xs
xsm
sm
md
lg

มอง "โลกร้อน" ผ่านสายตาสื่อทรงอิทธิพล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสวนาบทบาทสื่อต่อภาวะโลกร้อน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรารับสารจากสื่อทีวีมากกว่าอ่านหนังสือพิมพ์ และเรื่องราวในภาพยนตร์ก็กระทบจิตสำนึกได้มากกว่าบทความดีๆ ประจำสัปดาห์ รวมไปถึงนิตยสารแนวๆ ที่มีอิทธิพลต่อความคิดวัยรุ่นได้มากกว่าคำสั่งจากผู้ใหญ่ แล้วสื่อเหล่านี้จะทำอะไรเพื่อสังคม ในภาวะที่ทุกคนกำลังตื่นตัวต่อสถานการณ์ "โลกร้อน" ได้บ้าง?

ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร อะ เดย์ (A Day), ธาดา ปรีชาชาติ ผู้ควบคุมการผลิตรายการ "ปราชญเดินดิน" บริษัท พาโนรามา เวิลด์ไวด์ จำกัด และจรูญพร ปรปักษ์ประลัย ผู้กำกับ (creative director) ภาพยนตร์แอนมิเมชัน "ก้านกล้วย" ต่างเป็นตัวแทนของสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์และสื่อภาพยนตร์ ร่วมถกถึง "บทบาทสื่อมวลชนต่อภาวะโลกร้อน" ภายในนทรรศการโลกร้อน 5 องศา ของกลุ่มกรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวริล์ด พลาซา กรุงเทพฯ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทรงกลดในฐานะคนทำสื่อที่มีอิทธิพลต่อเด็กวัยรุ่น ให้ความเห็นต่อหนังสือ "ต้นไม้ใต้โลก" ซึ่งเป็นงานเขียนของเขาเองว่าได้รับการตอบที่ดีจาก "เด็กตาใส" หรือ "เด็กเดินสยาม" ซึ่งเป็นเด็กที่ไม่เคยทำกิจกรรมเพื่อสังคมนั้นจริงๆ แล้วมีจิตใจดีแต่ไม่รู้จะเริ่มทำอย่างไร จึงต้องการคนที่พูดกับเด็กกลุ่มนี้ได้ และกล่าวว่าการทำหนังสือเกี่ยวโลกร้อนออกมาแล้วขายดีนั้นแสดงว่าเป็นลางที่ดีเพราะมีคนสนใจ ทั้งนี้หลายคนอาจจะไม่ชอบหนังสือประเภทแฉดารา แต่แทนที่จะด่าว่าเป็นหนังสือไม่ดีก็ทำหนังสือดีๆ ออกมาดีกว่า

พร้อมทั้งยกตัวอย่างวิธีการเรียกร้องให้คนหันมาสนใจภาวะโลกแบบแนวๆ โดยเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ถือเป็น "วันโกหก" (April Fool Day) ซึ่งปีนี้เขาพบว่าทางอินเทอร์เน็ตมีการรณรงค์ให้อนุรักษ์แมมมอธ โดยให้ถือเป็นวันอนุรักษ์แมมมอธ (Save Mammoth Day) ด้วย แรกทีเดียวเขาสงสัยว่าเป็นมุขหรือเปล่าเพราะแมมมอธสูญพันธุ์ไปแล้ว เมื่อเข้าไปดูก็พบรายละเอียดว่าแมมมอธเป็นสัตว์หายาก แต่โลกร้อนทำให้น้ำแข็งละลายและค่อยๆ เผยซากแมมมอธออกมา เมื่อไม่มีน้ำแข็งก็ไม่มีอะไรปกป้องแมมมอธ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นวิธีน่าสนใจที่เชิญชวนให้คนหันมาใส่ใจโลกภาวะโลกร้อน

ด้านธาดา ผู้ควบคุมการผลิตรายงานปราชญ์เดินดินและคนหวงแผ่นดินให้ความเห็นว่า สังคมของเรานั้นจะฟังแต่คนที่เป็น "ด็อกเตอร์" และจบการศึกษาดีๆ และตั้งคำถามว่าเราเคยคิดบ้างหรือไม่ว่าคนทั่วๆ ไป หรือชาวบ้านเขาก็มีสิ่งดีๆ ให้เราเรียนรู้จากเขาได้

ยกตัวอย่าง "ลุงสงัด" วัย 85 ปราชญ์เดินดินในรายงานของเขานั้นปลูกป่าโดยเริ่มจากไม่มีอะไรเลย ด้วยการนำกระป๋องนมที่คนอื่นทิ้งมาครั้งละ 10-100 ใบเพื่อใส่ดินสำหรับเพาะอนุบาลกล้ายางนา จนกระทั่งปัจจุบันองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็ได้มาขอต้นไม้เหล่านี้ไปปลูกบ้าง

