xs
xsm
sm
md
lg

“เลี้ยบ” สั่งรื้อใหญ่โครงสร้างตลาดหุ้น ยกร่างแผนเสร็จใน 6 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมว.คลัง นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการตลาดหุ้นไทย คาดรื้อโครงสร้างกฎระเบียบใหม่ เอื้อนักลงทุนต่างชาติมกขึ้น จับตามาตรการภาษีตราสารหนี้ ภาษีซ้ำซ้อน พร้อมจี้แผนเร่งด่วน สั่งแปรรูป ตลท.ปีหน้า สั่งยกร่างให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน "เลี้ยบ" ลั่นชง ครม.สัปดาห์หน้า เร่งตั้งประธาน ก.ล.ต.คนใหม่

วันนี้ (23 เม.ย.) มีรายงานข่าวว่า นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางมาที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ซึ่งได้เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. โดยรายงานข่าวระบุว่า การประชุมในวันนี้รัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อต้องปรับทิศทางการดำเนินงานของตลาดทุนไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ หัวข้อในการประชุมจะมีการหยิบยกประเด็นการพิจารณายกเว้นการเก็บภาษีจากกำไรซื้อขายตราสารหนี้ รวมทั้งปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อน เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากล และขจัดปัญหา อุปสรรคการลงทุนในตลาดหุ้นไทยด้วย

โดยผลสรุปเบื้องต้น ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด แบ่งฝั่งจัดทำแผนระยะยาวพัฒนาตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ โดยในส่วนของแผนพัฒนา ตลท.จะมีระยะ 10 ปี ตั้งแต่ปี 52-61 กำหนดยกร่างให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ขณะที่คณะอนุกรรมการกำกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้จะยกร่างแผนแยกต่างหาก

สำหรับแนวทางการพัฒนาตลาดทุนในระยะเร่งด่วนจะมีการสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มบริษัทจดทะเบียนใหม่ และการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสร้างความเท่าเทียม ส่วนในปี 52 จะมีการแปรรูป ตลท. การจัดทำระบบบำเหน็จบำนาญที่สมบูรณ์ และมีการเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ อีกหลายรายการ

นพ.สุรพงษ์ กล่าวภายหลังการประชุมฯ โดยระบุว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คนใหม่ หลังจากนั้นก็จะดำเนินการสรรหาเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงเช้า เช่น นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลท.รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น