“สมัคร” เผยเยือนอินโดนีเซียเจรจาขอการสนุบสนุนด้านพลังงาน โดยไทยหนุนด้านอาหารตอบแทน พร้อมยอมรับมีแนวคิดในการตั้งจังหวัดที่ 77 สร้างโรงงานนิวเคลียร์ เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มทางเลือกด้านพลังงาน
วันนี้ (30 มี.ค.) นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการสนทนาประสาสมัคร ในหัวข้อทุกข์ของนายกรัฐมนตรีหน้าใหม่ ว่า การไปเยือนประเทศอินโดนีเซียที่ผ่านมานั้น ตนเองได้มีการเจรจากันในเรื่องของความมั่นคงทางด้านพลังงาน เนื่องจากอินโดนีเซียมีทรัพยากรจำนวนมาก ดังนั้น จึงขอให้อินโดนีเซียดูแลความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับไทย ในขณะที่อินโดนีเซียก็ต้องการความมั่นคงทางด้านอาหาร เนื่องจากอินโดนีเซียมีจำนวนประชากรมากจึงค่อนข้างขาดแคลน ซึ่งไทยก็ยินดีสนับสนุน
นอกจากนี้ ในเรื่องของราคาปุ๋ยได้ให้ 3 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง ไปดูแลว่าจะดำเนินการอย่างไรให้ราคาปุ๋ยลดลง โดยอยากให้เจรจากับบริษัทปุ๋ยในอินโดนีเซียเพราะราคาปุ๋ยนั้นถูกกว่าไทยมาก
ทั้งนี้ ตนเองยังได้มีการพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ของอินโดนีเซียในเรื่องของการสร้างโรงงานนิวเคลียร์ เนื่องจากเห็นว่าอินโดนีเซียเป็นพื้นที่ที่มีหมู่เกาะจำนวนมากกว่า 15,000 เกาะ ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ไทยยังต้องใช้เวลาเตรียมการ 12 ปี ในการศึกษา ซึ่งหากถึงเวลานั้นเกิดความกลัวก็จะไม่ทำ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่า ควรสนับสนุน เพราะน้ำมันใกล้จะหมด พร้อมทั้งเสนอหาเกาะเล็กๆ ในไทยตั้งเป็นจังหวัดที่ 77 เป็นแหล่งที่ตั้งโรงงานนิวเคลียร์
สำนักข่าวอันทาราแห่งประเทศอินโดนีเซีย รายงานโดยอ้างคำกล่าวของ นายคุสมายันโต คาดิมาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิจัยและเทคโนโลยี โดยระบุว่า รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังวางแผนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งหากว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ 1 แห่ง มีสมรรถนะในการผลิตกระแสไฟฟ้า 1,200 เมกะวัตต์ นั่นก็หมายความว่า อินโดนีเซียจะต้องสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ จำนวนถึง 4 แห่ง ภายในปี 2568 จึงจะสามารถสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศ
ทั้งนี้ นายคุสมายันโต ได้ยืนยันว่า มีการทำสำรวจแล้วเกี่ยวกับพื้นที่จำนวนหนึ่งที่คาดว่าจะสามารถก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ทางตอนเหนือของเกาะชวา และทางตอนใต้ของเกาะกะลิมันตัน นายคาดิมาน กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ขณะเดินทางเยือนมหาวิทยาลัยเซเบลาส มาเร็ต หรือ ยูเอ็นเอส ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองโซโล รัฐชวาตอนกลาง เขาย้ำว่า ขณะนี้อินโดนีเซียมีกฎหมายที่รองรับการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์อยู่แล้ว นอกจากนี้ พลังงานทางเลือกดังกล่าว ยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาแห่งชาติระยะยาว (National Long-Term Development Plan : RPJPN) ฉบับปี ค.ศ.2004-2025
สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกที่เมืองมูเรีย จังหวัดเจปารา ในรัฐชวากลางนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิจัยและเทคโนโลยีของอินโดนีเซีย กล่าวว่า กำหนดก่อสร้างให้แล้วเสร็จ คือ ปี ค.ศ.2016 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า ซึ่งนั่นหมายความว่า หากไม่ต้องการให้ทุกอย่างล่าช้า งานก่อสร้างควรจะต้องเริ่มขึ้นภายในปีนี้ ในส่วนของการต่อต้านจากภาคประชาชนที่มีความหวั่นเกรงเกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์นั้น นายคาดิมาน ยอมรับว่า ทุกคนมีสิทธิ์ออกเสียงแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีเกี่ยวกับโครงการนี้ แต่โครงการนี้จะยุติได้ก็ด้วยเหตุผลเดียวคือหากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายไม่ให้รัฐบาลพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
ดังนั้น ตราบใดที่กฎหมายฉบับปัจจุบันยังเปิดทางให้เดินหน้าโครงการต่อไปได้ รัฐบาลอินโดนีเซียก็จะยังคงเตรียมงานทั้งด้านเทคโนโลยี ทรัพยากรบุคคล และการหาเงินทุนสนับสนุนโครงการก่อสร้างและดำเนินการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป