xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติอ้างเงินเฟ้อเกี่ยงลดดบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติออกตัวจากเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นทำให้เป็นข้อจำกัดในการใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แนะเร่งใช้มาตรการการคลังฟื้นลงทุน และหากเศรษฐกิจสหรัฐฯล่มหรือราคาน้ำมันลดพร้อมใช้นโยบายการเงินหนุนตาม

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนิเชีย ในหัวข้อเรื่องการผสมผสานนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้นนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง มีการประสานงานกัน และเป็นส่วนสำคัญในการดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยในส่วนของนโยบายการเงินนั้นธปท.ได้ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องในปี 2543-2546 เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ และกลับมาใช้นโยบายการเงินเข้มงวดตั้งแต่ปี 2547-2548 แต่ในปี 2549 ที่ผ่านมา นโยบายการเงินได้กลับมาอยู่ในช่วงผ่อนคลายอีกครั้งเพื่อช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ความท้าทายของการดำเนินนโยบายการเงิน และการคลังของไทย ในปี 2551 และ 2552 นั้น ธปท.มองว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ จะเป็นสาเหตุให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวลดลง จากที่ขยายตัวดีและเป็นส่วนช่วยในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา ขณะที่การฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภคในประเทศยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงในด้านการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ จากราคาน้ำมันโลก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงมีอยู่ต่อไป และเป็นข้อจำกัดของการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

รองผู้ว่าการ ธปท. กล่าวด้วยว่า ในการประมาณการเศรษฐกิจปี 2551 ของ ธปท.ว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4.5-6% สิ่งที่จะต้องมีคือ การขยายตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน จะต้องอยู่ที่ 5% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.5% ขณะที่มีความจำเป็นว่า การใช้จ่ายของภาครัฐในปี 2551 จะต้องเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน อย่างน้อยที่สุด 8%เพื่อให้ความแข็งแกร่งของการใช้จ่ายภาครัฐไปฟื้นการขยายตัวของภาคธุรกิจ และความเชื่อมั่นของประชาชนในบริโภค โดยการขาดทุนงบประมาณในปี 2552 ควรจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง และควรจะมีความชัดเจนในการลงทุนการขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้า และโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐโครงการอื่นๆ

“การดำเนินนโยบายการเงิน ในช่วงต่อไปยังต้องระมัดระวังในเรื่องอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก ขณะเดียวกัน หาก ในช่วงต่อไป แรงกดดันทางด้านราคาลดลงกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ จากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท หรือราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลง รวมทั้ง หากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวมาก จนเป็นสาเหตุในการขยายตัวของการส่งออกในปีนี้ลดต่ำลงกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ นโยบายการเงินก็พร้อมที่จะเข้าไปช่วยดูแลการขยายตวของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเช่นกัน”นางอัจนากล่าว

ศูนย์วิจัยชี้จีดีพี Q4โตเกินคาด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ว่า กนง.คงจะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในการพิจารณาทิศทางนโยบายการเงินในการประชุมครั้งนี้ โดยหากพิจารณาจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2550 ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ค่อนข้างมาก โดยที่แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯยังไม่ส่งผลกระทบที่ชัดเจนนักต่อภาคการส่งออกของไทย กอปรกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 อาจจะไม่ใช่จังหวะของการดำเนินนโยบายที่เอื้อหรือมีความเหมาะสม กนง.ก็อาจจะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันไว้ที่ร้อยละ 3.25 ตามเดิม และรอพิจารณาการปรับตัวของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งการเลือกแนวทางนี้ นอกจากจะทำให้ กนง.มีความยืดหยุ่นที่จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายในโอกาสข้างหน้าแล้ว การตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ยังช่วยให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่ปรับตัวลงไปติดลบมากขึ้นอีกด้วย

แต่ถ้ากนง.พิจารณาแล้วเห็นว่า เศรษฐกิจไทยอาจเผชิญกับความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า อันเป็นผลจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจรุนแรงและยาวนานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ผนวกกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อยังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการได้ กนง.ก็อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งในกรณีนี้อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันน่าจะถูกปรับลดลงร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 3.00

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกแนวทางใดในท้ายที่สุด กนง.ก็ควรที่จะมีการชี้แจงและแสดงเหตุผลประกอบการตัดสินใจนั้นๆ เพื่อสร้างความชัดเจนและความน่าเชื่อถือให้กับตลาดว่าการดำเนินนโยบายการเงินของกนง.ยังคงเป็นไปตามกรอบเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น