xs
xsm
sm
md
lg

ทำอย่างไรดี ถ้าอยากมี “คาร์บอนเครดิต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 คาร์บอนเครดิตกำลังเป็นสินค้าตัวใหม่ตามระบบทุนนิยมเสรีระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาที่มีพันธกิจร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลไปทั่วโลก (ภาพจาก blogs.princeton.edu)
ยุคสมัยกำลังเปลี่ยนไป “ข้าวกล้อง-ปลาทู” ของถูกสำหรับคนยากจนทุกยุคทุกสมัยยังเปลี่ยนไปเป็นอาหารคนรวยเสียได้ ทว่ายังมีสินค้าบางตัวดูแปลกยิ่งกว่า อย่าง “คาร์บอนเครดิต” ที่กำลังก้าวเข้ามาเป็นสินค้าตัวใหม่ ที่มูลค่านับล้านล้านบาท จนรัฐบาลต้องตั้งหน่วยงานใหม่ให้เป็นพี่เลี้ยงผู้ประกอบการโดยเฉพาะ!

ดร.ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผอ.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ “อบก.” ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์กำลังกล่าวถึงขยายความว่า คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ลดได้จากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งก๊าซดังกล่าวมีอยู่หลายชนิดเช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน โอโซน และไอน้ำ ซึ่งเป็นตัวการผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน

“คาร์บอนเครดิต” สินค้าตัวใหม่จากประเทศกำลังพัฒนา

“คาร์บอนเครดิต” เป็นเครื่องมือสำคัญในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal) ที่นานาชาติร่วมกันจัดทำขึ้นในปี 2540 โดยกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้ว 41 ประเทศ (Annex 1) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 5% เมื่อเทียบกับปี 2533 ภายในปี 2555 ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอีก 148 ประเทศ (Non-Annex 1) ยังไม่มีพันธะนี้ แต่ก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้โดยความสมัครใจ

ทว่าเพื่อผ่อนปรนให้ประเทศพัฒนาแล้วบรรลุพันธกรณีนี้ได้ง่ายขึ้น พิธีสารจึงกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วสามารถสนับสนุนเทคโนโลยีสะอาดแก่ประเทศกำลังพัฒนาได้ ด้วยการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศเหล่านั้น

หรืออีกทางหนึ่ง ประเทศพัฒนาแล้วอาจซื้อโควต้าคาร์บอน จากผู้ประกอบการในประเทศกำลังพัฒนาโดยตรง เพื่อนำปริมาณคาร์บอนที่พวกเขายังไม่ได้ใช้ ไปหักลบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตัวเอง
โดยเป็นเสมือนเครดิตส่วนลดให้แก่ประเทศพัฒนานั้นๆ สามารถปล่อยก๊าซก่อภาวะเรือนกระจกได้มากกว่าปริมาณที่ถูกกำหนดไว้

โครงการการพัฒนาที่สะอาด ตามพิธีสารเกียวโตซึ่งมีสิทธิ์ขายคาร์บอนเครดิตมีหลายประเภท เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงาน การผลิตพลังงานหมุนเวียน การเปลี่ยนเชื้อเพลิง การกักเก็บและการเผาทำลายก๊าซมีเทน การปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ การจัดการน้ำเสียและขยะ และการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม เป็นต้น

ตลาดคาร์บอนมูลค่า 40 ล้านล้านบาท

ดร.ศิริธัญญ์ ชี้ว่า ปัจจุบัน ตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลก มีการซื้อขายไปแล้วถึง 40 ล้านล้านบาท ส่วนของไทย “อบก.” ซึ่งเกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 7 ก.ค.50 จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานระดับชาติ (Designated National Authority: ดีเอ็นเอ) ในการพิจารณาและออกใบรับรองแก่โครงการ ซึ่งต้องเป็นโครงการพัฒนายั่งยืนตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism:ซีดีเอ็ม) ด้วย

ก่อนที่จะมี อบก. โครงการที่เอกชนเสนอเข้ามา จะต้องเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 2 ปี ต่อมาคณะรัฐมนตรีเห็นว่า ภารกิจนี้น่าจะเป็นงานประจำ จึงตั้ง อบก.ให้ดำเนินการให้การรับรองโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดแทน” ดร.ศิริธัญญ์ว่า

คาร์บอนเครดิตต้องคิดทุกขั้นตอน

ดร.ศิริธัญญ์ บอกด้วยว่า การคำนวณคาร์บอนเครดิตหรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ จะต้องผ่านการคำนวณอย่างรัดกุม และนำก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นและลดลงมาคำนวณด้วยในทุกๆ กิจกรรม โดยไม่มีสูตรการคำนวณตายตัว อุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน แต่มีกระบวนการผลิตต่างกันเล็กน้อยก็มีก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นไม่เท่ากันแล้ว

ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 2 แห่งที่มีวัตถุดิบและกำลังการผลิตเท่ากัน แต่ใช้เครื่องจักรต่างกัน ก็จะให้คาร์บอนเครดิตไม่เท่ากัน หรือแม้แต่การคำนวณคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการขนส่งวัตถุดิบจากต้นทางถึงปลายทาง ที่ต้องคำนึงถึงระยะทางการขนส่ง ชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ และประสิทธิภาพของรถที่ใช้ขนส่ง ซึ่งเหล่านี้เองที่เป็นการบ้านชิ้นสำคัญ ที่ผู้ดำเนินโครงการต้องจัดทำให้มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด

“หืดจับ” กว่าจะเป็นผู้ค้าคาร์บอนเครดิต

สำหรับขั้นตอนการเสนอโครงการ เพื่อเป็นผู้ขายคาร์บอนเครดิตก็ไม่ใช่ง่ายเลย โดยได้มีการสรุปขั้นตอนหลักๆ ไว้ 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือ

1.ผู้ดำเนินโครงการจะต้องออกแบบโครงการและทำเอกสารประกอบโครงการ (Project Design Document : พีดีดี) โดยกำหนดขอบเขตโครงการ วิธีการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วิธีการติดตามผลการลดก๊าซ และการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฯลฯ อย่างรัดกุม

2.การตรวจสอบเอกสารประกอบโครงการ โดยมากจะต้องมีการว่าจ้างหน่วยงานกลาง (Designated Operational Entity : ดีโออี) ซึ่งได้รับการมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนจากคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM Executive Board:ซีดีเอ็ม อีบี) ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี เพื่อตรวจสอบเอกสารประกอบโครงการ

ทั้งนี้ หน่วยงานกลางจะต้องแสดงให้เห็นว่าโครงการที่เสนอขอรับการอนุมัติสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง นอกเหนือจากปริมาณที่กฎหมายประเทศนั้นๆ กำหนดให้ต้องทำอยู่แล้ว นอกจากนั้น ผู้ดำเนินโครงการยังต้องได้รับหนังสือเห็นชอบจาก อบก.ในฐานะองค์กรรับรองระดับชาติด้วย

และ 3.การขึ้นทะเบียนโครงการต่อซีดีเอ็ม อีบี ซึ่งจะแบ่งเป็นอีก 4 ขั้นตอนย่อยก่อนออกใบรับรองสิทธิ์การค้าก๊าซเรือนกระจกได้ คือ การติดตามการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การยืนยันการลดก๊าซ การรับรองการลดก๊าซเรือนกระจก และในท้ายที่สุด ซีดีเอ็ม อีบีก็จะอนุมัติคาร์บอนเครดิต (Issuance) หรือใบรับรองการลดก๊าซเรือนกระจก (Certified Emission Reductions:เซอร์ส) แก่ผู้ดำเนินโครงการ โดยโครงการที่ผ่านการรับรองจะมีอายุสูงสุดไม่เกิน 21 ปี

“ลงทุนสูง” ต้นเหตุเอกชนไม่กล้าร่วมค้าก๊าซ

ส่วนผู้ซื้อคาร์บอนเครดิต แบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ 1.ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Annex 1 Government) 2.กองทุนก๊าซเรือนกระจก (Carbon Fund) ของประเทศต่างๆ หรือกลุ่มบริษัทเอกชนที่ภาครัฐกำหนดเพดานก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิต และ 3.ตัวกลางรับซื้อ (Carbon Broker) ซึ่งเป็นนายหน้าค้าคาร์บอนเครดิตในลักษณะเดียวกับนายหน้าค้าหุ้น โดยคาร์บอนเครดิตจะมีราคาเฉลี่ยประมาณ 10 ยูโร หรือราว 500 บาท/ตัน

ขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 180 วัน และต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 6-10 ล้านบาทต่อโครงการ ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าลงทุนก่อสร้างโครงการด้วย” ดร.ศิริธัญญ์กล่าวถึงค่าใช้จ่ายในการยื่นขอใบรับรองสิทธิ์การค้าคาร์บอน ซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูงนี้เป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อมที่จะกระโดดเข้ามายังธุรกิจด้วย

ขณะที่ภาครัฐมีความพยายามผลักดันให้ "สถาบันรองรับมาตรฐานไอเอสโอ" ของไทยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการพัฒนาโครงการให้แก่ภาคเอกชนในประเทศ เพราะเล็งเห็นว่าเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพระดับนานาชาติ จุดประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างหน่วยงานกลางที่ทั้งหมดเป็นบริษัทของต่างชาติ ทำให้จูงใจเอกชนไทยกล้าเข้ามาลงทุนมากขึ้น

