xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นวินาศเวียดนามลดเงินเดือน-ปลดพนักงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#660099> เปลี่ยนไปแล้ว-- ภาพถ่ายวันที่ 2 มิ.ย.2551 ต่างไปจากเดือนเดียวกันที่แล้ว ห้องค้าของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งในกรุงฮานอยแทบจะว่างเปล่า มีนักลงทุนไม่กี่คนเฝ้าดูดัชนีหุ้นที่ดิ่งหัวลงตลอดเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โบรกเกอร์แห่งต่างๆ ต้องปรับตัวลดรายจ่ายให้อยู่รอดในยุคตกต่ำ (ภาพ:AFP).</FONT></CENTER>

ผู้จัดการรายวัน -- ดัชนีหุ้นเวียดนาม (VN-Index) ตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ตกลงอีก 1.41% เมื่อตลาดปิดการซื้อขายวันพฤหัสบดี (5 มิ.ย.) หลังจากดัชนีหลุ่นวูบลงปิดต่ำกว่า 400 จุด เป็นครั้งแรกเมื่อวันพุธ ซึ่งเท่ากับว่าในเวลา 14 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีได้ตกลงเกือบ 2 ใน 3

ดัชนีหุ้นที่ตกลงติดต่อกันมานานข้ามเดือน ได้บีบบังคับให้บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ หาทางลดค่าใช้จ่ายลง หลายแห่งเลือกวิธีการให้พนักงานออก หรือไม่ก็ลดเงินเดือนทำให้พนักงานต้องลาออกไปโดยปริยาย

ดัชนีหุ้นเวียดนามเคยทะยานขึ้นอย่างร้อนแรงถึง 1,170 จุด ในเดือน มี.ค.2550

ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค.เป็นต้นมา VN-Index ปิดต่ำลงทุกวันไม่เคยหยุด และหล่นลงเหลือ 390.08 จุด เมื่อวันพฤหัสบดีนี้ลดลง -5.58 จุด จากวันพุธ ซึ่งการซื้อขายปิดลงที่ 395.66 ปิดต่ำลง 5.54 จุด และเป็นครั้งแรกที่ดัชนีหุ้นเวียดนามปิดต่ำกว่า 400 จุด ในรอบ 2 ปี

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนระดับแนวหน้าได้เสนอขายหุ้นเป็นหลัก แต่ก็มีนักลงทุนสนใจน้อยมาก

ปัญหาเงินเฟ้อเป็นตัวการสำคัญที่สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ทุกฝ่าย ขณะที่บริษัทเรตติ้งมูดีส์อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's Invester Services) ได้ลดความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจเวียดนามจากแดนบวก ไปอยู่ในแดนลบเป็นครั้งแรก ด้วยเหตุผล “ขาดมาตรการในการจัดการกับเงินเฟ้อและแรงกดดันจากการขาดดุลการค้า”

เมื่อวันจันทร์ (2 มิ.ย.) นักลงทุนและตัวแทนกลุ่มประเทศผู้บริจาคที่เข้าร่วมการประชุมสัมมนา Vietnam Business Forum 2008 ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ได้แสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อในเวียดนาม ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนของประเทศ

ในยุคที่ตลาดหุ้นเวียดนามเฟื่องฟูนั้น บรรดานายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์รายเล็กสามารถทำรายได้เฉลี่ยได้วันละไม่น้อยกว่า 400 ล้านด่ง (อัตราแลกเปลี่ยน 16,060 ด่งต่อดอลลาร์) ตกมาปีนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปตลาดเข้าสู่ขาลงและไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกต่อไป

ตามรายงานของสำนักข่าวเวียดนามเน็ต บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ไม่สามารถพึ่งพารายได้นี้อีกต่อไป

