xs
xsm
sm
md
lg

"อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก" หนึ่งในดวงใจ "ชัยคุปต์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ตัวจะจากไปแล้ว แต่สิ่งที่ "อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก" ฝากไว้ให้ชนรุ่นหลังมีมากกว่าแค่หนังสือนวนิยายไซไฟ แต่เป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยจุดประกายความหวังของมวลมนุษย์ ให้เจิดจรัสอยู่ในจักรวาลได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ที่ส่วนหนึ่งมีกำเนิดมาจากจินตนาการของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็น "รัฐบุรุษแห่งนวนิยายวิทยาศาสตร์"

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.51 ที่ผ่านมา โลกต้องพบกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกหนึ่งครั้งกับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ "อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก" (Arthur C. Clarke) หรือ เซอร์อาร์เธอร์ ผู้ที่ถูกขนานนามว่า "รัฐบุรุษแห่งนวนิยายวิทยาศาสตร์" (the grand old man of science fiction) ที่สร้างสรรค์ผลงานนิยายไซไฟอันลือลั่นไว้มากมายคู่คี่มากับ "ไอแซค อาซิมอฟ" (Isaac Asimov) ที่บัดนี้ทั้งสองคนกลายเป็นตำนานแห่งยุคไปแล้ว

"พอทราบข่าวอาร์เธอร์เสียชีวิตก็รู้สึกใจหายมากเลย" ประโยคแรกที่ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์และแสดงความเสียใจต่อการจากไปของฮีโร่ในดวงใจ ทั้งยังเผยอีกว่าก่อนหน้าที่อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก จะเสียชีวิต ยังมีแฟนๆ โทรศัพท์เข้ามาถามถึงคลาร์กในระหว่างที่เขาจัดรายการวิทยุ "ชีวิตกับจักรวาล" แต่หลังจากนั้นเพียง 2 วัน คลาร์กก็จากไปเสียแล้ว

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ นักวิทยาศาสตร์ที่หันมาจับปากกาและใช้นามแฝงว่า "ชัยคุปต์" จนมีผลงานนิยายไซไฟมากมาย และเป็นแฟนตัวยงของเจ้าพ่อนิยายไซไฟแห่งยุค ทั้งคลาร์กและอาซิมอฟต่างก็เป็นฮีโร่ในดวงใจของ ดร.ชัยวัฒน์ ร่วมกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อีกคน

ดร.ชัยวัฒน์ เปิดเผยว่าหากได้พบบุคคลในดวงใจเหล่านี้ครบทุกคน ก็เพียงพอแล้วในชีวิตนี้ ซึ่งเขาก็ได้เคยพบปะพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับคลาร์กและอาซิมอฟมาแล้วทั้งสองคน ขาดก็แต่เพียงไอน์สไตน์เท่านั้นที่ไม่มีโอกาส

"ตอนนั้นราวเดือน ก.พ. 2523 มีโอกาสไปสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์และนิยายไซไฟที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งอาร์เธอร์ก็ไปร่วมงานด้วย แต่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว ว่าจะพบปะพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวหลังจากเสร็จงาน และพองานเลิกก็เดินคุยกับอาร์เธอร์ไปตลอดทางตั้งแต่ห้องประชุมในสถาบันวิจัยและอบรมเกษตรกรรมของศรีลังกา เรื่อยไปจนถึงบ้านของอาร์เธอร์ ซึ่งก็ได้ความรู้ แนวคิด และแรงบันดาลใจอีกหลายอย่างเลยทีเดียว อีกทั้งเขายังมอบหนังสือของเขาให้ 2 เล่ม พร้อมลายเซ็นต์เป็นที่ระลึกอีกด้วย" ดร.ชัยวัฒน์เล่าถึงความหลังที่แสนสุขใจ

