xs
xsm
sm
md
lg

อดีตนักเรียนทุน ก.วิทย์ ถ่ายทอดแรงบันดาลใจสู่เส้นทางนักวิจัยอาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

6 นักวิจัย อดีตนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม ในงานเสวนา Inspire by SCIENCE: จุดประกายชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์
เหตุการณ์ลอบจุดชนวนระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อหลายปีก่อนจุดประกายให้ "ดร.ศิวรักษ์" คิดหาวิธีช่วยลดความสูญเสียและความหวาดกลัวให้แก่พี่น้องชาวใต้ อันเป็นที่มาของเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเขาและเพื่อนนักวิจัยอดีตนักเรียนทุนกระทรวงวิทย์อีก 5 คน ได้นำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง เพื่อถ่ายทอดเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่

"เมื่อช่วงปี 2548 มีข่าวแทบทุกวัน เกี่ยวกับกรณีคนร้ายลอบวางระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จุดชนวนระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย ทำให้เรามาคิดว่าเราจะสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไรบ้างด้วยความรู้ที่เรามีอยู่ทางด้านการสื่อสารไร้สาย" ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม อดีตนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ปัจจุบันเป็นนักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เล่าถึงแรงบันดาลใจอันเป็นที่มาของผลงานวิจัยชิ้นโบแดงของเขา

ในช่วงเวลานั้นกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีโครงการนักรบพบนักวิจัยพอดี ทำให้ ดร.ศิวรักษ์ ได้ทราบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต้องการเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้ใช้ป้องกันการจุดชนวนระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ

ดร.ศิวรักษ์ จึงได้วิจัยและพัฒนาจนได้เครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อป้องกันการจุดระเบิด หรือ ทีบอกซ์ (T-Box) จำนวน 40 เครื่อง ด้วยงบประมาณ 4 ล้านบาท ภายในเวลา 6 เดือน ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนำไปใช้งานได้จริง โดยไม่ต้องนำเข้าเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของต่างประเทศที่มีราคาสูงถึงเครื่องละ 5 แสนบาท

"รู้สึกภาคภูมิใจ ที่นักวิจัยอย่างเราสามารถนำความรู้ไปช่วยประเทศชาติได้จริง และตื่นเต้นทุกครั้งที่เมื่อได้เห็นภาพข่าวในโทรทัศน์ที่มีทหารกำลังใช้เครื่องมือที่เป็นผลงานวิจัยของเราในขณะปฏิบัติหน้าที่" ดร.ศิวรักษ์ กล่าว ซึ่งเขาเคยได้รับฉายาในวัยเด็กว่า แม็คไกเวอร์ (ตัวเอกในภาพยนตร์ชุดเรื่อง แม็คไกเวอร์ ยอดคนสมองเพชร) เพราะความชอบประดิษฐ์สิ่งต่างๆ จากสิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น นำไม้แขวนเสื้อมาใช้เป็นเสาอากาศรับสัญญาณโทรทัศน์ หรือประดิษฐ์ลูกสนุกเกอร์จากลูกปิงปอง

ทางด้าน ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ นักวิจัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยได้รับทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไปศึกษาต่อต่างประเทศจนจบปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมเคมี และได้นำความรู้ทางด้านไมโครอะเรย์มาประยุกต์ใช้ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อขยายพันธุ์กุ้งกุลาดำ

"สมัยเด็กชอบทำกิจกรรม มากกว่าเรียนหนังสือ แต่มีพ่อเป็นอาจารย์ ท่านสอนอยู่เสมอว่า ไม่ให้ทิ้งการเรียนเด็ดขาด ฉะนั้น ถ้าเราชอบกิจกรรมด้วย เราก็ต้องขยันและตั้งใจเรียนมากขึ้นด้วยเพื่อไม่ให้เสียการเรียน เมื่อได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศก็มีความกดดันหลายด้าน เพราะต้องไปอยู่ห่างไกลครอบครัวเป็นครั้งแรก รวมทั้งความกดดันในการเรียนที่ทำให้เธอรู้สึกท้อแท้หลายครั้ง แต่ไม่เคยถอย และยิ่งมีความมุ่งมั่นมากขึ้นเมื่อนึกถึงว่าประเทศชาติส่งมาเรียน ต้องทำให้สำเร็จและนำความรู้กลับไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศให้ได้" ดร.นิศรา กล่าว

