xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยรู้อยู่แล้วสักวันศัตรูพืชต้องต้าน "จีเอ็มโอ" อยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยเผยรู้อยู่ก่อนแล้วว่าสักวัน "พืชจีเอ็มโอ" จะทำให้หนอนแมลงกลายพันธุ์ได้ ทั้งยังเตรียมพร้อมทางเลือกใหม่สำหรับแก้ไขปัญหา ด้านกรีนพีซบอกจีเอ็มโอไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง อาจเกิดศัตรูพืชชนิดใหม่ที่ยากเกินควบคุม ย้ำตอนนี้นับถอยหลัง สิ่งที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรกกำลังเกิดขึ้นแล้ว

จากกรณีนักวิจัยจากสหรัฐอเมริกาพบหนอนเจาะสมอฝ้ายกลายพันธุ์จนต้านทานฝ้ายบีทีได้ในพื้นที่ปลูกฝ้าย 12 แห่งในมลรัฐมิสซิสซิปปีและอาร์คันซอ ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สอบถามไปยังนักวิจัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ความว่านักพัฒนาพืชจีเอ็มโอย่อมรู้อยู่แล้วว่าแมลงศัตรูพืชอาจกลายพันธุ์ได้ ทั้งยังมีวิธีแก้ไขรองรับ ส่วนกรีนพีชระบุนี่เป็นการนับถอยหลังของอุบัติการณ์หนอนแมลงกลายพันธุ์ต้านพืชจีเอ็มโอ พร้อมเตือนสิ่งมีชีวิตอื่นจะได้รับผลกระทบด้วย

ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุวิศวกรรมจุลินทรีย์ ไบโอเทค ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ของหนอนเจาะสมอฝ้ายในสหรัฐฯ ว่า ยังไม่ทราบข้อมูลจากรายงานดังกล่าวโดยตรง แต่ว่านักวิจัยเคยคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าสามารถเกิดขึ้นได้ และมีวิธีที่จะควบคุมได้ด้วย

"กรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เป็นผลมาจากฝ้ายบีทีก็เป็นได้ เนื่องจากว่าก่อนที่จะมีการพัฒนาฝ้ายบีทีขึ้นมา เดิมทีเกษตรกรใช้แบคทีเรียชนิดบีที (Bacillus thuringiensis: Bt) กำจัดหนอนเจาะสมอฝ้ายมานานราว 40-50 ปีแล้ว เป็นต้นว่าเพาะเลี้ยงแบคทีเรียแล้วฉีดพ่นในไร่ฝ้าย เมื่อหนอนกัดกินฝ้ายและกินแบคทีเรียนั้นเข้าไปด้วย โปรตีนคราย (Cry) ที่แบคทีเรียสร้างขึ้นมีฤทธิ์ทำให้นอนตายได้ ส่วนฝ้ายบีทีเพิ่งจะเพาะปลูกราว 10 ปีมานี้เอง" ดร.บุญญานาถ กล่าว

"ดังนั้นจึงควรแยกออกเป็น 2 เหตุปัจจัยว่าหนอนกลายพันธุ์เพราะเหตุใดกันแน่ ต้องศึกษาให้ลงลึกยิ่งขึ้นไปอีก ต้องดูว่ากลายพันธุ์ที่บริเวณใดของยีน มีผลกระทบรุนแรงหรือไม่ มีปริมาณมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการกลายพันธุ์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้พันธุ์ใหม่ที่แข็งแรงและอยู่รอดได้เสมอไป อาจต้านบีทีได้แต่อ่อนแอในเรื่องอื่นก็ไม่สามารถอยู่ในธรรมชาติได้ และหากมีจำนวนกลายพันธุ์เล็กน้อยก็ใช้วิธีการจัดการอื่นเข้ามาควบคุมส่วนที่กลายพันธุ์ได้ หรือหากฝ้ายบีทีชนิดนี้ใช้ไม่ได้ผลแล้ว ก็ยังมีบีทีชนิดอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้ ซึ่งนักวิชาการได้คิดเฝ้าระวังตรงจุดนี้ด้วยอยู่แล้ว" ดร.บุญญานาถกล่าว

นักวิจัยไบโอเทค กล่าวเพิ่มเติมว่า โปรตีน Cry ที่แบคทีเรียบีทีสร้างขึ้นก็มีหลายสิบชนิด ดังนั้นจึงสามารถพัฒนาฝ้ายบีทีชนิดใหม่ที่แก้ปัญหาหนอนเจาะสมอฝ้ายกลายพันธุ์ได้ และวิธีนี้ก็เป็นวิธีที่อ่อนโยนต่อเกษตรกร ทำให้ไม่ต้องไปสัมผัสกับสารเคมีฆ่าแมลงโดยตรง และโดยปกติก็จะต้องปลูกพืชพันธุ์ดั้งเดิมในบริเวณใกล้เคียงพืชจีเอ็มโอด้วยเพื่อเป็นการลดแรงกดดันในธรรมชาติและชลอการปรับตัวของหนอนแมลงให้ต้านพืชจีเอ็มโอได้ช้าลง