อบก.อนุมัติแล้ว 30 โครงการ รอจ่ออีก 26 โครงการ

ทางด้านสถานการณ์คาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ดร.ศิริธัญญ์ เผยว่า หลังจากการเกิดขึ้นของ อบก. พบว่าผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจกับโครงการการพัฒนาที่สะอาดมากขึ้น โดยขณะนี้ อบก.ได้อนุมัติโครงการไปแล้ว 30 โครงการ เทียบเท่า 2.13 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโรงงานไฟฟ้าชีวมวลจากของเหลือใช้ทางการเกษตร และการผลิตแก๊สชีวภาพจากน้ำเสีย และการผลิตไฟฟ้าจากบ่อฝังขยะ

"นอกจากนี้ยังมีโครงการขนาดกลางและขนาดเล็กที่รออนุมัติจาก อบก.อีก 26 โครงการ หรือประมาณ 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีโครงการที่ยื่นขอการอนุมัติรวมกันไม่ต่ำกว่า 90-100 โครงการ" ผอ.อบก.กล่าว

เสียงจากเอกชน “เน้นคุณภาพ" หากไม่ผ่าน หมดสิทธิ์ขออีก

คราวนี้ลองมาฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการบ้าง นายสมชาย นิติกาญจนา เจ้าของฟาร์มเลี้ยงสุกร จ.ราชบุรี ผู้ทำโครงการผลิตไบโอแก๊สจากฟาร์มสุกรเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ ในฐานะผู้จัดทำโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดแรกของไทย ตั้งแต่ 12 ก.พ.37 กล่าวเชิญชวนว่า ปัจจุบันตลาดคาร์บอนถือว่าเปิดมากสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ของไทย เนื่องจากภาครัฐให้การสนับสนุนมาก ทำให้คืนทุนได้ไว

นอกจากนั้น ผู้ดำเนินโครงการยังจะมีรายได้จากการค้าคาร์บอนเครดิต และการได้สิ่งแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างโครงการของเขา ที่แก้ปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนได้ด้วยกลไกการพัฒนาที่สะอาด ทำให้เขาอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างสงบสุข

อย่างไรก็ตาม นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ จำกัด ผู้จัดทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากแกลบกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ณ จ.พิจิตร ผู้ประกอบการไทยรายแรก ที่ได้รับสิทธิ์ค้าคาร์บอนเครดิตจากยูเอ็นมาหมาดๆ ทักท้วงว่า การจัดทำโครงการควรเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ เพราะหากซีดีเอ็ม อีบี ไม่อนุมัติโครงการใดๆ แล้ว จะไม่มีสิทธิ์แก้ไขและส่งไปขอการพิจารณาใหม่ได้อีก จึงเป็นความสูญเสียที่น่าเสียดาย

ขั้นตอนไทยยังล่าช้า เสียงฝากจากดีโออี

สุดท้ายที่เสียงสะท้อนจากตัวแทนกลาง หรือ ดีโออีต่างชาติที่เข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทยอย่าง “แมกนุส อเล็กซานเดอร์ สตอดตี” (Magnus Alexander Staudte) จากบริษัทที่ปรึกษา เอ็นไวมา (ประเทศไทย) จำกัด (Envima (Thailand) Co;Ltd) ติงว่า จากประสบการณ์ในประเทศไทย การพิจารณาโครงการของไทย คือ อบก.มีความล่าช้ามากๆ

เขาวิเคราะห์ว่า สาเหตุอาจเป็นเพราะบุคลากรของ อบก.ยังใหม่ และขาดประสบการณ์ พิจารณาจากประเทศไทยยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่น้อยมาก และยิ่งน้อยลงไปอีกกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องกลไกการพัฒนาที่สะอาด จุดนี้เอง เขาจึงอยากฝากให้ อบก.มีการปรับปรุงแก้ไขต่อไป.
 ดร.ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผอ.องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
สไลด์ภาพนิ่งจาก ดร.ศิริธัญญ์ ที่แสดงให้เห็นถึงกลไกคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งต่างฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์ ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศกำลังพัฒนาไปใช้สนองพันธกิจตามพิธีสาร ทว่าประเทศกำลังพัฒนาก็ยังได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นเช่นกัน โดยนำไปตัดยอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตัวเองได้ด้วย
นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ จำกัด
นายสมชาย นิติกาญจนา เจ้าของฟาร์มเลี้ยงสุกร จ.ราชบุรี ผู้ทำโครงการผลิตไบโอแก๊สจากฟาร์มเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาด 1 เมะวัตต์
นายแมกนุส อเล็กซานเดอร์ สตอดตี
กำลังโหลดความคิดเห็น