และจากการสนทนาในครั้งนั้น ดร.ชัยวัฒน์ ได้ถ่ายทอดสาระสำคัญออกมาเป็นบทความเรื่อง "2 ชั่วโมง 5 นาที กับ อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก" ตีพิมพ์ในนิตยสารมิติที่ 4 ฉบับที่ 7 พ.ค. 2523 รวมทั้งได้เล่าถึงประวัติชีวิตและผลงานของคลาร์กไว้ในหนังสือเรื่อง "วิทยาศาสตร์ในนิยายวิทยาศาสตร์" โดยสำนักพิมพ์ต้นหมาก ในปี 2524

"ในตอนนั้นอาร์เธอร์กำลังอยู่ในช่วงประท้วงสหรัฐฯ อยู่ด้วย เรื่องที่สหรัฐฯ เร่งรัดส่งคนไปดวงจันทร์เพียงเพื่อที่จะเอาชนะรัสเซียเท่านั้น ไม่ได้คิดที่จะใช้โอกาสครั้งนั้นให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างเต็มที่ พอไปถึงแล้วก็แล้วกันไป เมื่อกลับมาก็ไม่ได้สานต่ออะไรอีกเลย ทำให้ปัจจุบันต้องมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ อาร์เธอร์ก็เลยหยุดเขียนหนังสือเพื่อเป็นการประท้วง แต่ในที่สุดระยะหลังก็กลับมาจับปากกาอีกครั้งหนึ่ง อาจจะหายเคืองสหรัฐฯ แล้วก็เป็นได้" ดร.ชัยวัฒน์เล่าอย่างอารมณ์ดี

เจ้าของนามปากกา "ชัยคุปต์" บอกว่าช่วงที่เริ่มหันมาจับปากกาเขียนเรื่องไซไฟ ดร.ชัยวัฒน์ ก็เริ่มศึกษาจากผลงานของ 2 เจ้าพ่อไซไฟ ทั้งคลาร์กและอาซิมอฟ

"อาร์เธอร์เป็น 1 ในสุดยอดนักเขียนไซไฟแห่งยุคคู่กับไอแซคเมื่อสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ และยังเป็นเพื่อนรักกันด้วย ไอแซคเป็นคนอารมณ์ดี หัวเราะง่าย งานเขียนของเขาก็ค่อนข้างอ่านง่าย ไม่ซับซ้อน"

"ส่วนอาร์เธอร์นั้นค่อนข้างจะจริงจังกับชีวิต ผลงานที่ออกมาก็จะมีความซับซ้อนมากกว่า และใช้ภาษาเขียนที่งดงาม แต่ในแง่ของความลึกซึ้งทางความคิดและวิทยาศาสตร์นั้น ทั้ง 2 คนนี้ไม่แตกต่างกันเลย
" ดร.ชัยวัฒน์เผย และจากประสบการณ์ที่คลาร์กเข้าไปเป็นนายทหารในกองทัพอากาศของอังกฤษ ที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบเรดาร์ทำให้ความคิดเกี่ยวกับการสื่อสารผ่านดาวเทียมได้โลดแล่นขึ้นในสมองของคลาร์ก

"อาร์เธอร์ได้เขียนออกมาเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับดาวเทียมเลยว่าเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าหากโลกเรามีดาวเทียมค้างฟ้า 3 ดวง โคจรอยู่รอบโลกเหนือเส้นศูนย์สูตร ก็ครอบคลุมการสื่อสารผ่านดาวเทียมไปได้ทั่วโลกแล้ว ซึ่งอาร์เธอร์บันทึกความคิดนี้ไว้นานหลายปีก่อนที่จะมีดาวเทียมสปุตนิกเกิดขึ้นจริงๆ" ดร.ชัยวัฒน์เล่า