ส่วน ดร.ทรายวรรณ บัวทอง อดีตนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่เพิ่งกลับมารับใช้ประเทศชาติที่ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ราวปีกว่า คือรุ่นน้องโรงเรียนเดียวกับ ดร.นิศรา ที่รู้จักทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์จากรุ่นพี่ และมีรุ่นพี่คนนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ก้าวตามรอย

"การได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อยังต่างประเทศถือเป็นโอกาสที่ดีของชีวิตที่จะได้กลับมารับใช้ประเทศชาติ ไม่ได้คิดว่าเป็นภาระผูกพัน แต่ก็หนักใจพอสมควรเพราะต้องไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเราไม่รู้ภาษาของเขาเลย แต่ก็คิดว่าต้องทำให้ได้ ต้องมีความอดทน อดกลั้น กัดฟันสู้จนจบ เมื่อนึกถึงเงินภาษีที่ประชาชนส่งเรามาเรียน" ดร.ทรายวรรณ กล่าว

ด้าน ดร.จิตติ์พร เครือเนตร นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) อดีตนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่อยากช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรไทยให้ดีขึ้น ด้วยการมุ่งมั่นนำความรู้ด้านพอลิเมอร์และวัสดุศาสตร์ที่ได้ร่ำเรียนมา พัฒนาพลาสติกคลุมโรงเรือนที่สามารถคัดกรองรังสีที่เหมาะสมแก่พืชเพื่อเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีการนำไปใช้จริงในพื้นที่เพาะปลูกของมูลนิธิโครงการหลวง

"ทุกครั้งที่เราต้องลงพื้นที่ ต้องทำตัวเหมือนเป็นแก้วเปล่า และพร้อมที่จะเรียนรู้สภาพในพื้นที่จริงจากเกษตรกร หลายครั้งที่ถูกเกษตรกรไล่กลับ เพราะเขาไม่เชื่อมั่นในตัวเรา ไม่เชื่อว่านักวิจัยจะช่วยเขาแก้ปัญหาได้ เราต้องแสดงให้เขาเห็นว่าเรามีความตั้งใจที่จะช่วยเขาจริงและไม่ทิ้งเขา เพื่อใช้ความเป็นธรรมชาติทำให้พืชมีชีวิตที่ดีได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี และเกษตรกรก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย" ดร.จิตติ์พร เล่าถึงความพยายาม

นอกจากนั้น อดีตนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อีก 2 คน คือ ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร. นุวงศ์ ชลคุป ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ก็ต้องการเห็นเกษตรกรไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดย ดร.อาทิวรรณ นำเทคโนโลยีการสกัดด้วยน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ มาใช้ในการสกัดสารสำคัญจากพืชสมุนไพรและวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ส่วน ดร.นุวงษ์ พัฒนาชุดทดสอบคุณภาพน้ำมันไบโอดีเซลสำหรับอุตสาหกรรมไบโอดีเซล เพื่อหวังช่วยกระจายรายได้สู่เกษตรกรไทย และลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ นักวิจัยอดีตนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทั้ง 6 คน นี้ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตและแรงบันดาลใจที่ทำให้ได้สร้างผลงานวิจัยที่มีคุณค่าและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ภายในงานเสวนา "Inspire by SCIENCE: จุดประกายชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์" ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่โรงภาพยนตร์อินิกมา สยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 มี.ค.53 ที่ผ่านมา
ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม
ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ
ดร.ทรายวรรณ บัวทอง
ดร.จิตติ์พร เครือเนตร
ดร.อาทิวรรณ โชติพฤกษ์
ดร.นุวงศ์ ชลคุป
ดร.ทรายวรรณ (ขวาสุด) ก้าวสู่เส้นทางนักเรียนทุนกระทรวงวิทย์และเป็นนักวิจัยตามรอยรุ่นพี่โรงเรียนเดียวกัน คือ ดร.นิศรา (กลาง)
กำลังโหลดความคิดเห็น