xs
xsm
sm
md
lg

บจ.ฝันตลาดทุนลดภาษีถาวร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน –คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยวางกรอบจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุน ชี้มี 4 มาตรการเร่งด่วนทำให้เสร็จภายใน 1ปี ทั้งส่งเสริมตลาดตราสารหนี้ -ภาษีควบรวม –ภาษีบจ. –กองทุนกบช. "ภัทรียา"เผยภาคเอกชนอยากให้ลดภาษีบจ.แบบถาวร อีกทั้งยกเว้นภาษีกำไรจากลงทุนตราสารหนี้เหมือนกับหุ้น ส่วนประเด็นแปรรูปตลท.เตรียมถกในการประชุมครั้งหน้า ขณะที่มาร์เก็ตแคปปี52 จะโตถึง80% ของจีดีพี ด้าน"หมอเลี้ยบ"เล็งเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียน โดยใช้มาตรการภาษีดึงดูดใจ หวังโกยรายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น หลังพบตลาดทุนไทยอ่อนไหวตามปัจจัยจิตวิทยาง่าย
 

นายแพทย์ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ครั้งที่ 2/2551 วานนี้(2 พ.ค.) เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเค้าโครงของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย วิสัยทัศน์ และมาตรการสำคัญเพื่อพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนและผู้ระดมทุนได้อย่างกว้างขวางมีเสถียรภาพ รวมทั้งมีต้นทุนการทำธุรกิจกรรมทางการเงินที่ต่ำ สามารถแข่งขันได้ มีความหลากหลายของสินค้าเพื่อการลงทุน นักลงทุนได้รับการคุ้มครองและมีความรู้อย่างเหมาะสม และเชื่อมโยงกับตลาดทุนทั่วโลก

ทั้งนี้คณะกรรมการได้พิจารณาเค้าโครงมาตรการที่ควรบรรจุในแผนพัฒนาตลาดทุนไทยและมอบให้คณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)เป็นประธานไปศึกษาในรายละเอียดก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งต่อไปที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2551

ปัจจุบัน ตลาดทุนไทยยังไม่แข็งแรงพอ เพราะยังมีความอ่อนไหวกับปัจจัยทางด้านจิตวิทยามาก เนื่องจาก สินค้าในตลาดทุนยังมีน้อย ซึ่งจะต้องมีการพิจารณาว่าจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนมากขึ้น โดยมีหลายมาตรการที่จะต้องนำการดำเนินงาน เช่น การจูงใจด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าเมื่อบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทำให้ภาครัฐมีการจัดเก็บภาษีที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการได้เน้นในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีก่อน ส่วนการประชุมครั้งหน้าจะมีการหารือเกี่ยวกับการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้มีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำลง ต่อไป

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า มาตรการเร่งด่วนที่จะต้องมีการดำเนินการให้เสร็จภายใน1 ปี มี 4 เรื่อง ได้แก่ประเด็นที่ 1.มาตรการด้านตลาดตราสารหนี้ ในการยกเว้นภาษีให้แก่นักลงทุนที่มีกำไรในการลงทุนในตราสารหนี้ ให้เหมือนกับนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้น อีกทั้งเพิ่มความหลากลายของตราสารหนี้ โดยกระทรวงการคลังมีแผนที่จะออกพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 30 ปี เป็นระยะ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนระยะยาวและรองรับการระดมทุนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ รวมถึงการออกพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษเป็นครั้งคราวให้แก่นักลงทุนกลุ่มเป้าหมายให้สามารถลงทุนในตราสารหนี้ได้โดยตรงเพื่อขยายฐานนักลงทุน

ขณะเดียวกันภาครัฐจะเน้นการสร้างBenchmark Bond ที่มีสภาพคล่องสูงในตลาดรองต่อไป โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี อย่างต่อเนื่อง ให้มีวงเงินคงค้างไม่ต่ำกว่ารุ่นละ 80,000 ล้านบาท และ 60,000 ล้านบาท ตามลำดับ รวมถึงออกพันธบัตรระยะยาวรุ่นอายุ 15 ปี และ 20 ปี ให้มีวงเงินคงค้างไม่ต่ำกว่ารุ่นละ 30,000 ล้านบาท และมีแผนที่จะทำ Bond Switching เพื่อเปลี่ยนพันธบัตรรุ่นที่ ขาดสภาพคล่องในตลาดรองมาเป็นรุ่น Benchmark Bond ที่มีสภาพคล่องสูงแทนในปีงบประมาณ 2552

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีความคิดเห็นในเรื่องอื่น นั่นคือ การเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ตลาด เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะประกาศผลประมูลพันธบัตรรัฐบาลในตลาดแรกภายใน 30 นาที หลังปิดประมูลในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ รวมถึงจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลทั้ง Intra-day และ End of day กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่า สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA )จะส่งข้อมูลการซื้อขายระหว่างวันและเผยแพร่ลงในหน้าจอ Bloomberg ได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศสามารถรับรู้ข้อมูลการซื้อขายตราสารหนี้ของไทยได้รวดเร็ว และครบถ้วนยิ่งขึ้น และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) จะเปิดให้ธนาคารพาณิชย์สามารถทำธุรกิจตราสารหนี้ได้ครบวงจรทั้งจัดจำหน่าย ค้า และเป็นนายหน้า ส่วนตราสารหนี้และอนุพันธ์ของตราสารหนี้ และจะมีการทบทวนแก้ไขในเรื่องภาษีที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาตลาดทุนอีกครั้ง

ประเด็นที่2 คือการการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital : VC) ที่ลงทุนใน SMEs เพื่อสนับสนุนให้มีผู้เข้าร่วมลงทุนในเอสเอ็มอีมากขึ้น รวมทั้งการออกมาตรการภาษีเพื่อรองรับพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน รวมถึงการออกมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการซื้อขายตราสารหนี้ ในตลาดตราสารหนี้ (BEX) การปรับปรุงประมวลรัษฦากรเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการและออกมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะมีการพิจารณาในเรื่องการลดภาษีแก่บริษัทเข้าจดทะเบียนให้มากกว่า 2-3 ปี ดังเช่นในปัจจุบัน โดยมีโอกาสหรือไม่ที่จะให้เป็นระยะยาวหรือถาวร ซึ่งเป็นเรื่องที่เอกชนอยากให้เกิดขึ้น

เพราะแต่เดิม บริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯและตลาดเอ็ม เอ ไอ จะได้รับการลดภาษีบริษัทนิติบุคคล 25% และ 20% ตามลำดับเฉพาะในช่วง 3 ปีแรกเท่านั้น

ประเด็นที่ 3การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของการควบรวมกิจการ เพื่อลดปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการดังกล่าวเพื่อสนับสนุนให้มีการควบรวมมากขึ้น ทำให้บริษัทมีขนาดที่ใหญ่แข็งแกร่งและเป็นที่สนใจของนักลงทุน และประเด็นที่ 4 เรื่องการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.)ซึ่งคณะกรรมการฯได้พิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นในการจัดตั้งกบช. โครงสร้างกบช. โดยจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนดำเนินการ

นอกจากนี้ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ คาดการณ์ถึงมูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป)ในปี 2552 นั้นในเบื้องต้นจะเติบโตเท่ากับ 80%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น