xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันฯนิวเคลียร์ปักธงปีหน้าขอ 320 ล้าน ตั้งศูนย์ฝึกคนเพื่อโรงไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครบรอบ 2 ปีของการก่อตั้ง สทน. ดร.สมพร จองคำ ผอ.สทน.เผยชงงบ 320 ล้านฯ เพื่อฝึกอบรมบุคลากรเฉพาะทางด้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ครบรอบ 2 ปี "สถาบันเทคโนฯ นิวเคลียร์" ผอ.เผยเตรียมชงงบ 320 ล้านฯ ตั้งศูนย์ฝึกผู้เชี่ยวชาญโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รับลูกกระทรวงพลังงานให้มีทันใช้ในอีก 13 ปี ก่อนรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศเจ้าของสัญญาโดยตรง ชี้จะช่วยเพิ่มคนเก่งในโรงงานนิวเคลียร์ได้ถึง 500 คนในเวลาไม่กี่ปี

ดร.สมพร จองคำ ผอ.สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.กล่าวภายหลังการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้งของอิสลามและพุทธตลอดช่วงเช้าวันที่ 21 เม.ย.51 เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีการก่อตั้งสถาบันว่า สทน.กำลังยื่นเรื่องของบประมาณประจำปี 52 จำนวน 320 ล้านบาทเพื่อจัดสร้างอาคารศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวเคลียร์พร้อมอุปกรณ์ฝึกอบรมเพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นการเฉพาะ

ทั้งนี้เพื่อรองรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์ภายในปี 64 ตามแผนของกระทรวงพลังงาน ซึ่งเขามีตำแหน่งเป็นประธานอนุกรรมการด้านการถ่ายทอด พัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสำนักประสานความร่วมมือโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) ร่วมอยู่ด้วย คาดว่าการก่อสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จในปี 2 ปีหลังจากเริ่มก่อสร้าง

"'งบประมาณก้อนนี้ถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับมูลค่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 60,000 ล้านบาท/โรง เมื่อก่อสร้างทั้ง 4 แห่งก็จะมีมูลค่ามากถึง 250,000 ล้านบาท" ผอ.สทน.กล่าว

ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีนิวเคลียร์จะฝึกอบรมบุคลากรระดับปฏิบัติงานที่จบการศึกษาด้านวิศวกรรมนิวเคลียร์ วิศวกรรมไฟฟ้า และด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์โดยเฉพาะเพื่อให้มีทักษะและความชำนาญในการใช้ทำงานกับเตาปฏิกรณ์วิจัยได้อย่างปลอดภัย และมีความรู้ในเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเชิงลึก โดยใช้เวลาฝึกอบรมหลักสูตรละ 1-2 ปี

จากนั้นหากรัฐบาลตัดสินใจให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จริงภายในปี 54 ตามที่มีการกำหนดไว้ สทน.จะส่งบุคลากรกลุ่มดังกล่าวเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทคู่สัญญาของประเทศที่มีศักยภาพที่ไทยติดต่อซื้อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อาทิ สหรัฐฯ รัสเซีย ฝรั่งเศส แคนาดา และญี่ปุ่น

โดยจะกำหนดให้คู่สัญญาต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บุคลากรไทยเท่าที่ไทยต้องการ เพื่อให้มีหัวกะทิด้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้นจาก 500 คนในปัจจุบันเป็น 1,000 คนเข้าปฏิบัติงานอย่างเพียงพอในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 4 แห่ง

ขณะที่ผลการดำเนินการใน 2 ปีแรกของ สทน. ดร.สมพร กล่าวว่า ได้มีการจัดตั้งศูนย์การใช้งานเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างชัดเจนจำนวน 5 ศูนย์คือ 1.ศูนย์ฉายรังสีอาหาร ซึ่งได้รับการรับรองจากสหรัฐฯ และประเทศในสหภาพยุโรปให้ส่งผลไม้ฉายรังสี 6 ชนิดของไทยคือ ลิ้นจี่ ลำไย มังคุด สับปะรด มะม่วง และเงาะไปขายในประเทศได้เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำลังอยู่ระหว่างของบประมาณปี 52 อีก 800 ล้านบาทเพื่อขยายกำลังการฉายรังสีให้ได้ตามความต้องการของตลาดคือ 100 ตัน/วันจากเดิม 20 ตัน/วัน

2.ศูนย์ฉายรังสีอัญมณี ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 51 จำนวน 375 ล้านบาทเพื่อเพิ่มกำลังการฉายรังสีให้ได้ 10 ตัน/ปีจากปัจจุบันที่ 200 กก./ปี 3.ศูนย์จัดการกากกัมมันตรังสี ที่จะมีการก่อสร้างมูลค่า 60 ล้านบาทเพื่อรองรับการใช้งานรังสีจากโรงงานอุตสาหกรรมและหน่วยวิจัยตามมหาวิทยาลัยต่างๆ 400 แห่งทั่วประเทศ

4.ศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ซึ่งเปิดให้บริการตรวจวัดปริมาณรังสีในอาหารเพื่อการส่งออก 50 รายการพร้อมออกใบรับรองให้ อาทิ มะม่วง สับปะรด กุ้ง และหอย คิดเป็นมูลค่าส่งออก 30,000 ล้านบาท/ปี และ 5.ศูนย์ผลิตไอโซโทปรังสีเพื่อใช้ในการผลิตยาตรวจและยารักษาโรคมะเร็งและเนื้องอกจำนวน 25 ชนิด ซึ่งมีผู้ป่วยในไทยมากถึง 60,000 ราย

"นอกจากนี้ แผนงานในปี 51 เรายังจะขยายงานในส่วนของการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้มากขึ้น ในลักษณะของการวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาตามโรงงานหรือสถานพยาบาลต่างๆ ที่ร้องขอมา ซึ่ง สทน.มีนักวิจัยระดับแนวหน้าแล้วประมาณ 50 คน" ผอ.สทน.ปิดท้าย
ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ประธานในงาน
ดร.สมพร จองคำ ผอ.สทน.
อาคารสำนักงาน 1 ใน 18 หลังภายในพื้นที่ 314 ไร่ของ สทน.ใน อ.องครักษ์ จ.นครนายก
กำลังโหลดความคิดเห็น