xs
xsm
sm
md
lg

แนะนำบทบาทการกำกับดูแลการปฏิบัติงานการจัดการกองทุน (3)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"คอลัมน์คุยกับผู้จัดการกองทุน"
เสาวณีย์ เต็งวงษ์วัฒนะ
ผู้อำนวยการฝ่าย กลุ่มกำกับและดูแลการปฎิบัติงาน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อยุธยา จำกัด
saowanee@ayf.co.th

พบกันอีกครั้งต่อจากสองสัปดาห์ที่แล้ว บทบาทการกำกับดูแลการปฏิบัติงานการจัดการกองทุน (Compliance) จะวางวิธีปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ในการบริหารจัดการกองทุน โดยเน้นไปที่การจัดการลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนมากกว่าผู้ถือหุ้นของบริษัทจัดการ ทั้งนี้ ได้ยึดหลักการตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพการจัดการลงทุนและจรรยาบรรณจัดการลงทุนที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนกำหนดไว้ ซึ่งในครั้งนี้ขอยกมาตรฐานการประกอบวิชาชีพการจัดการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหน่วยลงทุนในฐานะลูกค้า อันเป็นมาตรฐานที่ Compliance ต้องกำหนดให้พนักงานจะต้องถือปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงมาตรฐานดังกล่าว ดังนี้

1. การกำหนดวัตถุประสงค์ของการลงทุนให้แก่ลูกค้า
(ก) ต้องแนะนำหรือให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปในการลงทุน ลักษณะของผลตอบแทน และความเสี่ยงจากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ หรือเลือกวัตถุประสงค์ในการลงทุนให้เหมาะสมตามสถานภาพของตน
(ข) ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าอย่างเพียงพอโดยเฉพาะในกรณีของลูกค้ากองทุนส่วนบุคคล เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาสถานะและวัตถุประสงค์ในการลงทุนของลูกค้า และต้องปรับปรุงข้อมูลลูกค้าให้ทันสมัย โดยกำหนดวิธีปฏิบัติในการสอบทานข้อมูลลูกค้าตลอดจนความเหมาะสมวัตถุประสงค์ในการลงทุนของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ

2. การรักษาผลประโยชน์ของลูกค้า
(ก) ต้องปฏิบัติการใดๆ เพื่อให้การบริหารและจัดการกองทุนดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนและรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของลูกค้าโดยผลประโยชน์ของลูกค้าต้องมาก่อนผลประโยชน์ของบริษัทจัดการหรือผลประโยชน์ของพนักงาน
(ข) ต้องดำเนินการให้ลูกค้าได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงได้รับอย่างครบถ้วน
(ค) ต้องการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการลงทุนของกองทุน และการจัดสรรหลักทรัพย์หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่กองทุนเป็นไปอย่างเป็นธรรม
(ง) ห้ามชดเชยผลประโยชน์ใดๆ แก่ลูกค้า หรือ รับค่าทดแทนจากบุคคลหรือสถาบันใดๆ อันเป็นผลมาจากการจัดการลงทุน เว้นแต่เป็นไปตามระเบียบที่สมาชิกกำหนดและได้เปิดเผยการดำเนินการดังกล่าวต่อลูกค้า ก่อนที่จะมีการทำสัญญาว่าจ้างให้บริหารการลงทุนได้
(จ) ต้องไม่ทำให้ลูกค้าเสียประโยชน์จากการเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนหรือในสัญญาว่าจ้าง
(ฉ) ต้องไม่ทำการชื้อขายหลักทรัพย์ถี่เกินความเหมาะสม อันก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการซื้อขายมากเกินความจำเป็น เว้นแต่จะมีเหตุผลอันสมควรว่าการกระทำดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อกองทุน
(ช) ต้องรักษาความลับและผลประโยชน์ของลูกค้าเหนืออื่นใด ตราบเท่าที่การกระทำดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายและประกาศที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจรรยาบรรณการจัดการลงทุน
(ซ) ต้องติดตามข้อมูลการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทที่กองทุนถือหุ้นอยู่ และควรเข้าร่วมประชุมเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของกองทุนตามความเหมาะสม

โดยCompliance จะคอยกำกับดูแลและตรวจสอบการทำงานของพนักงานให้ปฏิบัติตามนโยบายที่กล่าวไว้ ตลอดจน กำหนดแนวทางพิจารณาดำเนินการหรือลงโทษเมื่อมีการฝ่าฝืนนโยบายและแนวทางปฏิบัติดังกล่าวให้เหมาะสมกับระดับความรุนแรงของการฝ่าฝืน ดังนั้น Compliance จึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทและมีความสำคัญยิ่งต่อบริษัทจัดการ ซึ่งข้อกำหนดของทางการเองยังกำหนดให้บริษัทจัดการต้องจัดให้มีหน่วยงานดูแลการปฏิบัติงาน (Compliance unit) อีกด้วย

ในท้ายนี้ ท่านผู้อ่านคงจะพอรู้จักกับ Compliance ในฐานะ ผู้คุ้มกฎ หรือ หูตาชั้นใน ของบริษัทจัดการว่าคือใคร และมีบทบาทสำคัญอย่างไรกันบ้างแล้ว และหวังว่าหลักการที่ยึดถือไว้ว่าบริษัทจัดการแต่ละแห่งนั้นมีหน้าที่ดูแลและรักษาผลประโยชน์ให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ จะทำให้กองทุนรวมของบริษัทจัดการเป็นทางเลือกในการลงทุนอีกช่องทางหนึ่งได้ต่อไป

(คำเตือน: การตัดสินใจลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน)
กำลังโหลดความคิดเห็น