xs
xsm
sm
md
lg

"เลี้ยบ"รื้อใหญ่แผนตลาดทุนไฟเขียวตั้งอนุฯ 2 ชุด วางกรอบใน6เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - บอร์ดพัฒนาตลาดทุนไทยประชุมนัดแรก "เลี้ยบ" ประเดิมอนุมัติตั้งคณะอนุกรรมการฯ 2 ชุด วางกรอบจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทยอีก 10 ปีข้างหน้า หวังสร้างความแข็งแกร่งตลาดทุนไทยหวังเป็นศูนย์กลางของตลาดทุนในภูมิภาค ขณะที่แผนเร่งด่วนที่ต้องทำให้เสร็จปีนี้ ทั้งมาตรการจูงใจบจ.ไทย-เทศเข้าจดทะเบียน หนุนการควบรวมกิจการ และออกพันธบัตรรัฐบาลสม่ำเสมอ ฯลฯ ระบุต้องจัดทำแผนให้เสร็จภายใน 6 เดือน ด้าน "ภัทรียา" แจงปี 52 โครงสร้างตลาดหลักทรัพย์ฯ ชัดเจน แต่ยังไม่กระจายหุ้นให้นักลงทุน

นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยครั้งแรก วานนี้ (23เม.ย.) ว่า ที่ประชุมฯ ได้หารือถึงแนวทางการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้า (2552-2561) โดยในการประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมกรจัดทำแผนการพัฒนาตลาดทุนไทย และคณะอนุกรรมการกำกับพัฒนาตลาดตราสารหนี้

โดย คณะอนุกรรมกรจัดทำแผนการพัฒนาตลาดทุนไทย จะทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาตลาดทุนที่เป็นรูปธรรม มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและครอบคลุมทั้งตลาดตราสารทุน ตราสารหนี้ และตราสารอนุพันธ์ ซึ่งแผนพัฒนาฯ จะมีระยะเวลา 10 ปี ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะมีต้องจัดทำแผนงานให้เสร็จภายใน 6 เดือนข้างหน้า

ส่วนคณะอนุกรรมการกำกับพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลพัฒนาตลาดตราสารหนี้ตามแผนที่มีอยู่เดิมให้ดำเนินต่อไประหว่างการจัดทำแผนฉบับใหม่

สำหรับแผนการดำเนินงานเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2551 คือ การสร้างแรงจูงใจให้บริษัทไทยและต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฯ การออกพันธบัตรรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงให้กับตลาด การออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการของบริษัทจดทะเบียน และการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางภาษีระหว่างเครื่องมือทางการเงินประเภทต่างๆ

ขณะที่มาตรการที่จะต้องทำให้เสร็จภายในปี 2552 คือ การแปรสภาพของตลาดหลักทรัพย์ฯ การส่งเสริมให้มีการจัดทำระบบบำเหน็จบำนาญที่สมบูรณ์ การเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทใหม่ๆ การขยายฐานผู้ลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบข้อบังคับ และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน โดยคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 2 มิถุนายน 2551 เพื่อรับแผนการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ

น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาตลาดทุนไทยมีเป้าหมายสำคัญ 6 เดือน คือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดทุนโดยรวมโดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ และการลดต้นทุนทางการเงินในการระดมทุน 2.เสริมสร้างขนาดตลาดทุนให้ใหญ่มากขึ้น 3.เพื่อความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนและเพิ่มความสามารถในการบริหารความเสี่ยง 4.เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงตลาดทุน5.รักษาเสถียรภาพของตลาดทุนไทย และ 6.สร้างความรู้และการปกป้องผู้ลงทุน

สำหรับแผนพัฒนาฯ จะแบ่งออกเป็นสองช่วง โดยในช่วง 2-3 ปีแรก จะเน้นการยกระดับและสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนไทย เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนในประเทศ และสามารถแข่งขันได้กับตลาดทุนในต่างประเทศ ส่วนในช่วงที่สองจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงตลาดทุนไทยให้เป็นศูนย์กลางการระดมทุนและการลงทุนในภูมิภาคอินโดจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในอนาคตอาจจะรวมไปถึงประเทศในกลุ่มความร่วมมือ ASEAN+3

"หลังจากได้ดำเนินการปรับโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งให้กับตลาดทุนในประเทศแล้ว ทางการจะได้ดำเนินการเพื่อเอื้อให้ไทยสามารถทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของตลาดทุนในภูมิภาคไปพร้อมกันด้วย ซึ่งจะรวมถึงการส่งเสริมการเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาค ทั้งในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ ตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารอนุพันธ์ เพื่อเป็นฐานสำคัญในการและเพื่อประโยชน์ในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดในประเทศให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการระดมทุน เพิ่มผลตอบแทนในการออม สร้างเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะใช้ในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยยกระดับให้คนไทยโดยรวมสามารถแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลกได้อย่างยั่งยืน"

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2552 การแปรสภาพของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะยังไม่ถึงขั้นการเสนอขายหุ้นและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเพราะจะต้องมีความชัดเจนเรื่องโครงสร้างการถือหุ้น ขบวนการกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการ รวมถึงต้องรอผลประกอบการของตลาดทรัพย์ฯ ให้มีความน่าสนใจก่อน

"ในช่วง 2 ปีแรกนี้ คงจะความชัดเจนในเรื่องผลการศึกษาว่าโครงสร้างของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะออกมารูปแบบใด"

สำหรับมาตรการสนับสนุนการควบรวมกิจการ โดยให้บริษัทมีขนาดการเติบโตมากขึ้น โดยคณะการมการฯ มีแผนที่จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จากเดิมเมื่อบริษัทมีการควบรวมกิจการกันเป็น 1 บริษัท จะทำให้สิทธิประโยชน์เหลือเพียง 1 บริษัทเท่านั้น และเป็นระยะเวลาที่เหลือเท่านั้น ส่วนการควบรวมแล้วเกิดบริษัทใหม่ขึ้นมาสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะไม่ได้รับ ซึ่งคณะกรรมการฯจะให้สิทธิประโยชน์ภาษีแก่บริษัทดังกล่าว

นอกจากนี้ การนำบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยได้รับสัมปทานและการได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะมีการหารือกับทาง BOI และหน่วยงานราชการที่ให้สัมปทานการลงทุนกับบริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

"ขณะนี้ไม่มีบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทย เพราะบริษัทดังกล่าวมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินงาน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ามาเพื่อระดมทุน แต่อาจจะได้ประโยชน์ในการทำหน้าเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป"
กำลังโหลดความคิดเห็น