xs
xsm
sm
md
lg

วัดจริยธรรมนักวิจัยจากเป้า เพื่อมนุษยชาติกินดี-อยู่ดีหรือแค่สนองความอยากรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ล้อมวงถกจริยธรรม "การทำวิจัย" สุดท้ายเพื่อความกินดี-อยู่ดีของของมนุษย์หรือแค่สนองความอยากรู้ ระบุที่มาของหลักจริยธรรมสากลเกิดหลังสงครามโลกที่ 2 เหตุนาซีจับเชลยไปทดลองอย่างเลือดเย็น ทั้งจับแช่ในน้ำเย็นจัดและจับยัดใส่สถานที่ความดันสูง หรือเจาะเลือดผู้ป่วยซิฟิลิสไปตรวจโดยไม่ให้ยารักษา

จริยธรรมในการทำวิจัยอาจไม่เป็นที่กล่าวถึงกันมากนักสำหรับสังคมไทย แต่ประเด็นดังกล่าวก็ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายในเวทีเสวนา "เทคโนโลยีและจริยธรรมการวิจัย-บนคลื่นลูกที่ 2 ของกระแสโลกาภิวัตน์" ภายในการประชุมประจำปีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 24-26 มี.ค.51 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยจริยธรรมการวิจัยที่ได้รับการอภิปรายมากที่สุดคือการทดลองในคน

ศ.พญ.ธาดา สืบหลินวงศ์ ประธานชมรมจริยธรรมการวิจัยในคนในประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าหลายครั้งงานวิจัยในคนก็ทำให้เกิดอันตรายแกอาสาสมัครแต่เป็นที่ยอมรับรับได้ เช่น การเจาะเลือดไปตรวจซึ่งทำให้เจ็บแต่ยอมรับได้ ทั้งนี้นักวิจัยต้องดูแลอาสาสมัครไม่ให้เจ็บ-ช้ำจากการวิจัย แต่ไม่เป็นที่ยอมรับหากไม่ดูแลอาสาสมัครที่เข้าร่วมวิจัย พร้อมยกคำพูดมหาตมคานธีว่า "วิทยาศาสตร์ที่ไม่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์คือสิ่งที่ผิดบาป"

"นักวิทยาศาสตร์หลายคนก็มุ่งแต่ที่จะทำให้ได้ผลการวิจัยแต่ลืมความเป็นมนุษย์ งานวิจัยที่ดีต้องได้มาตรฐานของความเป็นวิทยาศาสตร์และมีจริยธรรม" ศ.พญ.ธาดากล่าว พร้อมระบุว่าหลักจริยธรรมที่ยึดถือในการวิจัยเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังพรรคนาซีจับเชลยไปทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างไร้จริยธรรม อาทิ จับคนเป็นๆ ลงไปแช่ในน้ำเย็นจัดเพื่อดูปฏิกิริยาว่าคนเราจะทนได้แค่ไหน หรือจับคนไปอยู่ในสถานที่มีความดันมากๆ แล้วดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงเกิดเป็นหลักจริยธรรม "นูเรมเบิร์กโคด" (The Nuremberg Code) ขึ้นเมื่อปี 2490

ยังมีตัวอย่างของการทดลองทางแพทย์ที่กระทำในคนอย่างไร้จริยธรรมอื่นๆ เช่น การศึกษาโรคซิฟิลิสในคนผิวดำที่สหรัฐฯ แพทย์ผู้วิจัยได้เจาะเลือดของผู้ป่วยไปตรวจอยู่หลายครั้งโดยไม่ให้ยารักษา จนกระทั่งหนังสือพิมพ์ได้นำเรื่องราวดังกล่าวออกมาตีแผ่ จนทำให้ประธานาธิบดีต้องออกมากล่าวขอโทษประชาชน หรือการแอบฉีดเซลล์มะเร็งให้อาสาสมัครโดยไม่บอกให้ทราบ เป็นต้น

