xs
xsm
sm
md
lg

เทคโนโลยีก้าวไกลแต่ทำไม "ฟีนิกซ์" ยังส่งภาพขาว-ดำ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพล่าสุดจากยานฟีนิกซ์ซึ่งมีเค้าว่าอาจมีน้ำแข็งบนดาวอังคาร (ภาพบีบีซีนิวส์)
หลังยาน "ฟีนิกซ์" ของนาซาลงจอดบนดาวอังคาร ได้เพียงไม่มีกี่ชั่วโมง ก็ส่งภาพพื้นผิวดาวแดงกลับมา ให้คนบนโลกได้ชื่นชม สัปดาห์ต่อมาก็ยังส่งข้อมูลพื้นผิว ที่มีสัญญาณว่าอาจมีน้ำแข็งอยู่บนดาวเคราะห์ดวงนี้ แต่ก็มีข้อสงสัยว่า เทคโนโลยีบนโลกก้าวไกลไปมากแล้ว ทำไมข้อมูลที่ส่งมายังเป็นภาพขาว-ดำ?

เพื่อไขข้องใจนี้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงได้โทรศัพท์ไปสอบถาม ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ว่าเหตุใดยานฟีนิกซ์ (Phoenix) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา (นาซา) จึงส่งภาพถ่ายดาวอังคารเป็นภาพขาว-ดำ ซึ่งก็ได้คำตอบว่า เพื่อประหยัดพลังงาน เนื่องจากดาวอังคารอยู่ไกลจึงขนส่งอุปกรณ์ไปได้น้อย ซึ่งหากส่งภาพสีกลับมาต้องใช้กำลังส่งเยอะและต้องติดเครื่องปั่นไฟไปกับยานด้วย

"ผมเคยเห็นยานฟีนิกซ์ ที่ห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (เจพีแอล) ของนาซาเมื่อปีที่แล้ว เป็นยานที่เลียนแบบการทำงานของยานไวกิง (Viking) ที่ลงจอดแบบสามขาแบบนิ่มนวล แต่ก่อนส่งยานฟีนิกซ์ ก็มีการส่งยานแบบลูกโป่ง (ยานสปิริตและยานออพพอร์จูนิตี) ทั้งนี้เทคโนโลยีถ่ายภาพของฟีนิกซ์ ก็เหมือนการถ่ายภาพระยะไกลรีโมตเซนซิง (Remote Sesing) ของดาวเทียม" ดร.สวัสดิ์กล่าว

ดร.สวัสดิ์อธิบายกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์อีกว่า หากบันทึกภาพสี ต้องบันทึกแม่สีแสง 3 ภาพคือ ภาพสีเขียว แดงและน้ำเงิน ซึ่งแต่ละภาพก็จะเป็นภาพสีเดียว ที่มีความเข้มมาก-น้อยต่างกัน จากนั้นจึงภาพมาผสมกัน

ประโยชน์ของภาพสีนั้นใช้ระบุได้ว่าบนดาวเคราะห์นั้นๆ มีองค์ประกอบใดบ้าง หากแต่จุดประสงค์ของฟีนิกซ์ ก็เพื่อหาหลักฐานว่ามีน้ำอยู่บนดาวอังคารหรือไม่ และต้องการเพียงภาพที่มีรายละเอียดสูงเท่านั้น ซึ่งภาพขาว-ดำจะให้รายละเอียดสูงกว่า และใช้กำลังส่งน้อยกว่าภาพสี

นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกภาพถ่ายทางอวกาศอีกหลายรูปแบบ ที่ไม่ได้บันทึกภาพในย่านแสงที่ตามองเห็น (visible light) โดย ดร.สวัสดิ์กล่าวกับเราว่า การบันทึกภาพถ่ายในอวกาศนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะบันทึกวัตถุที่ให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในย่านใด  ทั้งนี้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสามารถคลื่นที่ไปในอวกาศได้ด้วยความเร็วเท่าแสง

พร้อมยกตัวอย่างเช่น หลุมดำที่กลืนกินทุกสิ่งแม้กระทั่งแสง แต่จะปลดปล่อยรังสีเอกซ์ความเข้มสูง เมื่อกลืนกินดวงดาว ก็ต้องใช้กล้องที่บันทึกภาพในย่านรังสีเอกซ์  หรือดาวบางดวงที่อยู่ไกลมาก และไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะแสงส่องไปไม่ถึง แต่มีความร้อนอยู่ในตัว ซึ่งจะปลดปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในย่านรังสีอิฟราเรด ดังนั้นจึงต้องใช้กล้องที่บันทึกได้ในย่านอินฟราเรด เป็นต้น.
ภาพพื้นผิวดาวอังคารหลังจากฟีนิกซ์ลงจอดไม่กี่ชั่วโมง (ภาพเอพี)
ดร.สวัสดิ์ ตันติพันธุ์วดี
กำลังโหลดความคิดเห็น