ประมาณกันว่า บริษัทนายหน้าแห่งต่างๆ ในนครโฮจิมินห์และกรุงฮานอย มีรายจ่ายเป็นค่าจ้างพนักงานกับค่าเช่าสำนักงานเดือนละ 500-700 ล้านด่ง เพื่อให้คุ้มกับรายจ่ายโบรกเกอร์เหล่านี้จะต้องทำรายได้จากบริการซื้อขายถ่ายโอนหุ้นวันละ 100,000 ล้านด่ง เนื่องจากค่าธรรมเนียมที่ได้จากลูกค้านั้นเฉลี่ยเพียง 0.2%
<CENTER><FONT color=#660099> ภาพถ่ายวันที่ 2 มิ.ย.2551 มีนักลงทุนเพียงไม่กี่คนที่ยังคงสนใจหุ้นของศูนย์ซื้อขายกรุงฮานอย ที่ตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ของประเทศในนครโฮจิมินห์ไม่ต่างกัน ดัชนี VN-Index วูบลงต่ำกว่า 400 จุดในสัปดาห์นี้ ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี (ภาพ: AFP)  </FONT></CENTER>
ขณะเดียวกัน ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์กับศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ฮานอย บ่งชี้ว่าในช่วงหลายวันมานี้ มูลค่าการซื้อขายหุ้นรวมกันวันละไม่กี่หมื่นล้านด่ง ส่งผลให้โบรกเกอร์รายต่างๆ ต้องลำบากลงไปอีก

นักวิเคราะห์ของบริษัทร่วมทุนวินาซีเคียวริตีส์ (VinaSecurities) กล่าวว่า ดัชนีเวียดนามน่าจะตกลงถึงจุดต่ำสุดในอีก 2 เดือนข้างหน้า

ตลาดหุ้นเวียดนามเจอมรสุมใหญ่จริงๆ มาตั้งแต่เดือน ต.ค.2550 แม้ว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์จะพยายามอย่างสุดความสามารถรักษาระดับเอาไว้ แต่เป็นช่วงเดือนที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มทวีความรุนแรง

หลังจากเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในเดือน ม.ค.ปี่ที่แล้ว เวียดนามได้รับการกล่าวขานว่าเป็น “เสือเศรษฐกิจตัวใหม่” ปีที่แล้วผลผลิตมวลรวมภายในประเทศขยายตัว 8.5% แต่อัตราเฟ้อของเงินก็ขยายตัวคู่ขนานกันไปด้วย

ปีนี้เศรษฐกิจเวียดนามเริ่มลำบากหนัก รัฐบาลไม่สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาอัตราเฟ้อพุ่งขึ้นเป็น 25.3% เทียบกับเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว และ รัฐบาลคาดว่าเงินเฟ้อจะลดลงอยู่ในระดับ 22% ตอนสิ้นปี 2551

รัฐบาลโดยธนาคารแห่งรัฐเวียดนาม (State Bank of Vietnam) ได้ออกหลายมาตรการ เพื่อหาทางลดดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) ซึ่งใช้วัดอัตราเงินเฟ้อลงให้ได้ รวมทั้งใช้มาตราขึ้นดอกเบี้ยสกัดการปล่อยกู้ และออกพันธบัตรรัฐบาลดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกจากตลาด

มาตรการของแบงก์ชาติส่งผลกระทบรุนแรงต่อตลาดหลักทรัพย์ ทำให้นักลงทุนขาดเงินลงทุนซึ่งจะต้องเงินสกุลท้องถิ่นคือเงินด่งเท่านั้น ผลสะเทือนระลอกต่อไปก็คือ นักลงทุนเริ่มเทขายหุ้นที่มองไม่เห็นอนาคตเพื่อเก็บเงินสดเอาไว้ในมือแทน

ถึงกระนั้นนายหวูวันนิงห์ (Vu Van Ninh) รัฐมนตรีคลังเวียดนามก็ยังให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลจะไม่ยอมเสียตลาดหุ้น เพื่อแลกกับการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

โบรกเกอร์ที่บริษัท จี.ซีเคียวริตีส์ (G Securities) กล่าวว่า บริษัทมีลูกค้าอยู่เพียง 30 รายเท่านั้น พนักงานทุกคนได้รับสั่งให้หาลูกค้าเพิ่ม หากไม่สามารถทำได้ก็จะต้องถูกให้ออก

**เตรียมรับความเลวร้ายยิ่งกว่า**

นายลือว์เตืองแบ๊ก (Luu Tuong Bach) ผู้อำนวยการใหญ่บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งกล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ตัวเขาเองได้หันหลังให้กับธุรกิจบริการค้าหลักทรัพย์แล้ว และมุ่งให้บริการปรึกษาการควบรวมกิจการและการซื้อกิจการแทน

นายแบ๊คกล่าวว่า สถานการณ์ตลาดปัจจุบันบีบบังคับให้บริษัทหลักทรัพย์รายเล็กจะต้องขายกิจการ หรือเข้าควบรวมกิจการกับรายใหญ่ในเดือนข้างหน้า

