ผู้จัดการรายวัน-- ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจมหภาคของเวียดนามกำลังเผชิญปัญหารุนแรง แต่การลงทุนในประเทศนี้ยังไปได้ดี ปีนี้มีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้าสู่เวียดนามแล้วถึง 23,000 ล้านดอลลาร์ใน 6 เดือนแรก
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปก็คือ นักลงทุนเริ่มมองบรรยากาศการลงทุนในเวียดนามอย่างเป็นกังวลยิ่งขึ้น
สัปดาห์นี้เวียดนามได้อนุมัติแผนการก่อสร้างโรงงานเหล็กมูลค่า 7,800 ล้านดอลลาร์ของกลุ่มทุนจากไต้หวัน ในขณะที่กลุ่มทุนไต้หวัน-สิงคโปร์ซึ่งนำโดยกลุ่มหนานกัง (Nankang) ผู้ผลิตซอฟท์แวร์รายใหญ่ ประกาศโครงการก่อสร้างสวนอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ในนครโฮจิมินห์ด้วยทุน 1,250 ล้านดอลลาร์
ตามตัวเลขของกระทรวงวางแผนและการลงทุน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ที่ได้รับอนุมัติระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.2551 มีมูลค่ารวมกันมากกว่าตัวเลขเมื่อปี 2550 ทั้งปีคือ 20,300 ล้านดอลลาร์
ทางการเวียดนามกล่าวว่ากำลังพยายามให้โครงการต่างๆ เหล่านี้ได้เริ่มใช้จ่ายเงินเข้าสู่การลงทุนอย่างแท้จริง โดยตั้งเป้าหมายเดือนละ 1,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาพุ่งขึ้นสูง 25.3%
โครงการสวนอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ทูเทียม (Thu Thiem Software Park) ตั้งขึ้นริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์สายใหม่ ในเขตเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไซ่ง่อน ซึ่งเวียดนามพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจ-การเงินของนครใหญ่ ที่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำไม่สามารถขยับขยายได้อีกแล้ว
ที่นั่นจะเป็นศูนย์พัฒนาคอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์สู่ตลาดโลก โดยคาดว่าจะสร้างรายได้ปีละกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้เป็นรายงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่บนเว็บไซต์ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (CPV)
ตามรายงานของติ๋นตึ๊ก (Tin Tuc) สำนักข่าวออนไลน์ภาษาเวียดนาม สวนอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ทูเทียมยังจะดึงดูดการลงทุนจากภายในและนอกประเทศได้อีกประมาณ 2,950 ล้านดอลลาร์
เจ้าหน้าที่กระทรวงวางแผนฯ กล่าวว่า ตัวเลขเงินลงทุน 6 เดือนแรกปีนี้จะสูงกว่า 23,000 ล้านดอลลาร์ เพราะเชื่อว่าจะมีการอนุมัติโครงกรลงทุนขนาดใหญ่อีกหลายโครงการภายในเดือน มิ.ย.นี้ รวมทั้งโครงการโรงกลั่นน้ำมันหงิเซิน (Nghi Son) มูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นโรงกลั่นแห่งที่ 2 ของประเทศ
ตามรายงานของสื่อทางการ เงิน FDI ในปีนี้กว่าครึ่งหนึ่งไปจากโครงการขนาดใหญ่ นอกจากนั้นยังมีลักษณะพิเศษประการหนึ่งคือ เวียดนามได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักลงทุนสหรัฐฯ
ในสัปดาห์นี้ตัวแทนบริษัทชั้นนำ 14 แห่งจากสหรัฐฯ นำโดยผู้ช่วยคนหนึ่งของรัฐมนตรีการค้ามีกำหนดจะไปเยือนเวียดนามเพื่อสำรวจลู่ทางการลงทุน เป็นคณะธุรกิจจากสหรัฐฯ ชุดที่ 3 ที่ไปเยือนเวียดนามตั้งแต่ต้นปีมานี้
