xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์บุก “เมืองแห่งปาล์ม” เปิดตารับวิกฤติไบโอดีเซล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขบวนรถบรรทุกทยอยขนทะลายปาล์มส่งชุมชนสหกรณ์ฯ เต็มคันรถ ไม่ต่ำกว่าคันละ 20 ตัน
พูดถึง “ปาล์มน้ำมัน” หลายคนคงนึกถึง “ไบโอดีเซล” ที่จนวันนี้ก็ยังเห็นเพียงแสงรำไร แม้ที่ "กระบี่" ดินแดนแห่งปาล์มน้ำมัน ที่ใครๆ คิดว่าจะกลายเป็นขุมทอง ในยามวิกฤติพลังงาน แต่ความตั้งใจมุ่งมั่นผลิตไบโอดีเซลจากวัตถุดิบดังกล่าว กลับถูกขัดขวางด้วย ภาวะ "ไม่คุ้มทุน" ทำให้ท้ายที่สุด การขายเพียงแค่น้ำมันปาล์มดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีกว่า

เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ติดสอยห้อยตามคณะของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เดินทางไปร่วมงานบูรณาการงานวิทยาศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ถึงแดนที่มีต้นปาล์มเรียงรายสุดลูกหูลูกตาอย่าง "ออย ปาล์ม ซิตี" (Oil Palm City) สมญาใหม่ของ จ.กระบี่ ด้วย

เป้าหมายของการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแนะนำหน่วยงานในสังกัดให้เป็นที่รู้จัก และเสนอตัวนำความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่จากส่วนกลางไปสู่การใช้งานจริง โดยปักหมุดลงที่ ระนอง กระบี่ ภูเก็ต พังงา และตรัง โดยไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การเยี่ยมชมชุมชนสหกรณ์ ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ของคณะผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

กระบี่ : Oil Palm City

นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ล่าสุดของ “Oil Palm City” กับผู้จัดการวิทยาศาสตร์พร้อมด้วยสื่อหลายสำนักอย่างภาคภูมิใจว่า ขณะนี้กระบี่ถือเป็นจังหวัดที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ด้วยพื้นที่ปลูกกว่า 7.5-8 แสนไร่ โดยรับหน้าที่เป็นต้นแบบ เมืองไบโอดีเซลของรัฐบาล มีโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มมากกว่าจังหวัดใดๆ

ที่สำคัญ จากการหารือหารือล่าสุด กับนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นั้น พบว่า จ.กระบี่ ยังมีความสนใจรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปาล์มน้ำมันผลผลิตสูง ทดแทนการเพาะเมล็ดโดยไม่มีการทำลายต้นแม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตปาล์มให้ได้ถึง 8-10 ตันต่อไร่ จากเดิมเฉลี่ย 3 ตันต่อไร่

ทั้งนี้ โครงการนำผลผลิตที่ได้ไปใช้ในการผลิตน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของไบโอดีเซลนั้น เป็นความร่วมมือของนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อย่างไรก็ดี เมื่อลงพื้นที่จริง การผลิตไบโอดีเซลระดับชุมชนของ “Oil Palm City” แห่งนี้ก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จนัก และกำลังล้มลุกคลุกคลานอยู่มาก

ผลิตได้ แต่ "ขาดทุน" ทางตันไบโอดีเซล

ดังกรณีของชุมชนสหกรณ์ ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ที่แม้จะได้รับงบประมาณก่อตั้งโรงงานไบโอดีเซลจากงบผู้ว่าฯ ซีอีโอ 18.5 ล้านบาท และมีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ช่วยออกแบบและเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อกว่า 1 ปีก่อน

ทว่าก็ต้องหยุดเดินเครื่อง หลังจากผลิตน้ำมันไบโอดีเซลไปเพียง 100,000 ลิตร และปีที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มนี้ต้องขาดทุนไปกว่าล้านบาท

นายสนอง ปานแดง หัวหน้าโครงการศึกษาและพัฒนาโรงงานต้นแบบการผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ขนาดกำลังการผลิต 10,000 ลิตรต่อวัน ให้สัมภาษณ์ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ภายหลังการเยี่ยมชมสายการผลิตน้ำมันปาล์มน้ำมันของสหกรณ์แบบปลงๆ ว่า พวกเขาต้องหยุดผลิตไบโอดีเซล แล้วเลือกขายแต่น้ำมันปาล์มดิบซึ่งคุ้มทุนกว่ามากว่าครึ่งปีแล้ว

สาเหตุเนื่องจากรัฐบาลควบคุมราคาขายน้ำมันไบโอดีเซลไม่ให้สูงกว่าน้ำมันดีเซล เพื่อจูงใจผู้บริโภค ทำให้โรงงานต้นแบบที่มีอยู่ซึ่งใช้เครื่องจักรค่อนข้างล้าหลังกว่า 10 ปี ไม่อาจแบกรับภาวะขาดทุนได้ เพราะไบโอดีเซลที่ผลิตได้ มีต้นทุนถึงลิตรละ 40 บาท แค่ลำพังผลปาล์มสดก็มีต้นทุนถึงตันละ 4,000 บาทแล้ว แถมยังต้องแย่งผลผลิตกับภาคอาหารอีก

