21 เซ็นจูรี่ – ในช่วงที่ผ่านมาดัชนีหุ้นเวียดนามตกลงอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 10 กว่าปี ทำให้ต่างชาติต่างถอนทุนออก ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ในห้วงเวลาที่หลายประเทศกำลังประสบปัญหาเงินเฟ้อ เงินร้อนทั้งหลายจะหลบเข้าไปลงทุนเก็งกำไรในจีนมากขึ้น โดยช่วงที่ผ่านมาก็มีเงินร้อนไหลเข้ามากกว่าปกติถึงเท่าตัวแล้ว
หลังจากดัชนีหุ้นเวียดนาม (VN-Index) ตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ได้ตกลงอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 วันจนต่ำกว่า 400 จุดและตกไปแล้วเกือบ 2 ใน 3 ในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา และตกไป 58แล้วในปีนี้ ทั้งๆที่ดัชนีหุ้นเวียดนามเคยร้อนแรงขึ้นไปถึง 1,170 จุดในเดือนมี.ค. 2550
เมื่อตลาดหลักทรัพย์ในเวียดนามร่วงกราวรูดเช่นนี้ ได้ส่งผลให้นานาชาติต่างถอนเงินร้อนออกไปอย่างบ้าคลั่ง นายเซี่ย เหว่ยหงผู้จัดการกองทุนเซาท์เธิร์นฟันด์ได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อวันที่ 2 มกราคม ของปีนี้ตลาดหุ้นเวียดนามมีการซื้อขายกันวันละ 4.8 ล้านหุ้น ทว่าเมื่อถึงวันที่ 4 มิ.ย. การซื้อขายลดลงเหลือเพียง 1.26 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของเมื่อต้นปีเท่านั้น
แม้ว่าโดยภาพรวมนั้น สถาบันส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าวิกฤตตลาดหลักทรัพย์ของเวียดนาม จะส่งผลสะท้อนมาถึงจีน ทว่าตลาดหุ้นเวียดนามย่อมส่งผลเป็นบัตเตอร์ฟลาย เอฟเฟกต์สะท้อนมาถึงตลาดกระดานเอของจีนในทางอ้อมอย่างแน่นอน โดยด้านหนึ่งนั้นเงินร้อนที่ถูกถอนออกจากเวียดนามย่อมที่จะไหลทะลักเข้าสู่จีน ในขณะที่อีกด้านหนึ่งคือเวียดนามถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงมากในเอเชีย ก็จะมีส่วนผลักเงินเฟ้อเหล่านี้เข้าสู่จีนด้วย
เซี่ยยังได้ระบุว่า ความจริงปัญหาของเวียดนามได้ปรากฏเค้าลางให้เห็นนานแล้ว เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาเวียดนามมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงเกือบ 20% สูงที่สุดในรอบ 10 กว่าปี รัฐบาลของเวียดนามต้องการที่จะลดเงินเฟ้อ จึงทำการจำกัดสินเชื่อ และใช้การควบคุมเงินตราต่างประเทศที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งเงินลงทุนถูกถอนออกไปจากตลาดหลักทรัพย์เป็นจำนวนมาก
ในขณะเดียวกัน ประเทศรอบข้างจีน นอกจากญี่ปุ่นแล้ว แต่ละประเทศก็มีเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ทำให้เงินทุนพากันถอนตัวออกจากประเทศเหล่านั้น เซี่ยว เหว่ยหงพบว่า แม้แต่ตลาดหลักทรัพย์ของไทยและมาเลเซียเองก็มีความกังวลในเงินเฟ้อของเวียดนาม ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมาตกลง และมียอดซื้อขายน้อยลง นอกจากนั้นยังมีเงินทุนที่ไหลออกจากอินเดียอย่างรวดเร็ว โดยถึงเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา เงินลงทุนสุทธิที่ไหลออกไปแล้ว 202%
