบอาจมาเร็วกว่าที่คิดไว้ก็ได้ จึงต้องศึกษาเพื่อปรับตัวอย่างเร่งด่วน" รศ.ดร.สิตานนท์กล่าว
รศ.ดร.สิตานนท์ ชี้ว่า เพราะผลการศึกษาของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ฉบับล่าสุดพบว่า ในอีก 50 ปี น้ำฝนในเขตภาคเหนือของไทยจะเคลื่อนต่ำลงมาอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเลื่อนไปยังภาคใต้ จึงกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าวในทุ่งกุลาร้องไห้ของไทยอย่างแน่นอน
ขณะที่ การเปิดเวทีย่อย เพื่อระดมข้อเสนอแนะโครงการปฏิบัติการตามแผนยุทธศาสตร์ในช่วงบ่าย ผู้จัดการวิทยาศาสตร์พบว่า มีนักวิชาการและผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เหลืออยู่เพียงครึ่งหนึ่งของช่วงเช้าเท่านั้น โดยในการติดตามกลุ่มย่อย เรื่องการปรับตัวและลดความล่อแหลมของปัญหาสังเกตได้ว่า ผู้แทนหน่วยงานส่วนมาก อาจไม่ใช่ผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาก่อน ทำให้การเสนอแนะโครงการตลอดช่วงบ่ายมีข้อเสนอแนะค่อนข้างน้อย
ข้อเสนอแนะโครงการเพื่อการปรับตัวและลดความล่อแหลมของปัญหาที่มีการเสนอไว้ทั้งหมด ได้แก่ การเสนอให้มีการจัดทำฐานข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต, การพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศความละเอียดสูง, การเร่งพัฒนาแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ, การจัดตั้งสถานีตรวจวัดสภาพอากาศเพิ่มเติมในระดับตำบล, และการยกระดับการเก็บข้อมูลที่ได้มาตรฐาน โดยทั้งหมดเป็นข้อเสนอที่ค่อนข้างกว้างและขาดความชัดเจนอยู่มากเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ สผ.ประกาศไว้ก่อนเปิดเวทีระดมความคิดเห็น
สำหรับแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2551-2555 ประกอบด้วยแผยยุทธศาสตร์หลัก 6 ยุทธศาสตร์ด้วยกันคือ 1.สร้างความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือและลดความล่อแหลมต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ 2.สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มแหล่งดูดซับก๊าซบนพื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืน 3.สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจน 4.สร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา 5.เพิ่มศักยภาพของบุคลากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 6.พัฒนาการดำเนินงานในกรอบความร่วมมือกับต่างประเทศ.