xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ฟิสิกส์สะท้อน "โอเน็ต-เอเน็ต" ทำมาตรฐานเรียนวิทย์ตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อาจารย์ฟิสิกส์สะท้อนระบบคัดนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยด้วย "โอเน็ต-เอเน็ต" ทำมาตรฐานการเรียนวิทย์ตกต่ำ นักเรียนขาดความรู้พื้นฐานและให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์น้อยกว่าสาขาวิชาอื่นในการสอบเข้า ด้านสมาคมฟิสิกส์เตรียมระดมความคิดเสนอแนวทางแก้ปัญหา

ระหว่างการประชุมประจำปีสมาคมฟิสิกส์ไทยที่จัดขึ้น 20-22 มี.ค.51 ณ โรมแรมโกลเด้น วัลเลย์ รีสอร์ท เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีนักฟิสิกส์ อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 300 คน ได้มีเวทีอภิปรายปัญหาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์

โดยเฉพาะวิชาฟิสิกส์อันเป็นผลจากระบบการคัดเลือกนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยด้วยคะแนนสอบ "โอเน็ต-เอเน็ต" ที่รวมวิชาฟิสิกส์ เคมีและชีววิทยาเป็นวิชาเดียวกันและมี 100 คะแนนเท่ากับวิชาด้านสังคมและภาษาอื่น ทำให้ได้ผู้เรียนที่ขาดความรู้พื้นฐานอันเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเรียน-การสอน

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ปัจฉา ฉัตราภรณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งรับหน้าที่สอนฟิสิกส์แก่นิสิตชั้นปีที่ 1 เผยปัญหาภายหลังเวทีอภิปรายดังกล่าวว่า หลังเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยมา 2 ปีได้เห็นผลการเรียนของผู้เรียนตกลงมาก

อีกทั้งจำนวนนักเรียนที่ติด F หรือสอบไม่ผ่านเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จำนวนนิสิตที่ถอนวิชาฟิสิกส์ออกจากการเรียนก็เพิ่มขึ้นเท่าตัว
ขณะที่เด็กนักเรียนที่มีผลการเรียนปานกลางก็ลดลงมาก ทั้งนี้เห็นได้ชัดจากการสอบที่เด็กทำไม่ได้หรือไม่ทำข้อสอบเลยเป็นจำนวนมาก

"เราพบว่าความรู้พื้นฐานที่เด็กควรจะรู้ แต่เด็กกลับไม่รู้ซึ่งเป็นปัญหามาก เหมือนเราจะสอนให้เด็กเขียนกลอน แต่เด็กยังไม่รู้ ก ไก่ ข ไข่ แล้วเขียนกลอนได้อย่างไร ถ้าไม่เลวร้ายจนทนไม่ได้ก็คงไม่พูดแต่ตอนนี้ก็มาถึงจุดที่แย่มากๆ และแนวโน้มของทั้งประเทศก็เป็นอย่างนี้" ผศ.ดร.ปัจฉาเปรียบเทียบปัญหาที่เกิดขึ้นในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์กับการเรียนภาษา

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทางภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาฯ จึงได้แก้ไขโดยเปิด "คลินิคฟิสิกส์" ที่จัดสถานที่สำหรับให้เด็กได้เข้าพบอาจารย์เพื่อรับคำปรึกษา และจัดห้องติวโดยให้รุ่นพี่ซึ่งศึกษาในระดับปริญญาเอกได้สอนฟิสิกส์เสริมนอกเวลา

แต่วิธีดังกล่าว ผศ.ดร.ขจรยศ อยู่ดี หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์กล่าวว่าช่วยแก้ปัญหาได้ไม่มากนักเพราะเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เนื่องจากปัญหาได้ลงลึกมาตั้งแต่เด็กได้ละเลยตั้งแต่เรียน ม.ปลาย เพราะวิชาฟิสิกส์เป็นแค่วิชาหนึ่งที่ไม่ต้องพยายามมากก็สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้

ด้าน ดร.พรรัตน์ วัฒนกสิวิชธ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิก์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งรับผิดชอบในการสอนนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 เผยว่าได้สอนนักศึกษาในช่วงรอยต่อคือนักศึกษาที่สอบเข้าด้วยระบบเก่าในปี 2548 และนักเรียนที่สอบเข้าด้วยระบบใหม่ในปี 2549 พบว่านักเรียนที่สอบเข้าจากระบบเก่ามีพื้นฐานที่ดีกว่า แต่นักเรียนที่สอบเข้ามาในรุ่นหลังๆ นั้นมีความรู้ฟิสิกส์น้อยลงมาก และบางปีต้องตัดบางหัวข้อในการสอนออกไป ไม่เช่นนั้นเด็กจะเรียนตามไม่ได้

"ถ้าไม่ทำอย่างนั้นเราก็จะไปคนเดียวแต่เด็กไม่ไปด้วย หากเด็กทำไม่ได้ก็ต้องปรับให้ง่ายขึ้น ต้องลดระดับความยากลงซึ่งเป็นภาระหนักมาก บางหัวข้ออย่างการเคลื่อนที่เชิงมุมก็ต้องลดคณิตศาสตร์ลง เพราะถ้าเด็กยังไม่เข้าฟิสิกส์พื้นฐานก็ต้องลดคณิตศาสตร์ลง เด็กเชื่อมโยงคณิตศาสตรืกับวิชากอื่นๆ ไม่ได้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเพราะเด็กมีเวลาเรียนน้อยลงหรือเปล่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีกิจกรรมเยอะ เช่น กิจกรรมเชียร์ เป็นต้น"

ดร.พรรัตน์กล่าวอีกว่าก่อนเข้ามาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้นเคยช่วยสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโอเรกอน (Oregon University) สหรัฐฯ ซึ่งได้เห็นความแตกต่างของเด็กไทยและเด็กอเมริกัน โดยเด็กอเมริกันนั้นจะพยายามค้นคว้าและได้รับการฝึกให้คิดวิเคราะห์เป็น หากแต่กลับต้องพยายามทำให้เด็กไทยหมั่นขวนขวายมากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างว่าถ้าให้การบ้านเด็กไปก็จะไม่ทำจึงต้องใช้การสอบย่อยในห้องเรียนแทน

สำหรับปัญหานี้ ศ.(เกียรติคุณ) ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง นายกสมาคมฟิสิกส์ไทยกล่าวว่าจะได้จัดประชุมเรื่องนี้โดยเฉพาะอีกครั้งและระดมแนวทางในการแก้ปัญหา โดยนอกจากปัญหาในวิชาฟิสิกส์แล้วยังพบปัญหาเดียวกันนี้กับวิชาอื่นๆ ซึ่งจะได้นำแก้ปัญหาด้วยวิชาฟิสิกส์ก่อน

"ฟิสิกส์เป็นวิชาพื้นฐานของทุกวิชาทางด้านเทคโนโลยี ปัญหาที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในระยะยาว ไทยซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีน้อยอยู่แล้ว ต่อไปก็จะน้อยลงไปอีก ขณะที่ประเทศรอบๆ อย่างเวียดนามเกาหลีที่พยายามให้เด็กมีความรู้ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์มากขึ้น แต่เด็กไทยกลับรู้น้อยลง" ดร.ถิรพัฒน์กล่าว.



กำลังโหลดความคิดเห็น