xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งแวดล้อม-อาหาร เหตุทำ "พันธุกรรม" เปลี่ยน ตัวการก่อมะเร็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยพบว่าสิ่งแวดล้อมและอาหารการกินส่งผลใด้ดีเอ็นเอของคนเราเปลี่ยนแปลงได้ตลอดช่วงชีวิต และเป็นสาเหตุทำให้ป่วยด้วยโรคต่างๆ แต่ไม่ได้ไปมีผลเปลี่ยนลำดับพันธุกรรมในจีโนมแต่อย่างใด (ภาพจากแฟ้ม)
สิ่งแวดล้อมและอาหารการกิน มีผลทำให้พันธุกรรมของคนเราเปลี่ยนไปได้ นักวิจัยพบมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิต ตัวการก่อโรคเบาหวาน มะเร็ง ซ้ำยังถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

ทีมวิจัยสหรัฐอเมริการ่วมกับนักวิจัยในไอซ์แลนด์ ศึกษาพบดีเอ็นเอของคนเราเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ในช่วงชีวิตของเรา อันเป็นผลมาจากปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและอาหารการกิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บเมื่ออายุมากขึ้น โดยได้รายงานผลการวิจัยในวารสารสมาคมการแพทย์สหรัฐอเมริกา (American Medical Association)

"การแพทย์สมัยใหม่ทำให้พวกเราสังเกตเห็นได้ว่า ยีนหรือพันธุกรรมนั้นสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ จากการถูกกระตุ้นด้วยสิ่งแวดล้อมและโภชนาการ  ซึ่งไม่เหมือนกับลำดับของดีเอ็นเอของแต่ละคน ที่จะมีเหมือนกันในทุกๆ เซลล์ของคนคนนั้น และความผิดปกติหรือการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ เป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคมากมาย เช่น เบาหวาน, ออทิสซึม และมะเร็ง เป็นต้น" แอนดรูว์ เฟนเบิร์ก (Andrew Feinberg) ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาระดับโมเลกุล มหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอพกินส์ (Johns Hopkins University) มลรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐฯ กล่าว ซึ่งสำนักข่าวเอเอฟพี ได้รายงานว่าเขาและทีมวิจัยได้ศึกษาจนพบว่า สิ่งแวดล้อมและอาหารการกินทำให้ยีนเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ทีมวิจัยได้ศึกษาวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมในดีเอ็นเอของคนจำนวน 600 คน ซึ่งเป็นอาสาสมัครในโครงการศึกษา เกี่ยวกับโรคหัวใจของไอซ์แลนด์ นักวิจัยนำดีเอ็นเอจากบุคคลเหล่านั้นมาศึกษาทั้งหมด 3 ครั้งด้วยกัน คือในปี 2534, 2545 และ2548 โดยวัดความแตกต่างของระดับการเกิดเมทิเลชัน (methylation) ในดีเอ็นเอ ซึ่งเมทิเลชันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น กับดีเอ็นเออันเป็นผลมาจากปัจจัยต่างๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมและอาหารการกิน ซึ่งนักวิจัยพบว่า 1 ใน 3 ของดีเอ็นเอตัวอย่างที่นำมาศึกษามีการเปลี่ยนแปลงของระดับเมทิเลชันในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด

"หากระดับเมทิเลชันในดีเอ็นเอไม่เหมาะสม ก็จะชักนำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วความผิดปกติที่เกิดขึ้นจะเป็นการไปปิดกั้นการทำงานของหลายยีน ขณะที่บางกรณีจะเป็นการไปส่งเสริมให้ยีนทำงานผิดที่หรือผิดเวลา" คำอธิบายจากวิลมุนเดอร์ กุดนาสัน (Vilmundur Gudnason) ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์เกี่ยวกับโรคหัวใจจากมหาวิทยาลัยไอซ์แลนด์ (University of Iceland) กรุงเรคยาวิก ไอซ์แลนด์

"สิ่งที่เราพบนี้สามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ให้กับทฤษฎีที่ว่า พันธุกรรมของเราเปลี่ยนแปลงไปเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ก็สามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้เช่นกัน ทำให้อธิบายได้ว่าทำไมบางครอบครัวถึงเป็นโรคต่างๆ มากกว่าครอบครัวอื่นๆ" แดเนียลลี ฟอลลิน (Daniele Fallin) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยา วิทยาลัยสาธารณสุข จอห์น ฮอพกินส์ บลูมเบิร์ก (Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health) กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น