"ฟอสซิลหนูยักษ์" ในอุรุกวัยเป็นข่าวสร้างความฮือฮาให้วงการค้นคว้าดึกดำบรรพ์ไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่ไม่กี่เดือนให้หลังนักวิทยาศาสตร์อีกทีมกลับออกมาแก้ข่าวที่พบ "หนูยักษ์" หนัก 1 ตัน นั้นไม่จริง เหตุเพราะคำนวณผิดพลาดไป และเมื่อนำมาคิดอีกอีกรอบพบว่าที่แท้ตัวจริงของฟอสซิลหนูยักษ์ หนักแค่เพียง 1 ใน 3 จากของเดิมเท่านั้น
เมื่อช่วงเดือน ม.ค.51 ที่ผ่านมา มีรายงานในวารสารราชบัณฑิตยสภาแห่งอังกฤษ (Proceedings of the Royal Society) ว่านักวิทยาศาสตร์แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา (National Museum of Natural History) เมืองมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย พบฟอสซิลส่วนกะโหลกของสัตว์ฟันแทะ และคำนวณน้ำหนักตัวได้ถึง 1 ตัน
แต่ล่าสุดสำนักข่าวเอเอฟพีมีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ในแคนาดาออกมาเปิดเผยว่า น้ำหนักดังกล่าวไม่ถูกต้อง ซึ่งผลจากการคำนวณใหม่พบว่าหนูดึกดำบรรพ์ดังกล่าว น่าจะมีน้ำหนักแค่ราว 350 กิโลกรัมเท่านั้น
ดร.เวอร์จินี มิลเลียน (Dr. Virginie Millien) จากมหาวิทยาลัยแมคกิล (McGill University) เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้นักวิจัยมีการคำนวณผิดพลาดไป โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการคำนวณและใช้ข้อมูลที่ได้จากส่วนกะโหลกที่พบ และคำนวณได้น้ำหนักตัวที่มากกว่าความเป็นจริง
อย่างไรก็ดี น้ำหนักของหนูโบราณตัวดังกล่าวที่ ดร.มิลเลียน คำนวณได้ใหม่นั้นแค่เพียง 350 กิโลกรัม หรือราว 1 ใน 3 ของน้ำหนักเดิมที่คำนวณได้ โดยได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารราชบัณฑิตยสภาแห่งอังกฤษเช่นกัน และถึงแม้น้ำหนักจะหายไปถึง 2 ส่วน แต่เจ้าหนูยักษ์นี้ก็ยังครองสถิติเป็นสัตว์ฟันแทะที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบ ขณะที่คาร์พินโชหรือคาพีบารา (carpincho or capybara) ที่มีน้ำหนักราว 60 กิโลกรัม เป็นสัตว์ฟันแทะขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบัน
ทั้งนี้ ฟอสซิลสัตว์ดังกล่าวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โจเซฟออาร์ทิกาเซีย โมเนซี (Josephoartigasia monesi) ซึ่งสำนักข่าวบีบีซีนิวส์รายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่รายงานการค้นพบ และผลการคำนวณขนาดของหนูในวารสารเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมานั้น พวกเขาใช้วิธีคำนวณโดยการใช้ค่าตัวแปรเป็นหัวกะโหลกขนาดต่างๆ แล้วคำนวณออกมาเป็นน้ำหนักตัว ในรูปแบบการคำนวณการเจริญเติบโตของส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิตที่สัมพันธ์กับการเจริญเติบโตทั้งหมดของร่างกาย ซึ่งได้ค่าอยู่ระหว่าง 468-2,586 กิโลกรัม และหาค่าเฉลี่ยได้ 1,211 กิโลกรัม
ส่วน ดร.มิลเลียน ทดลองคำนวณใหม่ โดยเพิ่มจำนวนตัวอย่างของสัตว์ฟันแทะเข้าไปอีกให้มากกว่า และปรับทฤษฎีการคำนวณแบบเดิมที่นักวิจัยได้ใช้คำนวณในตอนแรก ซึ่งเธอก็คำนวณออกมาได้ค่าน้ำหนักตัวที่น้อยกว่าเป็นส่วนใหญ่
ด้านเออร์เนสโต บลังโก (Ernesto Blanco) หนึ่งในนักวิจัยที่ศึกษาฟอสซิลหนูยักษ์ในตอนแรกเผยว่า วิธีของ ดร.มิลเลียน อาจดีกว่าก็จริง แต่ข้อสรุปที่พวกเขาได้ก็ใกล้เคียงกับของเธอ ซึ่งเขาบอกว่าค่าเฉลี่ยที่ ดร.มิลเลียน คำนวณได้เท่ากับ 900 กิโลกรัม ส่วนของเขาได้ 1,211 กิโลกรัม นับว่าไม่ต่างกันมาก.