xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะและแนวโน้มตลาดตราสารหนี้-ทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดตราสารหนี้

สถานการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์


มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยแบบ Outright ต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ของตลาดตราสารหนี้ลดลงเล็กน้อยเป็น 58.41 พันล้านบาทจาก 63.92 พันล้านบาทในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงคิดเป็นร้อยละ -1.34 และดัชนีหุนกู้ภาคเอกชนมีอัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงเช่นกันโดยคิดเป็นอัตราผลตอบแทนร้อยละ -0.53 ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 4.31 และมีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 5.39 ปี ในขณะที่ดัชนีหุ้นกู้ภาคเอกชนมีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 4.62 และอายุเฉลี่ยเท่ากับ 2.90 ปี อัตราผลตอบแทนปรับตัวลงทั้งเส้น โดยอัตราผลตอบแทนระยะสั้นตั้งแต่ อายุ 1-6 เดือนปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.01 ถึง 0.02 พันธบัตรระยะสั้นอายุ 1-3 ปีปรับตัวในช่วงร้อยละ -0.01 ถึง 0.05 พันธบัตรระยะกลางอายุ 4-10 ปีปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ 0.05 ถึง 0.35 และพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 0.35 ถึง 0.44

แนวโน้ม

สภาวะตลาดในเดือนมีนาคมทิศทางยังไม่แน่นอน ปัจจัยหลักที่จะมีผลกระทบต่อตลาดน่าจะเป็นแนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ หลังจากมีการประกาศยกเลิกมาตรการ 30% ก็ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่อัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างสูงน่าจะเป็นตัวแปรที่สำคัญในการพิจารณา ดังนั้นในช่วงนี้นักลงทุนเน้นการลงทุนในตราสารระยะสั้น

กลยุทธ์ประจำเดือน

กลยุทธ์การลงทุนคือ ทยอยลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เปลี่ยนเป็นตราสารหนี้ระยะกลาง

ตลาดตราสารทุน

ตัวเลขเศรษฐกิจ

- GDP ไตรมาส 4/50 โต 5.75% สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP) ไตรมาส 4/50 เติบโต 5.75% และคาดการณ์อัตราการเติบโต GDP ปี 2550 ที่ 4.75% โดยตัวเลข GDP ที่ออกมานั้นสูงกว่าระดับคาดการณ์โดยทั่วไปที่ 5.0%-5.5% เนื่องจากการเติบโตส่วนใหญ่มาจากภาคการส่งออกเป็นหลักและการใช้จ่ายภาครัฐ ในขณะที่อุปสงค์ภาคเอกชนยังอ่อนแอ การส่งออกสินค้าและบริการหลังจากปรับอัตราเงินเฟ้อแล้วเพิ่มขึ้น 8.59% ขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการเติบโตช้ากว่าเล็กน้อยที่ 5.93%

- การบริโภคภาคเอกชนยังอ่อนแอขณะที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นการใช้จ่ายด้านการบริโภคภาคเอกชนแท้จริงในไตรมาส 4/50 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 1.63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 1.76% การลงทุนเบื้องต้นไตรมาส 4/50 เพิ่มขึ้น 4.01% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เติบโตมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2/49

- การส่งออกเสริมภาคอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 35% ของ GDP ยังเติบโตอย่างมั่นคงเนื่องจากตลาดส่งออกเป็นหลัก โดยไตรมาส 4/50 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหลังจากปรับอัตราเงินเฟ้อเติบโต 8.12% ขยายตัว 5.67% จากไตรมาสก่อน ขณะที่ภาคเกษตรกรรมเติบโตเพียง 2.90% ส่วนการแพทย์และงานสังคมขยายตัว 10.66% การศึกษาขยายตัว 8.03%

- ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากกว่าคาดที่ระดับ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลการค้าเดือนมกราคมเกินดุลอยู่ที่ 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่แถลงโดยกระทรวงพาณิชย์ที่รายงานว่าขาดดุลการค้า 653 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหตุผลน่าจะมาจากการนำเข้าเครื่องบินซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย กับ กระทรวงพาณิชย์มีวิธีบันทึกตัวเลขที่ต่างกัน ตัวเลขนักท่องเที่ยวโต 8.5%YOY ส่วนดุลชำระเงิน เกินดุล 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI เดือนมกราคม เร่งขึ้นมาอยู่ที่ 12.5%YOY จากเดือนธันวาคมที่ 11.6% ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity utilization) ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 77%

สรุปภาวะตลาด

SET ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีสาเหตุมาจากแนวโน้มการเมืองที่ดีขึ้น รัฐบาลใหม่ และข่าวลือว่าจะมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ราคาน้ำมันและถ่านหินที่สูงขึ้นก็มีส่วนช่วยหนุนให้ SET ซึ่งมีสัดส่วนของหุ้นพลังงานอยู่มากปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน การปรับตัวลงของ SET ชั่วคราวระหว่างเดือนมีสาเหตุมาจากความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยและ กกต.ตัดสินใจให้ใบแดงคุณยงยุทธ ติยะไพรัช กรณีทุจริตเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี SET ปรับตัวขึ้นในช่วงสิ้นเดือนหลังจากอดีตนายกฯทักษิณกลับมาประเทศไทยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และมีข่าวว่า ธปท.กำลังเตรียมประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% หลังตลาดปิดทำการในวันที่ 29 กุมภาพันธ์

แนวโน้มตลาดเดือนมีนาคม

ทิศทางตลาด คาดว่าจะยังปรับตัวขึ้น เดือนนี้เรายังคงมองตลาดในด้านบวกและคาดว่าตลาดมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านที่ระดับ 850-900 จุดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้แม้ว่าจะมีข่าวรบกวนทางการเมืองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ใบแดงคุณยงยุทธและแนวโน้มการยุบพรรคพลังประชาชน การกลับมาของอดีตนายกฯทักษิณ แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (การประชุม กนง.ครั้งต่อไปในวันที่ 9 เมษายน) จะหนุนให้ Sentiment ภายในประเทศเป็นบวกในระยะสั้น นอกจากนี้แล้วหุ้นต่างๆก็กำลังจะเริ่มขึ้นเครื่องหมาย XD ในเดือนมีนาคม และนักวิเคราะห์ในตลาดจากผลการสำรวจของ Bloomberg ก็มองว่าเฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50% ในการประชุมครั้งต่อไป (18 มีนาคม)

กลยุทธ์ประจำเดือนมีนาคม

ให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาดในหมวด ธนาคารขนาดใหญ่ อสังหาริมทรัพย์ และโทรคมนาคม
ให้น้ำหนักเท่ากับตลาดในหมวดพลังงาน
ให้น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าตลาดในหมวดปิโตรเคมีและวัสดุก่อสร้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น