"ถามว่าปลูกทำไม? แกบอกว่าดูทีวีแล้วได้ยินพระราชดำรัสว่า "ในหลวงจะเป็นน้ำพระราชินีจะเป็นป่า" แกจึงเริ่มปลูกป่าเพื่อในหลวง หรือ "จ่าวิชัย" ที่ทุกคนรู้จักดี แกปลูกป่ามา 18 ปี 2 ล้านต้น แต่ก็ยังมีคนสงสัยว่าคนอะไรจะปลูกป่าได้ขนาดนั้น ก็ไปตั้งกระทู้ทางอินเทอร์เน็ตวิเคราะห์ว่าวันหนึ่งแกต้องปลูกต้นไม้วันละกี่ต้นจึงจะได้ขนาดนั้น จริงๆ แล้วที่แกทำได้อย่างนั้นเพราะแกปลูกด้วยเมล็ดแล้วรอฝนให้ต้นไม้งอก"

"หรือ "ลุงฉ่ำ" ที่ตัดต้นไม้ในป่าดงดิบนครสวรรค์ไปกว่า 2 ล้านต้น วันนี้แกสำนึกแล้วหันมาปลูกป่าและเป็นประธานเครือข่ายชุมชนป่าแม่วงค์ แม่เปิน จ.นครสวรรค์ ทุกวันนี้สังคมชนบทมีคนอย่างนี้อยู่ เขากำลังช่วยคนในสังคมเมืองให้มีป่า" ธาดากล่าว

ส่วนจรูญพรตัวแทนจากสื่อภาพยนตร์กล่าวว่า โลกร้อนเป็นเรื่องที่ทุกสื่อต้องให้ความสนใจเพราะกระทบกับคนทั้งโลกและเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน ทางกันตนามองว่าเป็นปัญหาใหญ่และมีเวลาแก้ไขจำกัด ในเชิงของสื่อนั้นภาพยนตร์เป็นสื่อพิเศษที่เข้าถึงคนได้เยอะและเข้าถึงคนได้ง่าย ดังเช่นภาพยนตร์ An Inconvenienth Truth ที่ทำให้คนตื่ตัวต่อภาวะโลกร้อน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับคนทำภาพยนตร์คือต้องรีบคิดว่าจะทำอย่างไรให้ภาพยนตร์มีผลในแง่ปฏิบัติได้ ทั้งนี้มีคนที่รู้ข้อมูลว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดโลกร้อนอยู่เยอะแต่ว่าทำได้หรือยัง

"น่าจะมีอะไรมากกว่าถือถุงผ้า-ปิดไฟ ควรมีนโยบายระดับประเทศเพราะโลกร้อนเรามองแค่จุดเล็กๆ ไม่ได้ มีหลายประเทศประเทศที่ใช่นโยบายปิดปากืมีกระบวนการตั้งคำถามว่าโลกร้อนจริงหรือไม่ ถึงจริงก็อย่าทำให้เศรษฐกิจพัง ปัญหาตอนนี้คือเกิดช่องว่างบางอย่างของความร่วมมือ-ร่วมใจ วิธีคิดของคนยังคิดถึงปัญหาส่วนตัวมากกว่าปัญหาส่วนรวม"

"ยกตัวอย่างพนักงานขององค์กรผลิตไฟฟ้าระดับชาติเขาได้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรีเขาก็ใช้อย่างเต็มที่โดยไม่คิดจะประหยัด ทั้งที่หน่วยงานออกมารณรงค์ให้คนประหยัดพลังงาน หากเรายังคิดกันแบบให้คนอื่นทำก่อน สุดท้ายผมคิดว่าปัญหานี้จะจบลงอย่างไม่สวย" จรูญพรกล่าว

ทั้งนี้กันตนากำลังผลิตแอนนิเมชันเพื่อให้คนตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งจรูญพรเผยถึงแนวทางนำเสนอของแอนนิเมชันดังกล่าวว่าที่สุดจะชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะคนเราไม่รู้จักพอ

นอกจากนี้ภายหลังการเสวนายังมีการเปิดตัวหนังสือโลกร้อน 5 องศาซึ่งเรียบเรียงและค้นคว้าข้อมูลโดย ธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทยของกรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนำข้อมูลคาดการณ์จากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกภายใต้คณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ซึ่งระบุว่าแม้เราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมากแล้วก็ตามแต่อุณหภูมิเฉี่ยผิวโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 องศาเซลเซียสในช่วงศตวรรษหน้า

และหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นอีก 5 องศาเซลเซียสจากผ่านจุดผลิกผัน (Tipping Point) ไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทั้งหมดในโลกและโลกจะตกอยู่ภาวะวิกฤติร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยประสบมา.
ทรงกลด บางยี่ขัน
จรูญพร ปรปักษ์ประลัย
ธาดา ปรีชาชาติ
ธารา บัวคำศรี (ขวา) เปิดตัวหนังสือโลกร้อน 5 องศา
กำลังโหลดความคิดเห็น