xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวผู้ค้า "คาร์บอนเครดิต" รายแรกของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพย์ฯ จัดงานวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2551 ภายใต้หัวข้อ ลดวิกฤติโลกร้อน : เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับแนวคิด สู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยหลายหัวข้อเสวนามุ่งเป้าไปที่เรื่องการค้าคาร์บอนเครดิต
เปิดตัวเอกชนไทยรายแรก ที่ได้สิทธิ์ขายคาร์บอนเครดิตจากยูเอ็น ส่วนอีกหนึ่งโครงการ เผยใกล้ได้รับการรับรองแล้วเช่นกัน พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการที่ยังไม่ตัดสินใจ เข้าร่วมวง เหตุปัจจัยในประเทศพร้อม รัฐบาลกำลังให้การสนับสนุนเต็มที่ แถมยังได้รายได้จากคาร์บอนเครดิต และสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ

ช่วงงานวันสิ่งแวดล้อมโลกปี 51 ระหว่างวันที่ 5-8 มิ.ย. ประเด็นการซื้อขายคาร์บอนเครดิตกำลังมาแรง โดยวันที่ 6 มิ.ย.51 ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมเกาะติดวงเสวนา "Business Talk : Best Practice จากภาคเอกชน-การผลิตที่สะอาด การลดก๊าซเรือนกระจก และการพัฒนาที่ยั่งยืน" ซึ่งมีเอกชนรายแรกของไทย ที่ได้สิทธิ์ค้าก๊าซเรือนกระจกจากยูเอ็นนำประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง

นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ จำกัด ผู้จัดทำโครงการผลิตไฟฟ้าจากแกลบมูลค่าการลงทุน 1,400 ล้านบาท เผยว่า เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.51 ที่ผ่านมา บริษัทฯ เพิ่งได้รับการรับรองจาก คณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM EB) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ให้มีสิทธิ์ค้าคาร์บอนเครดิตได้เป็นแห่งแรกของประเทศ

สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวได้เริ่มมาตั้งแต่ 1 มค.47 ที่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ด้วยกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าใน อ.บางมูลนาก โดยใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา มีประสิทธิภาพลดการปล่อยก๊าซก่อโลกร้อนได้ 70,772 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์/ปี หรือปริมาณรวมเกือบ 500,000 ตันภายในปี 2555 อันเป็นที่สิ้นสุดของพิธีสารเกียวโต

นายนที เผยว่าขณะนี้ มีกิจการโรงไฟฟ้าประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินกิจการคล้ายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นโครงการ แสดงความสนใจติดต่อขอซื้อคาร์บอนเครดิตทั้งหมดของบริษัทในราคาตันละกว่า 10 ยูโร หรือ 500 บาทแล้ว

ส่วนประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการขอการรับรองสิทธิ์ค้าก๊าซฯ บริษัทได้ลงนามสัญญากับชุมชนในลักษณะสัญญาประชาคม ประการหนึ่งเพื่อให้คำมั่นสัญญาว่าโครงการจะผลิตไฟฟ้าโดยใช้แกลบเท่านั้นและจะไม่ใช่ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง อันอาจมีผลกระทบต่อชุมชน

อีกทั้งเขาได้จัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนมูลค่า 1,000,000 บาทตลอดอายุโครงการ 25 ปี และจัดตั้งกองทุนประกันสิ่งแวดล้อมมูลค่า 5,000,000 บาท ที่ชาวบ้านสามารถเบิกไปใช้เยียวยาผลกระทบได้ทันทีหากเกิดเหตุ และจะมีการเติมให้เต็มอยู่เสมอ โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้การตรวจสอบร่วมกันของคณะกรรมการไตรภาคี ระหว่างชุมชน ภาครัฐ และบริษัท

