xs
xsm
sm
md
lg

มาเลย์เล็งปล่อย "ยุงลายจีเอ็มโอ" ทดสอบตัดตอนไข้เลือดออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยุงลาย
นิว สเตรทส์ ไทมส์/เอเอฟพี - ยุงลายจีเอ็มโอนับล้านๆ ตัวกำลังจะถูกปล่อยลงที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งมาเลเซีย เมื่อยุงตัวผู้เหล่านี้ได้ผสมพันธุ์กับตัวเมีย ยีนที่ตัดต่อไว้จะเริ่มแผลงฤทธิ์ทำลายตัวอ่อนที่เพิ่งลืมตาดูโลก โดยรัฐบาลเสือเหลืองหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นหนทางการตัดวงจรไข้เลือดระบาดออกในบัดดล

สถาบันวิจัยทางการแพทย์ (Instutution of Medical Research: IMR ) กระทรวงการสุขภาพมาเลเซีย กำลังวางแผนปล่อยยุงลายเพศผู้นับล้านๆ ตัวที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม หรือ "จีเอ็มโอ" แล้ว ณ หมู่บ้านบนเกาะกือตัม (Pulau Ketam) รัฐสลังงอร์ ห่างจากกัวลาลัมเปอร์ไปทางใต้ไม่กี่ร้อยกิโลเมตร เพื่อดูประสิทธิภาพการลดประชาการยุง โดยร่วมมือกับบริษัท อ็อกซิเทค (Oxitec Ltd) ผู้พัฒนาสายพันธุ์แมลงด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ประเทศอังกฤษ

การทดลองทำโดยการปล่อยยุงลายสายพันธุ์ "แอดีส แอยิพติ" (Aedes Aegypti) เพศผู้ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมแล้วสู่ธรรมชาติ เพื่อจับคู่กับยุงลายเพศเมีย จากนั้นยีนมีพิษซึ่งใส่เข้าไปในยุงตัวผู้และส่งต่อไปถึงลูกของมันจะแผลงฤทธิ์ทำลายตัวอ่อน

สำหรับยุงลาย "แอดีส แอยิพติ" ถือเป็นพาหะสำคัญของเชื้อเดงกี (Dengue) ต้นเหตุของโรคไข้เลือดออกที่พบครั้งแรกในประเทศฟิลิปปินส์ และโรคไข้ออกผื่น (Chikungunya-ชิคุนกุนยา) ที่มีรกรากในทวีปแอฟริกา แต่ระบาดทั่วไปแม้กระทั่งในบ้านเรา 

บริษัทอ็อกซิเทคซึ่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ในอังกฤษร่วมเป็นเจ้าของอยู่ด้วย ได้ทดลองยุงจีเอ็มโอในระดับควบคุมจนได้ผลน่าพอใจ เมื่อปีที่ผ่านมา ขณะที่การทดลองภาคสนามในมาเลยเซียจะมีขึ้นปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า

อย่างไรก็ดี กรูมิต สิงห์ (Gurmit Singh) ประธานศูนย์เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (Center for Environment and Development) องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เตือนว่า ยุงจีเอ็มโออาจมีผลต่อระบบนิเวศ และทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงกว่าเดิมได้

เขาทวงถามด้วยว่า หากมีการปล่อยสู่ธรรมชาติจริง จะมีวิธีป้องกันไม่ให้ยุงจีเอ็มโอไปมีปฏิสัมพันธ์กับแมลงอื่นๆ อย่างไร และหากกลายพันธุ์ขึ้นมาจะทำให้เกิดยุงชนิดใหม่เลวร้ายกว่าเดิมหรือไม่

นอกจากนั้นยังเป็นที่ทราบกันว่า ถ้าผลการทดสอบภาคสนามครั้งนี้สำเร็จ ย่อมจะมีการแนะนำยุง "นักฆ่า" ไปใช้ในเมืองใหญ่ที่มีการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกต่อไป

นอกจากนี้หนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟ ฉบับอินเดีย (Telegraph India) ยังได้รายงานถึงเทคนิคอื่นๆ ในการควบคุมประชากรยุงลาย อาทิ การทำหมันแมลง (sterile insect technique : SIT) ด้วยการฉายรังสีหรือสารเคมีบำบัด ซึ่งใช้กันมาหลายทศวรรษ ทว่าใช้ไม่ได้ผลอีกแล้ว เพราะยุงเพศผู้ที่ผ่านการฉายรังสีจะไม่แข็งแรงและไม่ดึงดูดเพศเมียให้มาจับคู่ด้วย

ต่างจากเทคนิคใหม่ที่บริษัทอ็อกซิเทคนำเสนอเรียกว่า "อาร์ไอดีแอล-เอสไอที" (RIDL-SIT) ที่ยุงเพศผู้ยังคงมีสุขภาพดีและดึงดูดเพศเมีย ซึ่งพิสูจน์มาแล้วในการศึกษาคนละเคสในอ็อกซ์ฟอร์ดและในฝรั่งเศส รวมถึงการทดลองกึ่งภาคสนามหลายครั้งในมาเลเซีย

"มากกว่า 50% ของยุงเพศเมียในธรรมชาติ เลือกจับคู่กับยุงเพศผู้ที่ผ่านเทคนิคอาร์ไอดีแอลของอ็อกซิเทค" สีชาตรี วศาน (Seshadri S.Vasan) หัวหน้าฝ่ายสาธารณสุขของบริษัทกล่าวอ้างถึงการทดลองครั้งล่าสุดในมาเลย์

ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้จัดให้การระบาดของโรคไข้เลือดออกเป็นวาระเร่งด่วน โดยเลี่ยว จงไหล (Liow Tiong Lai) รมว.กระทรวงการสุขภาพมาเลย์ ชี้ว่า ตั้งแต่ปี 46 เป็นต้นมาได้พบการระบาดเพิ่มขึ้นถึง 16% ทุกปี ยอดผู้เสียชีวิตจากไข้เลือดออกมากที่สุดของมาเลเซียสูงถึง 102 คนในปี 47 และเพียง 3 เดือนแรกของปีนี้ก็มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 9,800 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 25 ราย

ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกใน "ไทย" ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของมาเลเซีย มีรายงานจากนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุขว่า มีผู้ติดเชื้อไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 19 เม.ย.จำนวน 10,901 ราย ในนี้มี 12 รายเสียชีวิตแล้ว เทียบกับปี 50 พบว่ามีผู้ป่วยทั้งหมด 64,040 ราย และเสียชีวิต 75 ราย

ทั้งนี้ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ได้สอบถามไปยัง ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ที่ปรึกษาฝ่ายพัฒนาบัณฑิตและนักวิจัย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ผู้ทำวิจัยด้านจีเอ็มโอ ให้ภาพการวิจัยยุงลายจีเอ็มโอในประเทศไทยว่า ยังไม่มีการศึกษา ณ ที่ใด แต่มีนักวิจัยจากหลายสถาบันเช่น ศิริราชพยาบาลซึ่งศึกษายีนก่อโรคของยุงลายเพื่อหาวิธีป้องกันโรค

อย่างไรก็ดี ในสายตาเขามองว่า การใช้ยุงลายจีเอ็มโอควบคุมโรคไข้เลือดออกยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญสูง และสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมยังไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศไทย เช่น กรณีของพืชจีเอ็มโอยังมีการต่อต้านมาก ยิ่งการศึกษาสัตว์จีเอ็มโอด้วยก็จะทำให้เกิดการต่อต้านมากขึ้นเพราะสัตว์เหล่านี้เคลื่อนไหวได้จึงควบคุมยาก ที่สำคัญวิธีการนี้ไม่มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย

ส่วนวิธีการทำหมันยุงด้วยการฉายรังสีก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้การได้ แต่มีข้อจำกัดคือ ยุงจะอ่อนแอ ไม่สามารถต่อสู้กับยุงธรรมชาติได้ ปล่อยสู่ธรรมชาติได้ในพื้นที่จำกัด และเป็นวิธีที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งอาจไม่ประสบความสำเร็จด้วย

ผศ.ดร.เจษฎา แนะว่าประเทศไทยยังมีวิธีควบคุมไข้เลือดออกอื่นๆ ที่ทำได้ง่ายและประหยัดกว่ามาก แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง เช่น การนอนในมุ้ง การดูแลตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด และการรักษาโรคแต่เนิ่นๆ ที่ทราบว่ามีอาการป่วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น