รมต.พลังงาน โอ่ “ชาวนครสวรรค์” ส่ง จม.ขอมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตั้งที่บ้านตัวเอง ด้าน ผอ.สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ปัดเป็นไปไม่ได้ และยังไม่กำหนดพื้นที่ก่อสร้าง ส่วนพื้นที่สำรวจกว่า 40 จุด เมื่อ 30 ปีก่อน ต่างแปรสภาพไปเป็นรีสอร์ตหมดแล้ว ย้ำต้องเดินหน้าจัดเวทีสร้างการยอมรับจากประชาชน ส่วน ดร.กอปร รับลูก “รองนายกฯสหัส” เร่งก่อสร้างใน 10 ปีได้ แต่ต้องเร่งตัดสินใจด้วย
สำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ (สพน.) กระทรวงพลังงาน จัดสัมมนา “พลังงานไฟฟ้าทางเลือก : แนวทางการสื่อสารสู่สาธารณะและการมีส่วนร่วมของประชาชน” ขึ้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2551 ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ เพื่อระดมความคิดเห็นเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศไทยภายในปี 2563
พลโทหญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน ประธานในงานสัมมนา เผยว่า ขณะนี้มีชาวบ้านหลายจังหวัดได้ส่งจดหมายมายังกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในชุมชนตัวเอง ที่ได้อ่านจดหมายแล้ว เช่น ชาวบ้านจาก อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ซึ่งเมื่อลงสำรวจแล้วพบว่าชาวบ้านต่างยอมรับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มาก
อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามไปยัง นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน และ ผอ.สพน.ปฏิเสธว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำเพื่อใช้ระบายความร้อน และการระบายความร้อนโดยใช้น้ำจากบึงบอระเพ็ด ก็ถือว่าไม่สามารถทำได้ เพราะไกลเกินไป
ขณะที่การศึกษาเตรียมความพร้อมของการก่อสร้างล่าสุด สพน.ยังไม่มีการกำหนดสถานที่แต่อย่างใด และจะต้องมีการศึกษาใหม่ทั้งหมด เนื่องจากสถานที่ก่อสร้างที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ศึกษาไว้เมื่อปี 2520 กว่า 40 จุดบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและภาคใต้ อาทิ อ่าวไผ่ จ.ชลบุรี ต่างเปลี่ยนสภาพไปเป็นรีสอร์ตหมดแล้ว
นายณอคุณ กล่าวด้วยว่า สพน.จะต้องจัดทำแผนการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างการยอมรับจากภาคประชาชนต่อไป เพื่อให้ภาครัฐสามารถตัดสินใจได้ว่าจะมีการก่อสร้างหรือไม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า ถ้าหากมีการก่อสร้างจริง ภาครัฐจะต้องมีการจัดตั้งกองทุนอุดหนุนชุมชนรอบโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ด้วย
ด้าน ดร.กอปร กฤตยากีรณ ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เผยว่า สพน.จะจัดสัมมนาให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้ความรู้ในเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ใน 8 หัวข้อ ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งจะเริ่มเดินสายในเดือน มี.ค.นี้
การสัมมนาในครั้งนี้แบ่งเป็นการสัมมนาเชิงวิชาการ 4 หัวข้อ คือ แผนการสื่อสารและการสร้างความเข้าใจ, ระบบกฎหมายและองค์กรกำกับดูแล, ความพร้อมทางเทคโนโลยีและกำลังคน, โครงสร้างการบริหารช่วงเตรียมการและช่วงดำเนินการ
ส่วนการประชุมในวงกว้างอีก 4 หัวข้อ คือ ความปลอดภัย ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์, การจัดการเชื้อเพลิงและกากเชื้อเพลิง, ต้นทุนค่าไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และการคัดเลือกที่ตั้งและการสนับสนุนชุมชนที่ตั้ง
“รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลกระทรวงพลังงานและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ คือ คุณสหัส บัณฑิตกุล ได้กล่าวถึงแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยว่าน่าจะเกิดเร็วขึ้นกว่าแผนเดิมที่วางไว้ในอีก 13 ปีข้างหน้า ให้เหลือเพียง 10 ปี หากจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ การตัดสินว่าจะก่อสร้างหรือไม่ก็คงจะต้องตัดสินใจให้เร็วขึ้นด้วย” ดร.กอปร ตอบรับ