xs
xsm
sm
md
lg

โคลนแกะเข้าตา "เอียน วิลมุต" รับ "ชอว์ไพร์ซ" โนเบลแห่งเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอียน วิลมุต (แฟ้มภาพจากเอเอฟพี)
โนเบลจริงยังไม่ได้ชิมลาง เลยได้รางวัลใกล้เคียงจากฝั่งตะวันออกไปพลางๆ ก่อน สำหรับ "เอียน วิลมุต" เจ้าพ่อโคลนนิงผู้ให้กำเนิด "แกะดอลลี" และโคลนแกะจนเข้าตากรรมการรับรางวัล "ชอว์ไพร์ซ" โนเบลจากซีกโลกตะวันออก

เอียน วิลมุต (Ian Wilmut) และไคธ แคมป์เบลล์ (Keith Campbell) นักวิทยาศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักรจากสถาบันโรสลิน (Roslin Institute) มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (Edinburgh University) พร้อมด้วย ศ.ชินยะ ยามานากะ (Shinya Yamanaka) จากมหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ได้รับรางวัล "ชอว์ไพร์ซ" (Shaw Prize) ซึ่งเป็นที่ก่อตั้งภายใต้เงินอุปถัมภ์ของ "รันรันชอว์" (Run Run Shaw) ผู้ผลิตภาพยนตร์ชื่อดังของฮ่องกงเมื่อปี 2545

รางวัลนี้รู้จักกันในฐานะ รางวัลโนเบลแห่งเอเชีย ตามรายงานของเอเอฟพี โดยผู้มอบระบุว่า ให้รางวัลทั้ง 3 จากผลงานวิจัย ด้านสเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด

"งานของทั้ง 3 ทำให้ความรู้ทางด้านชีววิทยา ของเราก้าวหน้า และให้หลักประกันในการบำบัดรักษาโรคร้ายของมนุษย์ และปรับปรุงกิจการเกษตรได้" เอเอฟพีรายงานคำแถลงอย่างเป็นทางการ ของผู้มอบรางวัล โดยทั้งสามได้รับรางวัลทางด้านชีววิทยาศาสตร์และการแพทย์

ทั้งนี้แกะดอลลี (Dolly) กลายเป็นความสำเร็จ ที่ยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ในปี 2539 แต่ก็ดึงให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มทางศาสนา และกลุ่มที่รณรงค์ต่อต้านการใช้ตัวอ่อน

แม้ว่าเทคนิคในการสร้างแกะดอลลี ที่โคลนนิงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยอาศัยเซลล์เต็มวัยแล้วของวิลมุต จะทำให้เขามีชื่อเสียง แต่ปีที่แล้วเขาก็ออกมาประกาศว่า จะเปลี่ยนการโคลน จากวิธีดังกล่าว ไปใช้วิธีของ ศ.ชินยะ ที่มีเทคนิคสร้างเซลล์ต้นกำเนิด จากการใช้ชิ้นส่วนของผิวหนัง โดยไม่ใช้ตัวอ่อนแทน ซึ่ง ศ.ชินยะประสบความสำเร็จ ในการทดลองกับหนู แต่วิลมุตจะนำวิธีดังกล่าวไปใช้ ในเซลล์ของมนุษย์

นอกจากนี้รางวัลชอว์ไพร์ซทางด้านดาราศาสตร์ ยังมอบให้กับไรน์ฮาร์ด เกนเซล (Reinhard Genzel) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้ค้นพบว่าทางช้างเผือกก็มีหลุมดำขนาดใหญ่อยู่ตรงใจกลาง

ส่วนรางวัลทางด้านคณิตศาสตร์ ตกเป็นของลุดวิก ฟัดดีฟ (Ludwig Faddeev) และวลาดิมีร์ อาร์โนลด์ (Vladimir Arnold ) 2 นักคณิตศาสตร์ชาวรัสเซียซึ่งทำงานทางด้านฟิสิกส์เชิงคณิตศาสตร์ โดยได้สร้างแผนที่การเคลื่อนที่ของดาวรอบดวงอาทิตย์
กำลังโหลดความคิดเห็น