xs
xsm
sm
md
lg

นาซาพบ "บราวน์ลีไอต์" แร่ชนิดใหม่จากฝุ่นดาวหาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีมนักดาราศาสตร์ของนาซาตรวจพบแร่ชนิดใหม่เป็นองค์ประกอบอยู่ในอนุภาคฝุ่นจากดาวหาง 26P/Grigg-Skjellerup ที่ได้มาจากบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์เมื่อปี 2546 (ภาพจาก NASA)
ทีมนักดาราศาสตร์ตื่นเต้น หลังค้นพบแร่ชนิดใหม่ในฝุ่นดาวหาง ที่ได้จากบรรยากาศของโลก ในชั้นสตราโตสเฟียร์ ให้ชื่อว่า "บราวน์ลีไอต์" เพื่อเป็นเกียรติ แก่นักดาราศาสตร์ผู้บุกเบิก การศึกษาฝุ่นดาวหาง

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา (นาซา) พร้อมด้วยทีมนักวิทยาศาสตร์จากทั้งในสหรัฐฯ, เยอรมนี และญี่ปุ่น สำรวจค้นพบแร่ธาตุชนิดใหม่จากฝุ่นดาวหาง พร้อมกับให้ชื่อว่า "บราวน์ลีไอต์" (Brownleeite) ตามชื่อของนักดาราศาสตร์ ผู้ริเริ่มการศึกษาฝุ่นดวงดาว

ไซน์เดลีรายงาน โดยอ้างข่าวที่เผยแพร่โดยนาซาว่า ทีมนักวิจัยค้นพบแร่ชนิดใหม่ คือ แมงกานีสซิลิไซด์ (manganese silicide) ซึ่งอยู่ในอนุภาคฝุ่น ระหว่างดาวเคราะห์ (interplanetary dust particle: IDP) ที่เกิดจากดาวหาง 26พี/กริกก์-สเกลเลอรุพ (26P/Grigg-Skjellerup)

ดาวหางดวงดังกล่าว ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2445 โดยจอห์น กริกก์ (John Grigg) ชาวนิวซีแลนด์ และพบอีกครั้งในปี 2465 โดยจอห์น ฟรานซิส สเกลเลอรุพ (John Francis Skjellerup) ชาวออสเตรเลีย ที่ขณะนั้นอาศัยอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้

"ตอนเห็นแร่นี้ครั้งแรก ก็รู้ได้ทันทีเลยว่า มันเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน แต่กว่าจะรวบรวมข้อมูลได้มากพอ จนได้ข้อสรุปก็กินเวลานานหลายเดือนอยู่เหมือนกัน เพราะเม็ดแร่ชนิดนี้มีขนาดเพียง 1 ใน 10,000 นิ้ว" คำอธิบายของเคโกะ นากามูระ-เมสเซนเจอร์ (Keiko Nakamura-Messenger) นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์อวกาศจอนห์สัน (Johnson Space Center) ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยในครั้งนี้

"เนื่องจากว่าเม็ดแร่ที่พบใหม่นี้มีขนาดเล็กมากๆ เราจึงต้องใช้เทคนิคการวิเคราะห์วัตถุขนาดนาโนขั้นสูง เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีและโครงสร้างผลึกของแร่ดังกล่าว " ลินด์เซย์ เคลเลอร์ (Lindsay Keller) นักวิจัยของศูนย์อวกาศจอนห์สัน อีกคนหนึ่งเผย และบอกอีกว่า วัตถุนี้แปลกประหลาดมาก จนคาดเดาไม่ได้เลยว่า เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของดาวหาง หรือว่ากลั่นตัวมาจากเนบิวลาสุริยะ (solar nebula)

แร่ชนิดใหม่ที่ค้นพบนี้ ถูกห่อหุ้มด้วยชั้นของแร่ธาตุชนิดอื่นๆ อีกหลายชั้น ซึ่งมีรายงานว่า พบในหินจากต่างพิภพเท่านั้น โดยชั้นของแร่ชนิดต่างๆ เหล่านี้ ทางสมาคมแร่วิทยาสากล หรือไอเอ็มเอ (International Mineralogical Association: IMA) สามารถแยกได้ทั้งหมด 4,324 แร่ และไอเอ็มเอก็ให้การยอมรับแล้วว่า แร่แมงกานีสซิลิไซด์ที่พบนี้ เป็นแร่ชนิดใหม่ นอกเหนือไปจากแร่ทั้ง 4,324 ชนิดที่แยกแยะได้ก่อนแล้ว

พร้อมทั้ง ตั้งชื่อแร่ชนิดใหม่นี้ว่า "บราวน์ลีไอต์" (Brownleeite) ตามชื่อของ โดนัลด์ อี บราวน์ลี (Donald E. Brownlee) ศาสตราจารย์ทางด้านดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ในเมืองซีแอตเติล มลรัฐวอชิงตัน ผู้ริเริ่มการศึกษาวิจัย ทางด้านอนุภาคฝุ่นระหว่างดาวเคราะห์ และยังเป็นนักวิจัยหลักในภารกิจสำรวจฝุ่นดาวหางในโครงการสตาร์ดัสท์ (Stardust) ของนาซาอีกด้วย

ทั้งนี้ ฝุ่นดาวหางที่พบแร่บราวน์ลีไอต์นี้ นาซาได้มาจากการส่งเครื่องระดับสูง อีอาร์-2 (ER-2 high-altitude aircraft) ขึ้นไปเก็บตัวอย่างอนุภาคและฝุ่นดาว จากธารดาวหาง ในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ เมื่อเดือน เม.ย.2546

จากการคาดคะเนของสกอตต์ เมสเซนเจอร์ (Scott Messenger) นักวิทยาศาสตร์ในทีมอีกคนหนึ่ง ที่เสนอหลักการไว้ว่าดาวหาง 26พี/กริกก์-สเกลเลอรุพ จะทิ้งฝุ่นดาวเอาไว้ในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ ในช่วงเวลาที่แน่นอนของปี โดยนาซาริเริ่มส่งเครื่องบินระดับสูงขึ้นไปเก็บตัวอย่างฝุ่นดาวหางและอนุภาคอวกาศตั้งแต่ปี 2525

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ก็ไม่อาจทราบได้แน่ชัด ถึงแหล่งกำเนิดของอนุภาคต่างๆ เหล่านั้นได้ ขณะเดียวกันในแต่ละปี ก็จะมีอนุภาคฝุ่นจากอวกาศมาพอกพูนให้กับโลกประมาณ 40,000 ตัน มีทั้งที่เศษชิ้นส่วนที่มาจากดาวหางและดาวเคราะห์น้อย นักดาราศาสตร์จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการศึกษาเกี่ยวกับอนุภาคและฝุ่นดาว เพราะจะช่วยให้เข้าใจถึงการกำเนิดระบบสุริยะ ดาวเคราะห์ รวมถึงตัวเรามากขึ้น.
แร่ชนิดใหม่ที่พบนั้นมีขนาดเม็ดแร่ที่เล็กมากๆ เป็นแร่แมงกานีสซิลิไซด์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไม่เคยรู้จักมาก่อน และตั้งชื่อให้แร่ใหม่นี้ว่า บราวน์ลีไอต์ (ภาพจาก Sciencedaily/NASA)
กำลังโหลดความคิดเห็น