xs
xsm
sm
md
lg

"เอ็ดวาร์ด ลอเรนซ์" ผู้ให้กำเนิดทฤษฎี "ผีเสื้อกระพือปีก" เสียชีวิตแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอ็ดวาร์ด ลอเรนซ์ ผู้ค้นพบความอลมห่านโดยบังเอิญ จากการประมวลแบบจำลองโดยตัดทศนิยมของค่าเริ่มต้นออกไปครึ่งหนึ่ง แต่ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในเบื้องต้นนำมาซึ่งผลสืบเนื่องที่ขยายใหญ่โต ทั้งนี้ลอเรนซืได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากทำงานวิชาการเสร็จลงได้เพียง 1 สัปดาห์
นิวยอร์กไทม์/เฮอรัลด์ทรีบูน/เอพี/เอเยนซี - "เอ็ดวาร์ด ลอเรนซ์" ผู้เปิดให้โลกรู้จักปรากฎการณ์ผีเสื้อกระพือปีก จากไปอย่างสงบด้วยโรคมะเร็งภายในบ้านพัก ทิ้ง "ทฤษฎีแห่งความอลหม่าน" ที่ค้นพบโดยบังเอิญ จากความพยายามประมวลแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์เพื่อพยากรณ์สภาพอากาศไว้ให้คนรุ่นหลัง

ดร.เอ็ดวาร์ด ลอเรนซ์ (Dr.Edward Lorenz) นักอุตุนิยมวิทยาสหรัฐอเมริกา ผู้พยายามพยากรณ์สภาพอากาศจากการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์แต่กลับพบ "ทฤษฎีอลหม่าน" (chaos theory) แทนนั้น ได้เสียชีวิตลงแล้ว เมื่อวันที่ 16 เม.ย.51 ด้วยโรคมะเร็งภายในบ้านพักที่เมืองแคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเสตต์ สหรัฐฯ ขณะอายุได้ 90 ปี

ทั้งนี้เขาเป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้ให้กำเนิดแนวคิด "ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก" หรือ "บัตเตอร์ฟลาย เอฟเฟกต์" (butterfly effect) ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการรบกวนเพียงเล็กน้อยอย่างการกระพือปีกของผีเสื้อสามารถชักนำให้เกิดผลต่อเนื่องที่ตามมาใหญ่โตได้ เช่นเดียวกับคำพังเพยทำนอง "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว"

การค้นพบทฤษฎีนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญในฤดูหนาวเมื่อปี 2504 ขณะที่ลอเรนซ์พยายามจำลองสภาพอากาศโดยใช้การประมวลผลแบบจำลองอย่างง่ายทางคอมพิวเตอร์ วันหนึ่งเขาต้องการจำลองผลทางคอมพิวเตอร์ซ้ำการทดลองเดิม แต่แทนที่จะทำซ้ำเหมือนการทดลองเดิมทั้งหมด เขากลับเริ่มโดยใช้แทนค่าเบื้องต้นด้วยตัวเลขที่ตัดทศนิยมออกไปครึ่งหนึ่งเพื่อประหยัดพื้นที่ในการเก็บตัวเลขของคอมพิวเตอร์ เช่น 0.506127 เป็น 0.506

เมื่อใช้โปรแกรมเดิมกับแบบจำลองครั้งแรก รูปแบบของสภาพอากาศที่ออกมาก็ควรเป็นเหมือนครั้งแรก แต่ปรากฏว่ารูปแบบการพยากรณ์อากาศในครั้งหลังแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากผลการจำลองครั้งแรก แต่เมื่อได้รับผลดังกล่าว เขากลับคิดว่าคงเป็นเพราะคออมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาด แต่ก็มาเข้าใจในภายหลังว่า เป็นเพราะเขาใส่เงื่อนไขเบื้องต้นไม่ตรงกับครั้งแรก ซึ่งแม้จะต่างไปเพียง 0.1% แต่ก็ให้ผลในตอนท้ายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ดังนั้นลอเรนซ์จึงได้ตีพิมพ์สิ่งที่เขาพบในปี 2506 ซึ่งได้รับการยอมรับว่าป็นผลงานชิ้นเอก ในการอธิบายอย่างชัดเจนว่า ทำไมจึงไม่สามารถทำนายสภาพอากาศได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาอยู่หลายปีกว่าที่รายงานวิชาการของเขาจะได้รับการยอมรับ

อีกทั้งภายในการประชุมวิชาการของสมาคมด้านวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐฯ เมื่อกว่า 30 ปีก่อน เขาได้บรรยายในหัวข้อที่สรุปได้ตรงสาระการค้นพบของเขาคือ "ความสามารถในการทำนาย: ผีเสื้อกระพือปีกที่บราซิลจะส่งผลให้เกิดทอร์นาโดในรัฐเท็กซัสได้หรือไม่?" (Predictability: Does the Flap of Butterfly's Wings in Brazil Set Off a Tornado in Texas?)

อย่างไรก็ดีลอเรนซ์ไม่ใช่คนแรกที่เดินเข้าไปสะดุดทฤษฎีความอลหม่านโดยบังเอิญ เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 อองรี ปองกาเร (Henri Poincare) นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส พบว่าการเคลื่อนที่เนื่องจากแรงโน้มถ่วงของวัถตุ 3 ชิ้นเป็นเรื่องที่คำนวณได้ยาก แม้ว่าสมการใช้จะค่อนข้างเรียบง่าย หากแต่สิ่งที่ปองกาเรค้นพบก็ถูกลืมไปเป็นเวลาเกินกว่าครึ่งของศตวรรษที่ 20

ส่วนประวัติของลอเรนซ์ เขาเกิดที่เมืองเวสต์ ฮาร์ทฟอร์ด รัฐคอนเนคติคัต สหรัฐฯ เมื่อปี 2460 จบปริญญาตรีทางด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดาร์ทเมาธ์ (Dartmouth University) เมื่อปี 2481 และรับปริญญามหาบัณฑิตทางด้านคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในอีก 2 ปีต่อมา จากนั้นเขาก็ทำงานเป็นนักอุตุนิยมวิทยาระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

จากนั้นลอเรนซ์ก็มุ่งมั่นที่จะศึกษาทางด้านอุตุนิยมวิทยา และเขาก็สำเร็จการศึกษาทางด้านนี้ทั้งในระดับปริญญาโทและเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ (Massachusetts Institute of Technology: MIT) หรือเอ็มไอทีในปี 2486 และ 2491 ตามลำดับ

หลังจากจบการศึกษาที่เอ็มไอทีเขาก็ทำงานที่นั่นจนเกษียณ และได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณในปี 2530 หากแต่เขาก็ยังคงทำงานวิจัย ควบคู่ไปกับงานอดิเรกคือการปีนเขา ซึ่ง เชอริล ลอเรนซ์ (Cheryl Lorenz) ลูกสาวของเขาได้เปิดเผยว่า ก่อนที่ลอเรนซ์จะเสียชีวิตเพียง 2 สัปดาห์ครึ่งเขาได้ออกไปปีนเขาและได้ทำรายงานวิจัยเสร็จก่อนเสียชีวิต 1 สัปดาห์.

ตัวดึงดูดลอเรนซ์ (Lorenz attractor) ซึ่งเป็นแบบจำลอง 3 มิติ ของระบบพลวัตแบบไม่เชิงเส้นแบบเดียวกับที่ลอเรนซ์ศึกษา ทั้งนี้ภาพที่คล้ายผีเสื้อนี้อาจเป็นที่มาของชื่อ ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก
กำลังโหลดความคิดเห็น