xs
xsm
sm
md
lg

ค่านิยม“เมียฝรั่ง”ทำเศรษฐกิจอีสานเฟื่อง เงินสะพัดเฉียด 9 พันล.-โคราชยอดนิยม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น – ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มข.เผยค่านิยม “เมียฝรั่ง”ในภาคอีสานส่งผลทำให้เศรษฐกิจภาคอีสานขยายตัวมากขึ้น เงินสะพัดเกือบ 9 พันล้านบาท/ปี เฉพาะปี 46 หญิงอีสานมีผัวฝรั่งเฉียด 2 หมื่นคู่ สาวโคราชรั้งแชมป์ครองใจชายตาน้ำข้าว รองลงมาเป็นขอนแก่น-อุดรฯ

“ผลกระทบของคู่สมรสชาวต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจอีสาน”เป็นอีกหนึ่งในงานวิจัยของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่คณะวิจัยได้ศึกษาแล้วเสร็จ ปัจจุบันการสมรสข้ามวัฒนธรรมระหว่างผู้หญิงไทยและชายชาวต่างชาติถือได้ว่าเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะภาคอีสาน ค่านิยมดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านมิติทางวัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มข.มองว่า เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นไปอย่างมีทิศทางที่ยั่งยืน คณะวิจัยจึงได้ทำการวิจัย ถึงผลกระทบของคู่สมรสชาวต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจภาคอีสาน โดยคาดหวังให้ภาครัฐนำผลการวิจัยดังกล่าวมาวางพื้นฐานทางเศรษฐกิจในการส่งเสริม และสนับสนุนสาขาเศรษฐกิจด้านนั้นๆอย่างจริงจังในอนาคต

อาจารย์วิไลวรรณ มหาวีรวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มข. หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยเปิดเผยว่าจากการที่ผู้หญิงอีสานมีการสมรสกับชาวต่างชาติ ส่งผลทำให้การขยายตัวด้านเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคอีสานเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งสิ้นกว่า 8,666 ล้านบาท โดยเฉพาะในส่วนของการเพิ่มด้านการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนที่มีมูลค่าถึง 4,569 ล้านบาท สร้างรายได้และการจ้างงานให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งสิ้น 747,094 ล้านบาท

“จากข้อมูลเมื่อปี 2546 พบว่ามีคู่สมรสชาวต่างชาติในภาคอีสานสูงมากถึง 19,000 กว่าคู่ จังหวัดที่มีคู่สมรสชาวต่างชาติสูงสุดคือ นครราชสีมา รองลงมาคือขอนแก่นและอุดรธานี จะสังเกตเห็นว่าทั้ง 3 จังหวัดนี้ล้วนแต่เป็นจังหวัดที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆของภาค”อาจารย์วิไลวรรณ กล่าวและว่า

สำหรับฐานข้อมูลค่าใช้จ่ายของคู่สมรสชาวต่างชาติ ทีมงานผู้วิจัยได้มาจากการสำรวจของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานภาคอีสานในปี 2546 ซึ่งพบว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่างประเทศ ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าพาหนะเดินทางไปที่ต่างๆ ค่าของใช้ส่วนตัวและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ไม่ระบุ

ทั้งนี้พบว่าลักษณะการใช้จ่ายของคู่สมรสชาวต่างชาติ จะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก่อนที่จะแต่งงานกับชาวต่างชาติ ประกอบด้วย
1.หลังจากแต่งงานกับชาวต่างชาติแล้ว ผู้หญิงอีสานเหล่านี้จะโอนเงินกลับมาให้ครอบครัว เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง โดยการโอนเงินจะตกอยู่ประมาณเดือนละ 9,600 บาท

2.ในทุกๆรอบ 1 ปี สมาชิกทุกคนของคู่สมรสมักจะเดินทางกลับมาเยี่ยมพ่อแม่ และญาติพี่น้องในประเทศไทยเป็นประจำ โดยจะเดินทางกลับมาในช่วงเวลาที่ตรงกับฤดูหนาวในต่างประเทศ หรือเป็นช่วงเวลาที่สามีชาวต่างชาติได้หยุดพักประจำปี การเดินทางเข้ามาลักษณะดังกล่าวนี้ จะมีระยะเวลาพักอยู่ในประเทศไทยโดยเฉลี่ยประมาณ 1 เดือน

ในช่วงเวลาที่คู่สมรสได้พักอาศัยในประเทศไทย ได้มีการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภค บริโภคสินค้าและบริการต่างๆ ทั้งค่าอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า ของใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเช่นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ โทรทัศน์ ตู้เย็นฯลฯจะถูกซื้อหามาใช้มากขึ้น

3.การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมีจำนวนเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆโดยพบว่า คู่สมรสทุกคู่จะมีการเดินทางไปท่องเที่ยวพร้อมกับพ่อแม่และญาติฝ่ายหญิงแทนที่จะเลือกเที่ยวตามลำพัง

4.เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นโดยประมาณ เฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่เดือนละประมาณ 126,000 บาท/ครอบครัว ซึ่งจากการสำรวจพบว่าครอบครัวที่มีการใช้จ่ายสูงสุดถึงเดือนละ 1,000,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้าน เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับมาตั้งถิ่นฐานยังท้องถิ่นเดิมในอนาคต ทั้งนี้ลักษณะบ้านที่สร้างใหม่นั้นจะมีความแข็งแรงคงทนและทันสมัยมากขึ้น

เช่น ครอบครัวของนางสำเนียง ชาวบ้านหนองใหญ่ หมู่ 10 ต.เขาสวนกวาง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น หลังจากแต่งงานกับสามีชาวสวิตเซอร์แลนด์ได้ 2 ปี สามารถกลับมาสร้างบ้านเป็นบ้านปูนชั้นเดียวให้แก่ครอบครัวได้ หลังจากซื้อบ้านจัดสรรในตัวเมืองขอนแก่นให้แก่ตนเองแล้ว และหลังจากนั้นอีก 1 ปีให้หลังเธอได้ส่งเงินมาให้พ่อสร้างบ้านใหม่ 2 ชั้นเพิ่ม ส่วนบ้านชั้นเดียวหลังเดิมยกให้น้องชายไป

อย่างไรก็ตาม อาจารย์วิไลวรรณระบุว่า จากการศึกษาและผลการวิเคราะห์ที่ได้ ชี้ให้เห็นว่า นักธุรกิจและภาคเอกชนควรจะมีการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อสามารถสร้างธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่จะรองรับ และตอบสนองความต้องการของประชากรกลุ่มนี้ได้เพิ่มขึ้นในอนาคต และในส่วนภาครัฐเองสามารถให้การสนับสนุน และส่งเสริมในสาขาเศรษฐกิจได้ถูกต้อง

ในท้ายที่สุดเมื่อเกิดการขยายตัวของทุกสาขาเศรษฐกิจร่วมกัน จะเป็นผลช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถพัฒนาไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชากรในภูมิภาคอีสานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น