xs
xsm
sm
md
lg

หนังสือโลกร้อน "6 องศา" รับรางวัล "รอยัลโซไซตี้ไพรซ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนังสือ 6 องศาของมาร์ค ไลนัสกลายเป็นแรงบันดาลในการสร้างภาพยนตร์ของเนชันแนลจีโอกราฟิก (ภาพจากบีบีซีนิวส์)
ราชบัณฑิตแห่งสหราชอาณาจักรมอบรางวัล "รอยัลโซไซตี้ไพรซ์" ที่เคยรู้จักกันในนาม "เอเวนทิสไพรซ์" ให้หนังสือ "6 องศา" ซึ่งอธิบายว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้นทุกๆ องศา ฉายภาพให้เห็นตั้งแต่ความแห้งแล้งไปจนถึงการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่

หนังสือ "6 องศา: อนาคตของเราบนโลกที่ร้อนขึ้น" (Six Degrees: Our Future on a Hotter Planet) ของมาร์ค ไลนัส (Mark Lynas) ผู้สื่อข่าวและนักอนุรักษ์นิยมชาวอังกฤษได้รับรางวัล "รอยัลโซไซตี้ไพรซ์" (Royal Society prize) จากราชบัณฑิตยสภาแห่งสหราชอาณาจักร (Royal Society) บีซีซีนิวส์ซึ่งรายงานข่าวเรื่องนี้ระบุว่าไลนัสได้รับรางวัลในประเภทหนังสือวิทยาศาสตร์ทั่วไป โดยเขาจะได้รับเงินรางวัล 6.5 แสนบาท

เนื้อหาภายในหนังสือ 6 องศาอาศัยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เผยแพร่แก่สาธารณะและการสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเพื่อให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่เราสามารถรับรู้ได้ในโลกที่ร้อนขึ้นทุกๆ องศา ซึ่ง ศ.โจนาธาน แอชมอร์ (Prof. Jonathan Ashmore) ประธานในการตัดสินรางวัลกล่าวถึงหนังสือของไลนัสว่า "กระตุ้นความสนใจและมีความดึงดูด"

"หนังสือนำเสนอการผูกโยงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ฉายภาพกรณีเลวร้ายที่สุดโดยปราศจากความหวาดผวา 6 องศาไม่ได้ให้เพียงการได้อ่านสิ่งที่ยอดเยี่ยมหรือเป็นเขียนตามขนบเท่านั้น แต่ยังให้ภาพรวมที่ดีถึงประเด็นทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งในตอนนี้ หนังสือเล่มนี้จะกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงและทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิบัติที่ไลนัสหวังว่าภัยพิบัติอย่างในภาพยนตร์จะไม่เกิดขึ้น ทุกคนควรอ่านหนังสือเล่มนี้" ศ.แอชมอร์กล่าว

รางวัลที่มอบให้กับหนังสือวิทยาศาสตร์นี้เป็นอีกรางวัลใหญ่ในรอบปีของสหราชอาณาจักร โดยก่อนหน้านี้รอยัลโซไซตี้ไพรซ์เป็นที่รู้จักกันในนาม "เอเวนทิสไพร์ซ" (Aventis Prize) เนื่องจากการสนับสนุนของมูลนิธิเอเวนทิส (Aventis Foundation) ในช่วงปี 2543-2549 และเดิมทีเดียวมีชื่อว่ารางวัลโรน-เพาเลงซ์ (Rhone-Poulenc prize) แต่นับจากปี 2550 เป็นมาก็ใช้ชื่อราชบัณฑิตยสภาแห่งสหราชอาณาจักรเป็นชื่อรางวัล โดยรางวัลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ รางวัลสำหรับหนังสือวิทยาศาสตร์ทั่วไปและรางวัลสำหรับหนังสือวิทยาศาสตร์ที่เหมาะกับเด็กอายุไม่เกิน 14 ปี

สำหรับผู้ที่เคยได้รับรางวัลนี้ อาทิ บิล ไบรสัน (Bill Bryson) สตีเฟน เจ กูล์ด (Stephen J Gould) โรเจอร์ เพนโรส (Roger Penrose) และนักฟิสิกส์ชื่อดังอย่างสตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) และปีนี้มีหนังสือที่ติดโผรอบชิงในประเภททั่วไป 6 เล่ม คือ

"ถอดรหัสชีวิต" (A Life Decoded) ของเครก เวนเทอร์ (Craig Venter) "ปะการัง: ผู้หมดอาลัยตายอยากในสรวงสวรรค์" (Coral: A Pessimist in Paradise) ของสตีฟ โจนส์ (Steve Jones) "ราชาดวงอาทิตย์" (The Sun Kings) โดยสจ็วต คลาร์ก (Stuart Clark) "ทำไมความงามจึงเป็นสัจธรรม" (Why Beauty is Truth) ของเอียน สตีวาร์ท (Ian Stewart) และ "6 องศา: อนาคตของเราในโลกที่ร้อนขึ้น" ของมาร์ก ไลนัส

ส่วนหนังสือที่ได้รับรางวัลในประเภทสำหรับเด็กประจำปีนี้ได้แก่ "หนังสือเล่มใหญ่ของเรื่องวิทยาศาสตร์ที่จะสร้างและทำ" (The Big Book of Science Things to Make and Do) ของรีเบคคา กิลพิน (Rebecca Gilpin) และลีโอนี แพรตต์ (Leonie Pratt) ซึ่งวาดภาพประกอบโดยโจเซไฟน์ ธอมป์สัน (Josephine Thompson)
กำลังโหลดความคิดเห็น