ทั้งนี้ตามหลักสากล ศ.พญ.ธาดา กล่าวว่ามีหลักใหญ่ๆ ของจริยธรรมในการทำวิจัยคือ อาสาสมัครต้องให้การยินยอมโดยอิสระ และจะถอนตัวออกจากโครงการเมื่อไหร่ก็ได้ โดยไม่ต้องบอกเหตุผลหรือแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

ทั้งนี้ผู้วิจัยต้องให้ข้อมูลและชี้แจงถึงการวิจัยโดยละเอียดแก่อาสาสมัครด้วย และต้องวิเคราะห์ถึงความเสียหายและประโยชน์ต่ออาสาสมัครที่จะเกิดขึ้นจากการวิจัย รวมทั้งต้องมีความยุติธรรมในการคัดเลือกอาสาสมัครด้วย

ด้าน ศ.(เกียรติคุณ) นพ.วิฑูรย์ อึ้งประสิทธิ์ กรรมการกฤษฎีกา ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชและนิติจิตเวช กล่าวว่าเดิมนั้นการรักษาทางการแพทย์ใช้สมุนไพร ซึ่งอาศัยประสบการณ์เก็บข้อมูลว่าให้สมุนไพรใดรักษาโรคใด แต่การแพทย์สมัยใหม่ต้องมีการทดลองที่เป็นวิทยาศาสตร์ และข้อมูลวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ต้องอาศัยสถิติและวิชาคำนวณ แพทย์สมัยใหม่จึงต้องอิงการทดลอง ซึ่งไม่มีอะไรที่ดีกว่าการทดลองในมนุษย์ แต่ก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

"อย่างไรก็ดีต้องไม่ลืมเป้าหมายว่าวิจัยเพื่ออะไร เพื่อความอยู่ดีกินดีของมนุษย์หรือไม่ ไม่ใช่เอาความรู้อย่างเดียว เช่น ทำจีเอ็มโอ (GMO) ได้พืชต้านแมลงแต่เปลี่ยนจีโยม เอายีนสัตว์มาใส่ในยีนพืช ถือเป็นการฝืนธรรมชาติอย่างแรง อาจจะกินไม่ตายหรอก แต่ลูกหลานจะเป็นอย่างไร ผ่านไป 3-4 รุ่นลูกหลานเป็นหมันกันหมด ถึงเวลานั้นมนุษยชาติก็อาจสูญพันธุ์ ไม่ใช่นึกถึงปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียวเพราะปัญหาเศรษฐกิจอาจไม่สอดคล้องกับจริยธรรม" ศ.(เกียรติคุณ) นพ.วิฑูรย์กล่าว

นอกจากนี้กรรมการกฤษฎีผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชและนิติจิตเวช ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการนำซิลิโคนมาบดเพื่อฉีดเสริมความงามนั้นถือเป็นการวิจัยไม่ใช่การรักษาเพราะไม่มีใครเขาทำกัน แต่น่าเสียดายที่แพทยสภาไม่กล้าฟันธงกรณีดังกล่าว และสุดท้ายผู้เสียหายก็ถูกยิงตายซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย พร้อมชี้ว่าองค์กรวิชาชีพไม่ใช่สหภาพแรงงานที่จะดูพวกเดียวกัน

ส่วน ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งได้ร่วมในการร่างการออกกฎหมายกำหนดจริยธรรมการทดลองในสัตว์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่า รู้สึกเศร้าที่พระราชบัญญัติดังกล่าวได้รับการโวยวายจากนักวิจัย เนื่องจากกลัวกฎระเบียบที่จะบังคับใช้และไม่ยอมรับ จนเขาต้องกล่าวกับนักวิจัยว่า "เราพยายามจะทำให้ท่านแข่งกันสูงแต่ท่านกำลังจะแข่งกันต่ำ"

พร้อมทั้งชี้ถึงความจำเป็นต้องมีจริยกรรมในการใช้สัตว์ทดลองว่า การนำสัตว์จรจัดที่ไม่สะอาดพอมาทดลองในงานวิจัยย่อมทำให้เกิดความผิดพลาดในการงานวิจัย ซึ่งย่อมส่งผลต่อเนื่องถึงการทดลองในคนและการนำไปใช้กับคนในที่สุด ซึ่งการสร้างจริยธรรมการทดลองในสัตว์ถือเป็นต้นทางจริยธรรมแต่น่าผิดหวังที่นักวิจัยส่วนใหญ่มองไม่เห็นความสำคัญของต้นทางจริยธรรม