ประเทศเพื่อนบ้านไทยอย่างมาเลย์ เขาเริ่มเทคโนโลยีพลังงานทดแทนไปเมื่อ 20 ปีก่อนแล้ว เราน่าจะเริ่มตั้งแต่ตอนนั้น แต่ของเราเพิ่งเริ่มจริงๆ มาได้แค่ 10 ปี เรื่องนี้กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพลังงานจึงควรต้องมาร่วมมือกัน อีก 10 ปี ปัญหาน่าจะดีขึ้น” นายสนองกล่าวถึงโรงงานต้นแบบ

ในจุดนี้เอง ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ในภายหลังว่า ชุมนุมสหกรณ์แห่งนี้ ยังเป็นตัวอย่างความล้มเหลว แต่ทำได้เองแค่นี้ก็นับว่าดีแล้ว สำหรับการเริ่มต้นของชาวบ้านที่ไม่มีหน่วยงานสนับสนุนมากนัก

ตอนนี้ ชุมชนสหกรณ์ ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด จึงอยู่ระหว่างการปรับปรุงเครื่องจักรให้ผลิตน้ำมันไบโอดีเซลที่มีความบริสุทธิ์สูงขึ้น จาก 85% ไปเป็น 95% ซึ่งจะช่วยให้การผลิตไบโอดีเซลคุ้มทุนมากขึ้น

อย่างไรก็ดี หัวหน้าโครงการฯ เชื่อว่าหากราคาน้ำมันดีเซลยังเพิ่มสูงอย่างไม่หยุด จะทำให้เพดานราคาขายน้ำมันไบโอดีเซลสูงขึ้นไปด้วย และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ราคาขายน้ำมันไบโอดีเซลจะไม่ทำให้กลุ่มสหกรณ์ขาดทุน และไม่แน่ว่าอนาคตที่ราคาน้ำมันดีเซลจะทะลุ 50 บาทต่อลิตรนั้นอาจอยู่แค่ปลายปี 51 นี้ก็ได้

"สบู่ดำเกิดได้" อุดมคติในรัฐเกียร์ว่าง

ขณะที่พืชพลังงานอีกชนิดที่คนไทยให้ความสนใจอย่าง “สบู่ดำ” รศ.ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์ ผอ.โครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกระบี่ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนสบู่ดำแห่งแรกของไทย ซึ่งร่วมคณะไปด้วย ยอมรับกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า แม้ปาล์มน้ำมันจะเผชิญปัญหามากมาย ทว่าก็ยังเป็นวัตถุดิบหลักของไบโอดีเซลอยู่ดี

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะสบู่ดำไม่อาจเป็นทางออกของปัญหาพลังงาน เกินไปกว่าการใช้งานในระดับชุมชนได้ เพราะผลผลิตที่ค่อนข้างต่ำประมาณ 800 กก.ต่อไร่ หรือบีบน้ำมันได้เพียง 200 ลิตร และด้วยต้นทุนลิตรละ 60 บาท ซึ่งไม่อาจแข่งขันในเชิงพาณิชย์ได้แน่นอน เว้นแต่ผลิตใช้กับเครื่องกลการเกษตรในชุมชน

แนวทางที่เขาเสนอคือ การปลูกและใช้ประโยชน์จากสบู่ดำอย่างครบวงจร โดยไม่มีของเหลือทิ้ง ซึ่งจะทำให้การผลิตไบโอดีเซลจากสบู่ดำเกิดความคุ้มทุนขึ้น เช่น การตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยจากกากเมล็ดสบู่ดำ การทำไม้อัดจากเยื่อสบู่ดำ และการนำลำต้นไปเผาผลิตกระแสไฟฟ้า

ขณะนี้มีสหกรณ์ จ.น่าน นครราชสีมา และพิษณุโลก สนใจรับนำไปทดลองใช้ ซึ่งเขามั่นใจว่าแนวทางนี้จะขยายให้เกิดชุมชนสบู่ดำทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาพลังงานภายใต้แนวคิด “ไม่ทำอะไรเกินตัว และการพึ่งพาตัวเอง” ที่สำคัญลูกศิษย์โรงเรียนสบู่ดำกว่า 3,000 คนเริ่มแยกย้ายไปขยายผลแล้ว

ส่วนผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่บุกลงไปรับฟังปัญหาถึงในพื้นที่ โดยรมว.วิทยาศาสตร์ฯ ให้สัมภาษณ์หลังเยี่ยมชมโรงงานเพียงกว้างๆ ว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะส่งเสริมการวิจัยพัฒนาพืชพลังงานแต่ละชนิดตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ต่อไป.
ตัวอย่างน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้
ต้นปาล์มเรียงรายเต็มกระบี่
นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่
นายสนอง ปานแดง หัวหน้าโครงการศึกษาและพัฒนาโรงงานต้นแบบการผลิตไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ขนาดกำลังการผลิต 10,000 ลิตร/วัน
วุฒิพงศ์ ฉายแสง รับฟังรายงานการดำเนินการของชุมชนสหกรณ์ฯ
 วุฒิพงศ์ และรศ.ดร.สมบัติ ชิณะวงศ์ ขณะเยี่ยมชมต้นปาล์มของชาวบ้าน จ.กระบี่
กำลังโหลดความคิดเห็น