ผู้บริหารของบริษัทโบรกเกอร์อีกรายหนึ่งกล่าวว่า พนักงานจำนวนมากกำลังมุ่งหน้าหางานใหม่หลังจากถูกลดเงินเดือนลง 1 ใน 3 เนื่องจากบริษัทต้องลดรายจ่ายเพื่อให้อยู่รอด

ในปี 2550 บริษัทหลักทรัพย์แห่งต่างๆ ให้เงินเดือนพนักงานที่เพิ่งเรียนสำเร็จใหม่ๆ 4-5 ล้านด่งต่อเดือน ซึ่งนับว่าเป็นเงินเดือนที่สูงมากสำหรับบัณฑิตใหม่ในเวียดนาม แต่ปัจจุบันลดลงเหลือ 2-2.5 ล้านด่ง
<CENTER><FONT color=#660099> แมลงเม่าเหล่านี้หงอยเหงาและสิ้นหวังจำนวนมากหมดเนื้อหมดตัว เพราะหมดยุคของกระทิงเปลี่ยว พนักงานบริษัทโบรกเกอร์ต่างๆ ระทมหนักไม่แพ้กัน (ภาพ: AFP) </FONT></CENTER>
“กว่าง” (Quang) ผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งและทำงานกับกองทุนอีก 3 แห่งในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เขียนบรรยายความทุกข์โศกลงในบล็อก (Web Log) ส่วนตัวว่า เขาเองได้หันหลังให้กับอาชีพนักวิเคราะห์หุ้นแล้ว หันกลับไปเป็นไกด์ทัวร์ งานแรกที่ทำเมื่อเรียนจบใหม่ๆ

เมื่อปีสองปีก่อนหน้านี้หนุ่มสาวชาวเวียดนามจำนวนนับพันๆ ได้หันหลังให้อาชีพที่ทำอยู่ ไปแสวงหางานในภาคหลักทรัพย์ซึ่งตลาดหุ้นเติบโตรวดเร็วมาก ปัจจุบันคนเหล่านั้นกำลังอยู่ในสภาพเช่นเดียวกันกับ “กว่าง” คือ กลับไปตั้งต้นใหม่

พนักงานบริษัทหลักทรัพย์จำนวนมากเริ่มมองหางานใหม่และเริ่มทยอยจากบริษัทโบกเกอร์ต่างๆ ตั้งแต่ดัชนีหุ้นลดลงเหลือเพียง 420 จุด นั่นคือเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา หลายคนในนั้นเคยมีรายได้เดือนละ 1,000 ดอลลาร์ แต่การจะหางานที่ได้รับค่าจ้างเท่าเดิมเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว

ครั้งหนึ่งบริษัทโบรกเกอร์หลายแห่งในเวียดนามเคยทำข้อตกลงกันที่จะไม่ “ซื้อตัว” พนักงานจากบริษัทอื่น ตอนนี้ทั้งหมดได้หันไปจับมือกันอีกครั้งเพื่อหางานให้พนักงานทำต่อไป

นายหวิ่งหง็อกแอง (Huynh Ngoc Anh) ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์บริษัทหลักทรัพย์ยาเกวี๋ยน (Gia Quyen) กล่าวว่าก่อนหน้านี้บริษัทต่างๆ เคยงอนง้อพนักงานทุกวิถีทางเพื่อให้ทุกคนไม่เปลี่ยนที่ทำงานใหม่ เมื่อเข้าสู่ยุคที่ทุกคนกำลังลำบากบริษัทต่างๆ ก็ควรจะรับผิดชอบต่อพนักงานเหล่านั้น

โบกเกอร์รายต่างๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ต่างกำลังจัดองค์กรกันใหม่ พนักงานในส่วนบริการซื้อขายหรือให้คำปรึกษา ถูกย้ายไปทำงานเซลออกหาลูกค้า หลายบริษัทมองอย่างแง่ดีว่านี่คือโอกาสเหมาะที่สุดที่จะรักษาพนักงานระดับคุณภาพเอาไว้

พนักงานบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งยังคงต่อสู้ต่อไป แม้ว่าในวันนี้จะต้องทำงานเป็นกะ มีงานทำน้อยลง มีเวลาหยุดพักมากขึ้น เพื่อให้สามารถผ่านพ้นยุคตกต่ำของตลาดหุ้นไปให้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น