นักวิเคราะห์กล่าวว่าการเยือนของคณะธุรกิจใหญ่เช่นนี้ เป็นผลกดีต่อเศรษฐกิจเวียดนามอย่างมาก เนื่องจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมักจะเดินทางหลังธุรกิจขนาดใหญ่ เมื่อต้องไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น
นายฟานหือว์ท่าง (Phan Huu Thang) อธิบดีกรมการลงทุนต่างประเทศกล่าวว่า กลุ่มนักลงทุนจากยุโรปจำนวนหนึ่งกำลังจะเข้าเวียดนามในเร็วๆ ไม่เพียงแต่ลงทุนในโครงการผลิตต่างๆ เท่านั้น ยังรวมถึงการลงทุนในหลักทรัพย์อีกด้วย
ตลาดหุ้นเวียดนามได้พยายามโงหัวขึ้นติดต่อกันตลอด 3 วันซื้อขายนับตั้งแต่วันศุกร์ (13 มิ.ย.) และเมื่อวันอังคารนี้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์นครโฮจิมินห์ (VN-Index) สูงขึ้น 1.72% หรือ 1.65 จุดไปปิดที่ 384.71 จุด แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ตลาดกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ดัชนี VN-Index หล่นวูบลงต่ำกว่าแนวรับทางจิตวิทยา 400 จุดเมื่อต้นเดือนนี้ ทำให้ดัชนีหายไปกว่า 30% นับตั้งแต่ต้นปี ซึ่งนักวิเคราะก์กล่าวว่า ปัจจัยหลักเป็นผลกระทบจากนโยบายดอกเบี้ยสูงของธนาคารแห่งรัฐ
แต่นายท่างกล่าวว่าสำหรับเงินลงทุนโดยตรงในภาคเศรษฐกิจจริงของเวียดนามนั้น จะไหลเข้าจากทุกสารทิศตลอดปีนี้ รวมทั้งทุนจากยุโรป ญี่ปุ่นกระทั่งจากประเทศในแอฟริกาเหนือ
ถึงแม้ว่าเงิน FDI ยังคงไหลแรง แต่กาสรสำรวจขององค์การค้าสัมพันธ์หรือเจโทร (Japan External Trade Organization) เมื่อเร็วๆ นี้ได้เปิดเผยให้เห็นถึงความกระวนกระวายใจของนักลงทุนจากญี่ปุ่นต่อสภาพแวดล้อมการลงทุนในเวียดนาม
อย่างน้อยที่สุดสิ่งนี้สะท้อนออกมาโดยการลงทุนจากญี่ปุ่นในเวียดนามที่ลดลงจาก 75.4% ในปี 2549 เป็น 41.7% เมื่อปีที่แล้ว และ เวียดนามเป็นอันดับ 5 ในบรรดากลุ่มอาเซียน 6 ประเทศที่มีการลงทุนจากญี่ปุ่นมากที่สุด
เหตุผลของนักลงทุนญี่ปุ่นก็คือ เวียดนามนั้นยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการลงทุน รวมทั้งความยุ่งยากในการซื้อขายวัสดุอุปกรณ์หรืออะไหล่สำหรับเครื่องจักรเครื่องกล
นักลงทุนญี่ปุ่นยังไม่ค่อยสบอารมณ์กับขั้นตอนทางราชการในการอนุมัติแผนการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนครโฮจิมินห์และภาคใต้ ซึ่งใช้เวลานานกว่ากรุงฮานอยในการอนุมัติ
อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างชาติไม่ได้แสดงความวิตกมากนักเมื่อกล่าวถึงบรรยากาศโดยรวมจากภาวะเศรษฐกิจมหภาคของเวียดนามขณะนี้
ธนาคารเมกะอินเตอร์เนชั่นแนล (Mega International Commercial Bank) ซึ่งมีสาขาอยู่ในนครโฮจิมินห์กล่าวว่า คงจะไม่เกิดเหตุการณ์ที่บริษัทลงทุนจากไต้หวันต้องปิดกิจการในเวียดนามอันเนื่องเงินเฟ้อในระดับสูงและการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางเวียดนามซึ่งปัจจุบันเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดในเอเชีย
ผู้บริหารของธนาคารดังกล่าว บอกกับหนังสือพิมพ์ไชน่าโพสต์ว่ากว่า 90% ของทุนจากไต้หวันในเวียดนามนั้นเป็นการลงทุนผลิตสินค้าส่งออก ซึ่งได้รับผลกระทบน้อยมากจากภาวะที่เงินสกุลเวียดนามอ่อนค่าลง
นอกจากนั้นการลงทุนยังใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แลกเงินด่ง ซึ่งได้รับประโยชน์โดยตรงจากอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน.