xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ไทยเชื่อ อุกกาบาตต่างดาวมีส่วนก่อชีวิตบนโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก้อนอุกกาบาตเมอร์ชิสัน (Murchison) ที่ตกลงมาในประเทศออสเตรเลียเมื่อปี 2512 ซึ่งภายหลังการตรวจสอบนักวิจัยพบว่าอุกกาบาตนี้ได้นำพาสารองค์ประกอบของสารพันธุกรรมมาจากนอกโลก และเชื่อว่ากลุ่มอุกกาบาตที่ตกลงมายังโลกมากราว 4 พันล้านปีก่อนก็เป็นเช่นเดียวกัน และทำให้เกิดวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลก (ภาพจาก Chip Clark/Smithsonian Institution/www.si.edu)
นักวิทยาศาสตร์ไทยเผย เป็นไปได้ว่าชีวิตในโลก มีที่มาจากต่างดาว เพราะอดีต โลกถูกอุกกาบาตพุ่งชนมากมาย แถมทุกวันนี้โลกก็รับเอาฝุ่นอวกาศเข้ามาวันละหลายตัน ไม่แปลกที่จะมีองค์ประกอบของชีวิตปะปนเข้ามาด้วย ดาวดวงอื่นก็เช่นเดียวกัน แต่จะพัฒนาเป็นชีวิตได้ต้องมีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม

จากกรณีที่นักดาราศาสตร์ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ร่วมกันสำรวจและพิสูจน์อุกกาบาต "เมอร์ชิสัน" (Murchison) ที่ตกในประเทศออสเตรเลียเมื่อปี 2512 และพบว่า มีโมเลกุลของยูราซิล (uracil) และแซนทีน (xanthine) ซึ่งเป็นสารอินทรีย์ที่เป็นโมเลกุลตั้งต้นของสารพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตบนโลก และเป็นข้อมูลสนับสนุนความเชื่อที่ว่าสิ่งมีชีวิตแรกเริ่มบนโลกได้รับอินทรีย์สารจากอุกกาบาตมาสร้างสารพันธุกรรมและเกิดวิวัฒนาการเรื่อยมา

ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สอบถามเพิ่มเติม ไปยังนักวิทยาศาสตร์ของไทยหลายท่านต่างก็มีความเห็นคล้ายกันว่า เป็นไปได้ที่สารอินทรีย์จากต่างดาวอาจก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตบนโลก

"สารเหล่านี้มีตั้งมาตั้งนานแล้ว เพราะว่าเมื่อก่อนโลกของเราเล็กนิดเดียว มีมวลน้อยกว่านี้ประมาณ 10 เท่า แต่มีอุกกาบาตมากมายพุ่งเข้าชนอยู่เรื่อย จนมีขนาดใหญ่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งเทห์ฟากฟ้าเหล่านั้นก็พาสารเคมี, สารอินทรีย์ต่างๆ เข้ามายังโลก รวมทั้งสารตั้งต้นของสารพันธุกรรมด้วย การเกิดชีวิตเมื่อ 3,800 ล้านปี ก็มาจากสารที่ว่านั่นเอง เมื่อโลกเย็นตัวลงสารเหล่านั้นก็เกิดการฟอร์ม (Form) ตัวเองเป็นรูปแบบต่างๆ จนพัฒนาเป็นสิ่งมีชีวิตในที่สุด" คำอธิบายจาก ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศ.ดร.สมศักดิ์ บอกอีกว่าบนดาวดวงอื่น เช่น ดาวอังคาร ก็อาจได้รับสารเคมีมาจากอุกกาบาตที่พุ่งเข้าชน และมีโอกาสก่อเกิดเป็นสารอินทรีย์หรือดีเอ็นเอได้เหมือนกัน แต่ดาวอังคารมีขนาดเล็กกว่าโลก มวลก็น้อยกว่า และแม้ว่าจะเคยมีน้ำอยู่ก็จริง แต่เพราะแรงดึงดูดไม่มากพอ ทำให้น้ำระเหยออกไปหมด ไม่สามารถดึงดูดน้ำให้คงอยู่เป็นมหาสมุทรได้เหมือนโลก จึงไม่มีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้น เพราะน้ำเป็นปัจจัยแรกที่จะทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต และทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้

"ขณะที่โลกของเราเมื่อมีน้ำมากมายจนกลายเป็นทะเล สารเคมี สารอินทรีย์ต่างๆ ที่อยู่ในทะเลก็เกิดปฏิกิริยาต่อกันจนเกิดสิ่งมีชีวิตแรกขึ้นในทะเล อย่างไรก็ตาม บนดาวดวงอื่นที่อยู่นอกระบบสุริยะและไม่มีน้ำเหมือนบนโลก ก็อาจเกิดสารอินทรีย์และสารพันธุกรรมขึ้นได้ และอาจพัฒนาจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตได้หากสภาวะแวดล้อมเหมาะสม" ศ.ดร.สมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ผ่านทางโทรศัพท์

ทางด้าน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้ความเห็นว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากทีเดียวที่อุกกาบาตจากนอกโลกจะนำพาสารอินทรีย์มาสู่โลก เพราะในแต่ละวันโลกของเราก็รับเอาเศษฝุ่นจากอวกาศเข้ามาวันละหลายตันอยู่แล้ว มันก็มีความเป็นไปได้ว่าส่วนที่เป็นอะตอม, โมเลกุลของสิ่งมีชีวิต หรือหลักฐานที่จะก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิต ก็อาจมาจากนอกโลก และความเชื่อที่ว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกเกิดจากสารต่างๆ ที่อุกกาบาตนำพามาจากอวกาศ ในทางดาราศาสตร์แล้วก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน

กรณีโมเลกุลยูราซิลและแซนทีนที่มากับอุกกาบาตเมอร์ชิสันมีคาร์บอนหนัก (C-13) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นคาร์บอนที่พบได้ในอวกาศเท่านั้น รศ.บุญรักษา บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เขาเองก็ยังไม่ทราบเหมือนกันว่า คาร์บอนหนักนั้นมีรูปแบบเป็นอย่างไร

ทั้งนี รศ.ดร.บุญรักษาอธิบายว่า คาร์บอนนั้นมีหลายรูปแบบ และบางชนิดไม่ปรากฏอยู่บนโลกของเรา เช่น คาร์บอเนเชียสคอนไดรต์ (Carbonaceous chondrite) ก็เป็นคาร์บอนอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบของดาวหาง แต่ไม่พบบนโลก ซึ่งคาร์บอนเหล่านี้มีโอกาสเข้ามาสู่โลกของเราได้ เป็นต้นว่ามากับดาวตกที่เรามักพบเห็นกัน

ผอ.สดร.แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ดาวหางและอุกกาบาตอาจนำพาสารเคมีที่เป็นสารตั้งต้นหรือองค์ประกอบของชีวิตไปยังดาวดวงอื่นๆ ได้เช่นกัน อย่างดาวอังคาร ซึ่งมีบรรยากาศเบาบางกว่าโลก ก็น่าจะมีโอกาสได้รับสารเหล่านั้นจากอุกกาบาตมากกว่าโลกด้วยซ้ำ ส่วนดาวศุกร์ก็มีโอกาสเช่นกัน แต่ดาวเคราะห์ก๊าซ เช่น ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ เมื่ออุกกาบาตตกเข้าไปแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

"แต่การจะพัฒนาจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตได้ก็ต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมด้วย ขณะที่ดาวศุกร์นั้นร้อนมากเกินไป ชั้นบรรยากาศหนา ส่วนดาวอังคารก็เย็นเกินไป และมีชั้นบรรยากาศที่เบาบางมา อาจไม่เหมาะสมที่จะทำให้องค์ประกอบของสารอินทรีย์เหล่านั้นพัฒนาเป็นสิ่งมีชีวิตได้เหมือนโลกของเรา แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าบนดาวดวงอื่นที่อยู่นอกระบบสุริยะจะต้องมีสิ่งแวดล้อมเหมือนโลกเสมอไปจึงจะก่อกำเนิดเป็นสิ่งมีชีวิตขึ้นได้ อาจมีสภาวะบางอย่างที่แตกต่างออกไป แต่เหมาะสมสำหรับสิ่งมีชีวิตที่จะกำเนิดขึ้นบนดาวดวงนั้น" รศ.บุญรักษา แสดงความเห็น.
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา เมื่อครั้งแถลงข่าวการค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพูติดอันดับ 10 สุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวตชนิดใหม่ของโลก
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม เมื่อครั้งเข้าร่วมการประชุมดาราศาสตร์ฟิสิกส์ระดับภูมิภาคแปซิฟิกครั้งที่ 8
กำลังโหลดความคิดเห็น