ส่วนนายสมชาย นิติกาญจนา เจ้าของฟาร์มเลี้ยงสุกร จ.ราชบุรี ผู้จัดทำโครงการผลิตไบโอแก๊สจากฟาร์มตั้งแต่ 12 ก.พ.37 ซึ่งโครงการของเขา กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด ก็เป็นอีกตัวอย่างความสำเร็จของการพัฒนาที่สะอาดของไทยที่มาร่วมวงเสวนาด้วย

นายสมชายเผยว่า โครงการดังกล่าว ได้ใช้ขี้หมูซึ่งมีก๊าซมีเทนถึง 70% ผลิตกระแสไฟฟ้ากำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าไฟฟ้าประมาณ 8 แสนบาท/ปี และใช้ตะกอนที่เหลือทำปุ๋ยพืช นอกจากนั้นยังได้นำน้ำล้างคอก ซึ่งเป็นสัดส่วนการใช้น้ำในฟาร์มถึง 80% มาบำบัดเพื่อใช้ใหม่ และได้ทดลองนำน้ำเสีย ที่ไม่ผ่านการบำบัดเพื่อรดแปลงปาล์มน้ำมันเพิ่มผลผลิตด้วย

สำหรับผลการดำเนินการ ขณะนี้ โครงการผลิตไบโอแก๊สจากฟาร์มสุกร ช่วยลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนหรือคิดเป็นคาร์บอนเครดิตได้ราว 20,000 ตัน/ปี และแม้จะยังไม่ได้การรับรองการค้าก๊าซฯ อย่างเป็นทางการ ทว่าได้รับการติดต่อขอซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศเดนมาร์ก และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ในราคาประมาณ 4 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน คิดเป็นมูลค่าที่น่าจะขายได้ประมาณ 3-4 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ เจ้าของโครงการผลิตไบโอแก๊สจากฟาร์มสุกรยังเชิญชวนผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ทำโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดให้เข้ามาประกอบกิจการดังกล่าวมากขึ้นด้วย เนื่องจากปัจจุบันภาครัฐให้การสนับสนุนมาก เช่น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

"โครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ปกติอาจต้องใช้เวลาคืนทุนถึง 10 ปี แต่เมื่อมาใช้กลไกการพัฒนาที่สะอาดแล้วจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจนคืนทุนได้ใน 5 ปี ยิ่งรัฐให้งบประมาณสนับสนุนอีก ก็สามารถคืนทุนได้ภายในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น แถมยังเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน" นายสมชาย ซึ่งโครงการของเขาได้รับการสนับสนุนทุนติดตั้งระบบผลิตไบโอแก๊สจาก สนพ.เสริม

อย่างไรก็ดี ด้านประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ จำกัด ติงว่า ต่อไปกฎเกณฑ์การขอการรับรองสิทธิ์การค้าคาร์บอนเครดิตจะมีความเข้มงวดมากขึ้น ดังนั้นหากเน้นไปที่เรื่องปริมาณโครงการมากเกินไป อาจทำให้การจัดทำโครงการไม่ได้คุณภาพ และถูกปฏิเสธจากคณะกรรมการบริหารกลไกการพัฒนาที่สะอาด ซึ่งโครงการที่เคยถูกปฏิเสธแล้วจะไม่มีสิทธิ์ส่งเข้าพิจารณาอีก.
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดตัวเอกชนไทยรายแรกที่มีสิทธิ์ค้าคาร์บอนเครดิตตามความเห็นชอบจากยูเอ็นกลางเวทีเสวนาเรื่องคาร์บอนเครดิต
นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ จำกัด
นายสมชาย นิติกาญจนา เจ้าของฟาร์มเลี้ยงหมู จ.ราชบุรี ผู้จัดทำโครงการผลิตไบโอแก๊สจากฟาร์มสุกร
2 ผู้ประกอบการคาร์บอนเครดิตยังกล่าวในงานวันสิ่งแวดล้อมโลก 51 โดยเชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่ยังลังเลใจกระโดดมาร่วมวงมากขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น