ขณะที่ น.ส.ณัฐวิภา อิ้วสกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพันธุวิศวกรรม (จีเอ็มโอ) กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวต่อเรื่องนี้ว่า เป็นสิ่งที่กังวัลกันอยู่แล้วและเคยนำเสนอไปแล้วว่าพืชจีเอ็มโอมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ศัตรูพืชกลายพันธุ์ได้ เหมือนกับว่าตอนนี้เรากำลังนับถอยหลังอยู่ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

"เมื่อปลูกพืชจีเอ็มโอที่ทนทานต่อศัตรูพืช อาจทำให้หนอนแมลงกลายพันธุ์และกลายเป็นศัตรูพืชชนิดใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม โอกาสใช้สารเคมีก็เพิ่มมากขึ้น และพืชจีเอ็มโอก็ทนทานต่อศัตรูพืชบางชนิดเท่านั้น ขณะที่ยังมีศัตรูพืชชนิดอื่นๆ หรือวัชพืชอื่นรบกวนด้วยเหมือนกัน ก็หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีไม่ได้อยู่ดี" ณัฐวิภาแจกแจง

ตัวแทนของกรีนพีชยังกล่าวอีกว่า ฝ้ายบีทียังส่งผลต่อแมลงชนิดอื่นที่เป็นประโยชน์ด้วย ซึ่งในสหรัฐฯ เคยมีรายงานว่าผีเสื้อชนิดหนึ่งในไร่ฝ้ายบีทีมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากได้รับพิษบีทีที่อยู่ในเกสรของฝ้าย และเกษตรกรที่สัมผัสกับฝ้ายบีทีโดยตรงก็เกิดอาการระคายเคืองเนื่องจากพิษบีทีด้วย ซึ่งพิษบีทีในฝ้ายบีทีมีอยู่ในทุกส่วนของต้นฝ้ายยังสามารถถ่ายทอดลงสู่ดิน ทำให้เกิดการสะสมพิษในดินได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ความเห็นกรณีนี้ว่า เป็นยุทธจักรของสิ่งมีชีวิตที่ต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ แม้ไม่มีฝ้ายบีทีก็อาจพบหนอนที่ต้านสารบีทีที่เกิดจากแบคทีเรียในธรรมชาติได้ ซึ่งก็เป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่งของหนอน และหากฝ้ายบีทีนี้นี้ใช้ไม่ได้ผล ก็ต้องหาวิธีแก้ไขต่อไป คล้ายกับยาปฏิชีวนะที่เมื่อพบว่าเชื้อดื้อยาก็ต้องพัฒนายาตัวใหม่ๆ ให้มียาต้านเชื้อที่ดื้อยาได้ต่อไป

ในส่วนของประเทศไทยเคยอนุญาตให้มีการนำเข้าฝ้ายบีทีเข้ามาวิจัยและทดลองปลูกในโรงเรือนครั้งแรกในปี 2538 โดย บริษัท มอนซานโต (ไทยแลนด์) ต่อมาในปี 2542 พบฝ้ายบีทีระบาดในแปลงของเกษตรกร จ.เลย ซึ่งเป็นที่มาของมติ ครม. 3 เม.ย. 2544 ตามมา ที่ห้ามปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรมใดๆ ในแปลงเปิดเพื่อการค้า

อย่างไรก็ดี แม้การปลูกพืชจีเอ็มโอเพื่อการค้าในประเทศไทยจะเป็นสิ่งต้องห้ามและผิดกฎหมาย แต่ก็ยังมีการพบเห็นฝ้ายที่ปลูกในไทยขณะนี้หลายแห่งเป็นฝ้ายบีทีเกือบทั้งหมด ซึ่งเกษตรกรหลายรายก็ยอมรับว่าพวกเขาปลูกฝ้ายบีทีมาหลายปีแล้ว เนื่องจากว่าต้านทานหนอนเจาะสมอฝ้ายได้และให้ผลผลิตดี ทว่าไม่มีใครระบุได้ว่าฝ้ายบีทีเหล่านี้มีที่มาอย่างไร และไม่มีหน่วยงานไหนหรือมาตรการใดๆ เข้ามาควบคุมหรือจัดการเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง.



กำลังโหลดความคิดเห็น