โดยในช่วงเวลานี้ จึงได้กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักที่เงินร้อนจะทะลักเข้ามา นายเว่ย เฟิงชุนรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยบริษัทหลักทรัพย์เจียงหนันได้เปิดเผยว่า “จึงถือเป็นแหล่งเงินร้อนจะไหลเข้าที่ดูค่อนข้างสมเหตุสมผล โดยขณะนี้ขั้นตอนการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์มังกรยังไม่จบ ทุนไหลเวียนทั่วโลกหากไม่ไหลเข้ามาที่จีนยังจะให้ไปที่ใด? ในขณะที่จีนยังผ่อนคลายการควบคุม เงินหยวนยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดหลักทรัพย์กับตลาดอสังหาริมทรัพย์หลังจากที่ผ่านการปรับตัวในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ก็จะเกิดรูปแบบการประเมินราคาใหม่ ซึ่งจะสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น”
อันที่จริงแล้ว เงินร้อนที่ไหลทะลักเข้าจีนเห็นได้ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เมื่อนำเอาทุนสำรองเงินตราต่างประเทศหักด้วยเงินลงทุนตรง (เอฟดีไอ) แล้วก็หักจากตัวเลขเกินดุลบัญชี ก็จะเป็นตัวเลขของเงินร้อนแบบคร่าวๆ เพราะยังไม่ได้หักลบดอกเบี้ยกับอัตราค่าเงินที่เปลี่ยนไป ซึ่งของจีนในช่วงเดือนมี.ค.คำนวณได้ 12,360 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่เดือนเม.ย.พุ่งสูงขึ้นถึง 50,160 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ปีที่แล้วเดือนที่สูงที่สุดนั้นอยู่เพียง 31,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนั้นสัญญาณที่เห็นได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในช่วง 4 เดือนแรกของจีนนั้น มีเงินลงทุนตรงเพิ่มมากขึ้น แต่ตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรจากต่างประเทศกลับลดลง ทำให้เห็นได้ว่าเงินที่เข้ามาเพื่อลงทุนในประเทศไม่ได้ถูกนำไปลงทุน
เงินร้อนเหล่นี้ไหลเข้าตลาดหลักทรัพย์กระดานเอไปเท่าไหร่คงยากที่จะคำนวณได้ ทว่าสิ่งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่มองตลาดหุ้นจีนในแง่บวก ในขณะเจ้าหน้าที่ของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) มองว่าตาดทุนของจีนยังน่าลงทุนกว่าตลาดอื่นๆ โดยให้เหตุผลว่าอัตราการขยายตัวของชุมชนเมืองในจีนนั้นเร็วขึ้น รัฐบาลมีเงินทุนที่เพียงพอ ประชากรมีรายได้ดีขึ้น การควบคุมความเสี่ยงทางการเงินก็เข้มแข็งขึ้น จะมีก็แต่ปัญหาที่เงินเฟ้อของจีนยังอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นทุนต่างชาติไหนเลยจะไม่อยากเข้าไหลเข้าไปในจีน
ในอีกด้านหนึ่งนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจจีนในปัจจุบันอยู่ในภาวะที่กำลังค่อยๆแยกเตียงนอนกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเริ่มมีประเทศในเอเชียที่กลายมาเป็นคู่ค้าหลักแทนที่ เมื่อเป็นเช่นนี้ การป้องกันเงินเฟ้อจากประเทศในเอเชียของจีนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
ดังนั้น หากเมื่อใดที่ปัญหาเงินเฟ้อของเวียดนามยังลุกลามต่อไป จนกระทบไปถึงประเทศอื่นๆในเอเชีย ก็จะส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบของจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศต่างๆในเอเชียที่ส่งออกสู่จีนในช่วงไตรมาสแรกก็มีมากถึง 309,740 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 54.3% ของการนำเข้าทั้งหมดของจีน ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างมาก
อนึ่ง ในสายตาของเว่ย เฟิงชุนแล้ว นอกจากเงินเฟ้อที่เข้ามาโดยตรงแล้ว ตอนนี้ที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือในด้านของทุน เพราะว่าประเทศรอบข้างจีนกำลังมีความเสี่ยงในด้านระบบการเงินมากขึ้น เงินร้อนก็จะไหลมาสู่จีน ทำให้อุปทานเงินหยวนเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเงินเฟ้อขยายตัว