ส่วนเหตุผลที่ต้องมีกฎหมายขึ้นมากำหนดนั้น ดร.เจษฎร์กล่าวว่าเป็นเพราะปัจจุบันใช้จริยธรรมควบคุมไม่ได้ผลแล้ว ทั้งนี้การที่แพทย์ทำการรักษาคนไข้ ไม่ว่าผ่าตัด เจาะเลือดหรือฉีดยานั้นถือเป็นการทำร้ายร่างกายผู้อื่นแต่ได้รับการยกเว้นเเพราะเป็นการทำเพื่อให้เกิดผลดี แต่ถ้าแพทย์ทำไม่ได้ ประมาทหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเกิดความเสียหายต่อคนไข้จะอ้างว่ามีเจตนาดีไม่ได้

"ถ้าเรายึดมั่นจริยธรรมได้ดีแล้ว อย่ากลัว ก็เหมือนกฏจราจร ถ้าท่าไม่ฝ่าไฟแดง ไม่ขับรถทับเส้นทึบ ถือใบขับขี่เมื่อขับรถ ท่านก็ไม่ต้องกลัวตำรวจจราจร ถ้าเรายึดถือว่าเราเป็นส่วนหนึ่งประชากรโลกก็ต้องปรับจริยธรรม หากเราจะแข่งขันกับโลก ไม่ว่าสติปัญญาสูงแค่ไหนถ้าใจไม่สูงพอก็สู้คนที่มีสติปัญญาและใจที่สูงกว่าไม่ได้ ที่สุดเราก็จะแพ้หมดกระดาน" ดร.เจษฎ์กล่าว

ส่วนนางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ซึ่งแม้ไม่ได้รับความเสียหายจากการวิจัยแต่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ความเสียหายจากทางการแพทย์ โดยเผยว่าตลอด 17 ปีต้องต่อสู้กับความเลวร้ายทางการแพทย์ ซึ่งการที่คนไข้จะลุกขึ้นสู่กับแพทย์นั้นเป็นเรื่องยาก หากเปรียบเป็นมวยก็เหมือนมวยวัดแข่งกับมวยแชมป์โลก แต่ทั้งนี้ไม่ได้ต้องการที่จะทำลายวงการแพทย์ หากแต่ต้องการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพของแพทย์ อีกทั้งไม่อยากฟ้องร้องแพททย์เพียงแต่ระบบไม่มีทางเลือกให้

"บ้านเรามีความผิดพลาดแต่ไม่นำมาเปิดเผย ทำให้เกิดความเสียหายซ้ำๆ สำหรับเมืองไทยนั้นไม่มีระบบรับประกันที่จะมารองรับกรณีเกิดความผิดพลาดจากการรักษา นอกจาก "บัตรทอง" ที่มีเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ 200,000 บาท" นางปรียานันท์กล่าวพร้อมระบุถึงความไม่ยุติธรรมของระบบ อาทิ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้วไปแจ้งความที่โรงพักแต่ตำรวจกลับไม่รับแจ้งความเพราะโรงพักรู้จักกับโรงพยาบาล เป็นต้น ทั้งนี้เธอต้องการให้มีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายที่เกิดจากการรักษาและมีระบบที่ทำให้แพทย์และคนไข้ไม่ต้องเผชิญความขัดแย้งกัน

แม้ว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะนำมา ซึ่งความสะดวกสบายแก่คนในสังคม หากบางครั้งการวิจัยก็อาจสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้รับอาสาสมัครเป็น "หนูทดลองยา" เพื่อเป็นบันไดสู่ความสำเร็จของงานวิจัย

ดังนั้นนักวิจัยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเช่นเดียวกันก็จำเป็นต้องระลึกถึงจริยธรรมในการวิจัยให้มากพอๆ กับการทุ่มเทความสำคัญให้งานวิจัย



กำลังโหลดความคิดเห็น