แฟนพันธุ์แท้อาร์เธอร์ ซี คลาร์ก เล่าให้ฟังอีกว่า แนวคิด จินตนาการ และผลงานของคลาร์กนั้นเป็นต้นแบบให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศมากมาย ส่วนตัวของคลาร์กเองก็ช่วยผลักดันไม่น้อยเลย เพราะหลายๆ โครงการของนาซาจะสำเร็จได้ก็จำเป็นต้องสื่อสารกับมวลชนให้เข้าใจ ซึ่งความมีชื่อเสียงและการเป็นที่ยอมรับในคนหมู่มากของคลาร์กมีส่วนช่วยให้โครงการของนาซาลุล่วงไปได้ด้วยดี

"อาร์เธอร์เป็นนักเขียนแนวไซไฟคนหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก และเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการและอยากเชิญให้ขึ้นไปสัมผัสประสบการณ์อวกาศมากที่สุดคนหนึ่ง แต่เนื่องด้วยสุขภาพไม่เอื้ออำนวยพอที่จะขึ้นไปโคจรรอบโลกได้ อาร์เธอร์จึงปฏิเสธ และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาเลือกไปอยู่ศรีลังกา เพราะเขาไม่สามารถขึ้นไปสู่อวกาศได้ก็เลยมุ่งหน้าสู่ทะเลแทน และเลือกที่จะดำน้ำเพื่อเป็นการทดแทน" ดร.ชัยวัฒน์บอก

แม้สุขภาพจะไม่แข็งแรง จนระยะหลังคลาร์กต้องใช้ชีวิตอยู่เป็นรถเข็น แต่ความคิดของเขาก็ไม่เคยหยุดแล่น หลายสิ่งกลายเป็นจริงได้เพราะมีที่มาจากจินตนาการของคลาร์ก แต่ก็ยังมีผลผลิตทางความคิดของคลาร์กอีกมากมายที่อาจกลายเป็นจริงในวันข้างหน้า

"แน่นอนเลยว่าการสำรวจอวกาศจะต้องก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นเพราะอิทธิพลจากงานเขียนของอาร์เธอร์ และยังมีเรื่องของการส่งถ่ายสสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงทีเดียว คล้ายกับการหายตัวนั่นเอง ถ้าหากเป็นแต่ก่อนใครพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ก็เป็นเพียงแค่เรื่องในจินตนาการเท่านั้น แต่ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มทำได้บ้างแล้ว ทว่ายังเป็นเพียงสสารขนาดเล็กระดับอณูเท่านั้น" ดร.ชัยวัฒน์บอกถึงจินตนาการของคลาร์กที่อาจเป็นจริงได้ในอีกไม่นาน

ทั้งนี้ ดร.ชัยวัฒน์ เป็นบุคคลหนึ่งที่ติดตามชีวิตและผลงานของคลาร์กมากที่สุดจนอาจเรียกได้ว่าเป็นกูรูอาร์เธอร์ ซี คลาร์ก เลยก็ว่าได้ และ "ชัยคุปต์" ยังเคยนำ ผลงานเรื่อง "เอิร์ธไลต์" (Earthlight) ของคลาร์กมาแปลเป็นฉบับภาษาไทยในชื่อว่า "แสงโลก" ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2527 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์โลกที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่บนดวงดาวต่างๆ ในจักรวาล แต่ก็ไม่วายที่จะสร้างปัญหาและก่อความขัดแย้งขึ้นในเผ่าพันธุ์ของตนเองจนได้

"หนังสือของอาร์เธอร์เป็นจินตนาการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ทั้งผลงานและตัวของอาร์เธอร์เองสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคนได้ ทั้งยังแสดงออกถึงกระบวนการคิดที่มองไปไกลถึงอนาคตข้างหน้า และแสดงถึงความกล้าที่จะคิดนอกกรอบ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงบนโลกนี้เท่านั้น เห็นได้จากเรื่องของดาวเทียมค้างฟ้า และทุกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจักรวาลและอวกาศ นับเป็นบุคคลที่สร้างสรรค์สิ่งดีงามและเป็นประโยชน์ฝากเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง" ดร.ชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย.



กำลังโหลดความคิดเห็น